ฝ่ายค้านอภิปรายค้านที่มา ส.ว.จากการเลือกตั้ง 200 คน ชี้สนองตอบการเมือง เปิดช่องครอบงำสภาสูง เหตุสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนักการเมือง ใช้อิทธิพลท้องถิ่น-ระดับชาติช่วย หวั่นได้คนด้อยคุณภาพ ถามกลับตัวเลขกลมๆ 200 คนมาจากไหน ส.ส.ภูมิใจไทย แนะเลือกตั้งทางตรง-ทางอ้อม
วันนี้ (21 ส.ค.) ที่รัฐสภา ในการพิจารณามาตรา 3 เกี่ยวกับการบัญญัติให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน การเลือกตั้ง ส.ว.ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ว.มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 คน ในกรณีที่จังหวัดมี ส.ว.ได้มากกว่า 1 คน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ว.ที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น
นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ส.ว. บางส่วนเอาความเป็นอิสระสนองตอบการเมือง เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ยิ่งเพิ่มความกังวลให้ประชาชนทวีคูณ เพราะจะเป็นช่องทางให้กลไกผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ครอบงำสถาบันวุฒิสภาได้ง่ายขึ้น ตนจึงขอแปรญัตติเห็นควรให้มี ส.ว.154 คน โดยตัดมาตรา 112 ที่คำนวณเกณฑ์ ส.ว.แต่ละจังหวัดที่พึงมี
นอกจากนี้ มีงานวิจัยว่าปัญหาเลือกตั้ง ส.ว.มีข้อเสียที่น่ากังวลใจหลายประเด็น โดยมีโอกาสที่ ส.ว.ได้รับเลือกตั้งอาจกระจุกตัวในบางมิติ เช่น สาขาอาชีพ วุฒิการศึกษา และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนักการเมือง โดย ส.ว.ได้รับเงินทุนจากนักการเมืองและฐานจากพรรคการเมือง เพราะมีผู้อยากได้เป็น ส.ว.จึงจำเป็นต้องใช้อิทธิพลทางการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติมาช่วย ทำให้ ส.ว.เป็นพวกเดียวกับพรรคการเมือง
นายสุรเชษฐ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หากเราได้สภาสูงที่คุณภาพด้อยกว่าสภาล่าง การกลั่นกรองกฎหมายจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ตนไม่ทราบว่ากรรมาธิการทำตามใบสั่งหรือคิดด้วยเหตุผล ไม่เชื่อว่าทำด้วยความคิดที่อิสระแล้วออกมาแบบนี้ มั่นใจว่าต้องมีใบสั่งแน่นอน อยากทราบว่าใบสั่งอย่างนี้เป็นใคร อยู่ๆ ก็แก้ที่มา ส.ว.อย่างรีบเร่ง รวบรัด ต้องผ่านเร็วๆ ให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ
“จำนวนตัวเลข 200 คนเอามาจากไหน คิดได้อย่างไร ควรให้มีการคัดเลือกในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน เพราะถ้าเลือกมาแล้วทำอะไรไม่เป็น คิดอะไรไม่ออก จะมีไว้ทำไม หรือจะยอมเป็นขี้ข้า ยอมรับใช้การเมือง ถึงไม่เกิดความปรองดอง อย่าว่าแต่ใน กทม.แม้แต่ใน ส.ว.ด้วยกันเองก็ยังไม่ปรองดองกันเลย เสียดายภาพลักษณ์ของประเทศ” นายสุรเชษฐ กล่าว
ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ขอให้มี ส.ว.เลือกตั้ง จังหวัดละ 2 คน ให้ 1 คนเลือกตั้งทางตรง และอีก 1 คนเลือกตั้งทางอ้อม และเสนอมาตรา 112 ให้มีกรรมการสรรหา ส.ว.ทางอ้อม จากบุคคลทั้งหลายที่สมัครในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ห่วงฝ่ายการเมืองแทรกแซง ส.ว.เมื่อสภาล่างเทกโอเวอร์ทำงานร่วมกับ ส.ว.แบ่งปันผลประโยชน์จะทำให้เป็นวิกฤตของประเทศได้
ด้านนายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง สส. ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นอภิปราย ระบุว่าตนไม่เห็นด้วยกับการได้มาของ สว. 200 คนที่มาจากการเลือกเช่นเดียวกับ สส. ซึ่งตนไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่อยากให้ได้มาของ สว. ต้องกระจายสัดส่วนกลุ่มสาขาวิชาชีพมากกว่า เพราะหากยกเลิกรูปแบบการสรรหาและให้คงไว้เฉพาะการเลือกตั้งนั้น อาจเป็นการทำให้สมาชิกวุฒิสภามีการใช้อำนาจที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรอิสระ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล
นอกจากนี้ พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ สว.สรรหา ได้ขึ้นอภิปรายในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย โดยตั้งคำถามไป คณะกรรมาธิการว่า การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา มีจำนวน 200คนนั้น ใช้เกณฑ์มาตราฐานอย่างไร เนื่องจาก ใน รัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2540 นั้น ใช้เกณฑ์การประเมินจากจำนวนประชากรของประเทศ จึงเรียกร้องให้มีการกำหนด จำนวน สมาชิกวุฒิสภาตามหลักวิชาการด้วย