กต.แจงเร่งนำ 80 นศ.ไทยในอียิปต์กลับไทย ขณะที่ “ปู” ยกเคสทาจิกิสถานนิรโทษฯ 4 หมื่นคนเปรียบไทย ชู ปธน.ปากีฯ โดนโค่นอำนาจแต่ไม่ค้านแหลก แขวะหวังเห็นไทยเป็นอย่างนั้น สั่ง ธ.ก.ส.ช่วยค่าปุ๋ยชาวสวนยาง หวั่นถูกโยงการเมือง ค้านขึ้นมิเตอร์แท็กซี่หวั่นกระทบค่าครองชีพ เห็นชอบตั้ง “สถาบันความปลอดภัยแรงงาน” มอบกฤษฎีกาฯตรวจ พ.ร.ฎ.พร้อมสรุป 108 เวทีทางออกประเทศ ได้ 10 ประเด็นปัญหา เล็งพิมพ์ 5 หมื่นเล่มแจกทุกภาคส่วน ขยายเวลาลดภาษีดีเซลอีก 1 เดือน ไปสิ้นสุดเดือน ก.ย.56
วันนี้ (27 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะนำนักเรียนที่เหลือที่ยังอยู่ประเทศอียิปต์ จำนวน 80 คน กลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินพาณิชย์ ขณะที่นักเรียนไทยส่วนใหญ่ที่เดินทางกลับมาแล้วได้แสดงความจำนงว่า หากสถานการณ์ในประเทศอียิปต์สงบเรียบร้อยแล้ว จะขอเดินทางกลับไปศึกษาต่อในประเทศอียิปต์
นายธีรัตถ์ กล่าวอีกว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สรุปผลการเยือนสาธารณรัฐทาจิกิสถาน และสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานอย่างเป็นทางการว่า ในส่วนของสาธารณรัฐทาจิกิสถานเคยประสบปัญหาความขัดแย้งในประเทศ มีการนิรโทษกรรมจากเหตุการณ์การเมืองถึง 4 หมื่นคน โดยมีเงื่อนไขว่าคนที่ได้รับนิรโทษกรรมไปแล้วจะไม่มีการนิรโทษกรรมให้อีก หากไปก่อเหตุทางการเมืองก็จะถูกจับกุมดำเนินคดี ขณะที่การพบปะกับนายมูฮัมหมัด นาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ซึ่งเคยถูกรัฐประหาร และกลับเข้ามาเป็นฝ่ายค้านอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะมาเป็นนายกฯ ถึงแม้ช่วงที่เป็นฝ่ายค้านก็ไม่ใช่ว่าจะค้านไปทุกเรื่องกฎหมายที่ทำให้ประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่น่าปรับใช้กับประเทศไทยได้
นายธีรัตถ์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดเวทีปฏิรูปประเทศ และข้อเสนอของคณะกรรมการชุดต่างๆก่อนหน้านี้ นายกฯเห็นว่ามีความคิดเห็นที่หลากหลาย จึงอยากให้ทำการศึกษา ข้อเสนอที่เหมือนกันให้เดินหน้าทำทันที ส่วนที่มีความเห็นต่างให้นำไปพูดคุยเวทีปฏิรูปประเทศกันต่อไป ที่ถือเป็นการแก้ปัญหาที่แตกต่างจากสภาฯ เพราะสภาฯว่าแต่การออกกฎหมาย แต่เวทีปฏิรูปจะเป็นการพูดถึงปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องจากเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในกรอบที่กว้างกว่า เมื่อมีการตกผลึกแล้วจะนำเข้าสู่สภาฯต่อไป
ส่วนปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนปาล์ม ที่ชุมนุมที่ จ.นครศรีธรรมราช นั้น นายธีรัตถ์ เปิดเผยว่า นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงที่ประชุมว่า ปัญหาราคายางตกต่ำเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความต้องการในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง การสั่งซื้อจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยก็ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้การกำหนดราคายางไมได้ถูกกำหนดโดยประเทศไทย หรือแม้แต่อินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ราคายางถูกกำหนดโดยตลาดราคายาง SICOM ของสิงคโปร์และตลาดราคายาง TOCOM ของญี่ปุ่น ส่วนการแก้ไขปัญหาเสนอให้เงินกับเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกยางต่ำกว่า 10 ไร่ จำนวน 790,000 ราย เพื่อลดต้นทุนในการจัดซื้อปุ๋ย โค่นต้นยางที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป เพราะต้นยางที่แก่จะได้ผลผลิตที่ต่ำ และหันมาปลูกปาล์มน้ำทดแทน ทั้งนี้ปัญหาที่พบคือเกษตรกรบางกลุ่มปลูกยางในพื้นที่เป็นเอกสารสิทธิ แต่เกษตรกรบางกลุ่มปลูกในพื้นที่เป็นป่า ซึ่งนายกฯได้ย้ำช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่มีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องก่อน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นตัวกลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้นโยบายแก้ไขปัญหาว่า หากเป็นความเดือดร้อนชาวสวนยางจริงๆ มีทางแก้ไข แต่อยากให้ต้องตัดไฟแต่ต้นลม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดประสานกระทรวงต่างๆ อย่างใกล้ชิดเวลามีปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้มาประท้วงใหญ่โต แล้วมีการฉวยโอกาสให้เป็นประเด็นการเมือง ไม่ต้องรอให้เรื่องบานปลาย ให้แก้ปัญหาล่วงหน้า
นายธีรัตถ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่ที่ต้องการให้รัฐบาลปรับอัตราเรียกเก็บค่าโดยสาร เริ่มแรกจาก 35 บาท เป็นเพดานขั้นต่ำไม่เกิน 50 บาท ในระยะทางไม่เกิน 2 กิโลเมตรแรก เนื่องจากจะได้รับผลกระทบที่ ครม.มีมติปรับขึ้นราคาค่าแก๊สแอลพีจี เดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 12 เดือน เริ่มวันที่ 1 ก.ย.56 นั้น นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า ได้รับทราบข้อเรียกร้องและจะนำไปหารือกับกระทรวงคมนาคม โดยเบื้องต้นจากการพูดคุยกับแกนนำแท็กซี่เข้าใจสภาพการปรับขึ้น แต่ขอให้ช่วยปรับขึ้นราคาค่ามิเตอร์ และรับปากจะไม่มีการนำกลุ่มแท็กซี่มาชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ครม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงความไม่เห็นด้วยกับการค่าขึ้นมิเตอร์ เนื่องจากกลัวว่าจะกระทบค่าครองชีพประชาชน แต่ให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคมไปดูมาตรการอื่นๆ ในการลดค่าใช้จ่ายแท็กซี่แทน
