xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.สรรหาติงแก้ที่มา ส.ว.เปิดทางสุมหัวงาบ ทำลายระบบตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
“ตรึงใจ” ฉะแก้ รธน.เลือกตั้ง ส.ว.ถอยหลังเข้าคลอง ยันคนไทยถูก ร.ร.นปช.-หมู่บ้านเสื้อแดงชี้นำ ปชต.รูปแบบตนเอง ชี้ รบ.จ่อดันแก้อีกสองร่างทำประเทศร้าวฉาน ด้าน “ส.ว.มณเทียร” เสนอเลือกตั้ง ส.ว.ปาร์ตี้ลิสต์ ปลดล็อกวาระกันสถาปนาระบบความคุ้นเคย ตัวขวาง ปชต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 ส.ค. นางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ถ้าจะให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะยอมลดจำนวน ส.ส.ลงหรือไม่ การให้มี ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการถอยหลังกลับไปสู่อดีต เราถูกเรียกว่าเป็นสภาอย่างไร คงหนีไม่พ้นสมญานามนั้นอย่างแน่นอน เป็นที่รู้กันว่า ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ถ้าไม่มีหลากหลายอาชีพ และผู้ที่เชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ กฎหมายที่ออกมาก็จะไม่สมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการจำกัดคนพิการอีกด้วย ไม่ควรฟื้นสภาทาส สภาผัวเมีย ที่อ้างว่าคนสมัยนี้ตื่นตัวนั้นไม่เป็นความจริง

“ทุกวันนี้มีคนถูกชี้นำโดยโรงเรียน นปช.ตลอดเวลา โดยชี้นำระบอบประชาธิปไตยตามรูปแบบตนเอง แถมยังมีหมู่บ้านเสื้อแดงอีก การจะมีประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบได้ต้องรอเวลา รอให้มีประชาชนมีความรู้อย่างทั่วถึง การเลือกตั้งอย่างเดียวยังไม่เหมาะสมกับสังคมไทย ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองเราเริ่มรุนแรงมากขึ้นเพราะความต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ร่างแก้ไขเรื่องที่มา ส.ว.ฉบับนี้ยังไม่รุนแรงมาก แต่ยังมีอีกสองร่าง ที่จะเสนอเข้าสภาเพื่อประโยชน์นักการเมืองและบุคคลบางส่วน จะสร้างความแยกร้าวฉานให้คนในประเทศ” นางตรึงใจกล่าว

ด้านนายมณเทียร บุญตัน ส.ว.สรรหา เสนอให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน เพราะระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะมีความซับซ้อนมาก จึงจำเป็นต้องมีประชาธิปไตย และธรรมาภิบาลด้วย การที่กรรมาธิการชี้แจงว่าจำเป็นต้องให้มาจากการเลือกตั้งเพื่อยึดโยงกับประชาชน จึงต้องให้การเลือกตั้งส.ว. เช่นเดียวกับ ส.ส. ตรงนี้จะเป็นปัญหา เพราะให้น้ำหนักยึดโยงประชาชนโดยอาศัยภูมิศาสตร์ มากำหนดเขตพื้นที่เลือกตั้ง มีการพิสูจน์ว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดประชาธิปัตย์แบบมีส่วนร่วม เพราะประชาชนไม่ได้ประกอบกันขึ้นโดยอาศัยพื้นที่เป็นหลัก แต่คำนึงถึงกลุ่ม ต่างๆ จึงจำเป็นต้องยึดโยงทั้งเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น

นายมณเทียรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการกำหนดที่มาสส.สองประเภท ดูเหมือนกรรมาธิการจะมองว่า การเลือกตั้งแบบเดียวกับ ส.ส.จะเป็นคำตอบของประชาธิปไตย ซึ่งตนไม่เห็นด้วย การ ให้มี ส.ว.150 คน น่าจะเหมาสมกับสภาพปัจจุบัน สัดส่วนไม่มากน้อยเกินไปกับสส. และไม่เป็นการเพิ่มภาระงบแผ่นดิน ส่วนวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.เดิมทีตนคัดค้านตั้งแต่ขั้นรับหลักการว่าไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่เพราะกลัวเสียผลประโยชน์ เพราะการแก้ไขครั้งนี้ไม่มีผลต่อตนเอง แต่จะกระทบไปถึงกลุ่มประชาชนที่มีโอกาสได้เสนอรายชื่อคนเข้ามาในกระบวนการสรรหา ดังนั้นจึงเสนอว่าควรให้มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดวิธีการ เช่น เสนอชื่อมาตามสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติ จัดเรียงตามบัญชี ถ้าเห็นว่าภาคอื่นควรมีความกว้างขวางก็เพิ่มจำนวนเข้าไป ส่วนที่เหลือก็ลดลงเพื่อให้กระจายออกไป ทำบัญชีแยกสาขาอาชีพต่างๆ โดยแต่ละสาขาส่งรายชื่อมาให้กกต.ทำการจัดแยกออกเป็นกลุ่มๆ จากนั้นให้ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้ง โดยนับคะแนนจากคนที่ได้มากที่สุดจนครบจำนวน วิธีการจะคล้ายการสรรหาในปัจจุบัน โดยอาศัยประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง จะได้เข้ากับความเห็นของกรรมาธิการที่ให้ยึดโยงกับประชาชน แต่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงพื้นที่เพราะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนในพื้นที่เพราะมี ส.ส.แล้ว การทำหน้าที่ต่างกันการออกแบบที่มาวิธีเลือกตั้งก็ควรจะต่างกันด้วย แต่ควรยึดโยงกับภารกิจไม่ว่าจะกลั่นยกรองกฎหมาย การแต่งตั้ง ถอดถอนบุคคลต่างๆ

“ที่ผ่านมาฐานที่มาของ ส.ว.ไม่ได้เป็นปัญหา แม้หลายคนสงสัยองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา แต่เราแก้ไขได้ เพราะยังจำต้องมีการแบ่งแยกฝ่ายบริหาร กับฝ่ายตรวจสอบได้ชัดเจน อย่าให้สองฝ่ายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เช่นนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ประชาธิปไตยแบบธรรมาภิบาลได้ การแก้ให้กลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งสะท้อนเฉพาะพื้นที่ ส่วนการปลดล็อก ส.ว.จากการเลือกตั้ง เราไม่ต้องการให้ ส.ว.มีความอันหนึ่งอันเดียวกับ ส.ส. เพราะจะเกิดความความคุ้นเคย ถ้าอยู่นานติดต่อแบบไม่มีวันจบสิ้นจะเกิดการสถาปนาฝ่ายตรวจสอบที่เป็นอันเดียวกันกับฝ่ายบริหาร ดังนั้น ควรจะมีการเว้นวรรคเพื่อไม่ให้เกิดการต่อสายเชื่อมโยงกับฝ่ายบริหาร ถือเป็นอันตรายต่อระบบเกรงใจ ระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือญาติ ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล”


กำลังโหลดความคิดเห็น