นอกจากนี้ นายธีรัตถ์ ได้แถลงมติ ครม.ที่เห็นชอบขยายระยะเวลาการปฏิบัติการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2548 ให้มีโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เริ่มตั้งแต่ปี 48-56 จำนวน 389 คนต่อปี ร่วมทั้งสิ้น 3232 ทุน งบประมาณ 3,521 ล้านบาท แต่จนถึงปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการเพียง 1,350 คน จึงขอขยายเวลาโครงการไปถึงปี 2560
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ.... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบต่อไป โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าว เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงให้ทุนในการดำเนินการซึ่งเป็นทุนประเดิมและอุดหนุนตามความเหมาะสม
ร.ท.หญิง สุณิสา อธิบายต่อว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีการเสนอขอเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติ ให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อพัฒนาและจัดตั้งองค์กรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของผู้ใช้แรงงาน และในปีที่ผ่านมาก็มีการขอให้รัฐบาล เร่งตรา พ.ร.ฎ.และสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ รัฐบาลจึงดำเนินการ และการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนนั้น จะมีความคล่องตัวกว่าจัดทำเป็นหน่วยงานราชการ สามารถตอบสนองความต้องการด้านเทคนิควิชาการขั้นสูงได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการประสบอันตรายจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน และพบว่าตั้งแต่ปี 45-55 มีการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นอยากอุบัติเหตุ และโรคจากการทำงานของประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท
ร.ท.หญิง สุณิสา ยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินการเวที “พูดจาหาทางออกประเทศไทย 108 เวที” ที่ คณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินการข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ได้รายงานผลต่อที่ประชุม ครม.ว่า ตามที่ได้มีการดำเนินการระหว่างวันที่ 10 มิ.ย. -28 ก.ค.ที่ผ่านมา และมีผู้เข้าร่วมเวทีพูดคุยทั่วประเทศ จำนวน 101,683 คน โดยมีข้อสรุปดังนี้ คือ ประเทศไทยมีปัญหาระยะยาว ปัญหาเฉพาะหน้า และปัญหาที่เป็นตัวถ่วงของสังคมไทย รวม 10 ประเด็น คือ 1.คนไทยเข้าใจประชาธิปไตยแตกต่างกัน 2.มีความเคลือบแคลงหลักในนิติธรรม หรือ rule of law ของประเทศ 3.ตุลาการภิวัฒน์แทรกแซงองค์กรอิสระ 4.การรัฐประหารและบทบาทของทหารในการจัดการความขัดแย้ง 5.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 6.การขยายตัวของสื่อการเมืองและสื่อบุคคล 7.การกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง 8.สังคมขาดองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความขัดแย้งและสันติวิธี 9.ความขัดแย้งทางการเมืองมีเดิมพันสูงและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และ 10.การทุจริตคอร์รัปชัน
ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวต่อว่า รายงานดังกล่าวยังเสนอแนวทางแก้ปัญหา เช่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้กำลังในการตัดสินปัญหา งดการชุมนุม หยุดการเคลื่อนไหวปลุกระดมทางการเมือง ส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีของคนในชาติ นักการเมืองควรเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางออก จัดเวทีหรือช่องทางให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น แก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เป็นต้น
“หลังจากนี้ จะมีการนำผลการศึกษาของ ปคอป.เสนอเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการอภิปรายบนเวทีปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล และจะมีการตีพิมพ์รายงานดังกล่าว 50,000 เล่ม แจกจ่ายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ส.ส. ส.ว. องค์กรอิสระ ตุลาการ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชนทุกแขนงต่อไป” ร.ท.หญิง สุณิสา ระบุ
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้อนุมัติเงินงบกลางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2555-2556 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ภัยแล้ง ภัยฝนทิ้งช่วง วาตภัย โรคพืชระบาด ศัตรูพืชระบาด และภัยอื่นๆ โดยช่วงประสบภัยระหว่างเดือน ก.พ.2555 ถึง เดือน มี.ค.2556 รวม 42 จังหวัด เกษตรกร 692,317 ราย วงเงินขอรับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 6,092,878,967 บาท
นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมติขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.56 ทั้งนี้ การปรับลดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลจากเดิมที่มีการจัดเก็บในอัตรา 5.31 บาท/ลิตร ลงมาเหลือ 0.005 บาท/ลิตร เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.54 เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่สูงเกิน 30 บาท/ลิตร