xs
xsm
sm
md
lg

วิปค้านไม่สังฆกรรมแก้ที่มา ส.ว. ชี้รัฐบาลส่อกินรวบ เตรียมเปิดเผลงบ “ปู” บินนอก-ทุบม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน
วิปรัฐเคาะถกแก้ที่มา ส.ว. 2 วัน ร้องประธานฯ เข้มงวดข้อบังคับ เผยจ่อพิจารณางบประมาณ-กู้ 2 ล้านล้านต่อ ด้านวิปฝ่ายค้านมีมติไม่ร่วมสังฆกรรม หลังวาระ 1 ถูกเบรกไม่ให้อภิปรายต่อ ชี้พยายามรวบอำนาจศาล องค์กริอสระ เร่งรัดสอดรับ ส.ว.ชุดปัจจุบันหมดวาระปีหน้า ก่อนกินรวบรัฐสภา ส่วนพิจารณางบประมาณปี 57 ลั่นจะโวยเตะถ่วงไม่ได้ เพราะรักษาผลประโยชน์ประชาชน เตรียมขยายแผลงบนายกฯ บินเมืองนอก-ทุบม็อบต้านรัฐบาล-ขายฝันอาเซียนหมื่นล้าน



วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 20-21 ส.ค.นี้จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพียงฉบับเดียว ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จะมีการบรรจุภายหลัง อย่างไรก็ตาม ที่หลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขที่มาของ ส.ว. อาจขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญนั้น ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ได้พิจารณากันมาเรียบร้อยแล้ว จึงถือเป็นเรื่องของกรรมาธิการฯ ทั้ง 35 คน โดยจะมีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ 202 คน ซึ่งการพิจารณาเบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลาไว้สองวันก่อน หากยืดเยื้อค่อยมาพิจารณาอีกครั้ง แต่คิดว่าเนื้อหาสาระมีไม่มากเท่าไร เพราะได้มีการตัดในส่วนของผู้สงวนคำแปรญัตติที่ขัดหลักการไปแล้ว จึงเชื่อว่าการพิจารณาจะเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาฝ่ายค้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้งตนมองดูแล้วเรื่องดังกล่าวเกิดมานานแล้วจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งจากประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมวิปรัฐบาลยังได้มีการหารือกันถึงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา โดยประธานรัฐสภาจะต้องทำหน้าที่และใช้ข้อบังคับอย่างเข้มขวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระ 1 และ 2 ถือเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานรัฐสภาจะต้องยึดระเบียบการประชุมในวาระ 2 ต้องกำหนดข้อบังคับการประชุมให้ชัดเจน การประชุมรัฐสภาจึงจะเดินหน้าไปได้ ส่วนเรื่องการประท้วงที่รัฐสภา ตนจะไปประชุมร่วมกับวิปสามฝ่ายว่าจะกำหนดเวลาในการอภิปรายให้ชัดเจน

ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ที่ยังพิจารณาไม่เสร็จนั้น นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 จะมีการกำหนดอีกครั้งหนึ่งว่าจะพิจารณาอีกครั้งวันใด นอกจากนี้ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ก็ยังจะไม่มีการบรรจุ เพราะต้องรอให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.เสร็จสิ้นไปก่อน

อีกด้านหนึ่งที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันที่ไม่เข้าร่วมประชุมกับวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภาเพื่อพิจารณากรอบเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ ส.ว.วาระ 2 วันที่ 20 ส.ค. เนื่องจากการประชุมร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ที่ผ่านมา กล่าวคือ ในครั้งฝ่ายค้านได้เวลาอภิปราย 15 ชั่วโมง แต่ปรากฏว่าเมื่อฝ่ายค้านได้ใช้เวลาไป 10.30 ชั่วโมง กลับถูกไม่ให้อภิปรายต่อ ทำให้วิปฝ่ายค้านจึงไม่ขอร่วมประชุมกับวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภาในครั้งนี้

นายจุรินทร์กล่าวว่า เมื่อฝ่ายค้านไม่ร่วมประชุมกับวิป 3 ฝ่าย ดังนั้น ในการอภิปรายในวันที่ 20 ส.ค. ก็จะขอให้เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่จะควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ โดยที่ฝ่ายค้านจะขอให้ใช้สิทธิ์อภิปรายอย่างเต็มที่เพื่อยืนยันในหลักการว่าฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้มี ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เตรียมใช้สิทธิ์อภิปรายในฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขถ้อยคำในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 118 คน ทั้งนี้ ฝ่ายค้านยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ ส.ว. เพราะเป็นความพยายามรวบอำนาจศาล องค์กรอิสระ ซึ่งฝ่ายค้านมีข้อสังเกตว่าในเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องการเดินหน้าสภาปฎิรูปการเมือง แต่กลับเร่งให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งควรรอฟังความเห็นของสภาปฎิรูปการเมืองก่อน

“การบรรจุระเบียบวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความผิดปกติ เนื่องจากครั้งแรกประธานรัฐสภาได้บรรจุเฉพาะร่างแก้ไขที่มาของ ส.ว. ก่อนที่ต่อมาจะมีการบรรจุร่างแก้ไขมาตรา 68 และ 190 เพิ่มเติมเข้ามา ทำให้ฝ่ายค้านมีเป็นห่วงว่าจะเกิดการลักได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ก่อนร่างแก้ไขฉบับอื่นเพราะเป็นความต้องการให้สอดรับกับ ส.ว. เลือกตั้งชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 1 มี.ค. 2557 และจากนั้นได้เลือกตั้ง ส.ว.เข้ามาเพื่อเป็นการกินรวบรัฐสภา” นายจุรินทร์กล่าว

ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ในวาระที่ 2 ขณะนี้ยังไม่จบการพิจารณา เนื่องจากค้างการพิจารณาไว้ที่มาตรา 18 ซึ่งเป็นงบประมาณกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การประชุมสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาฝ่ายค้านไม่เคยมีข้อตกลงกับวิปรัฐบาลว่าจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 ส.ค.ก่อนเวลา 24.00 น. เพราะฝ่ายค้านต้องให้สิทธิ์ ส.ส.สามารถอภิปรายตรวจสอบงบประมาณได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น จะมาโทษฝ่ายค้านว่าทำการเตะถ่วงไม่ได้

“ในตอนนั้นประธานสภาฯ สามารถใช้อำนาจเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน ไม่ใช่มาตำหนิฝ่ายค้าน แต่ตรงข้ามต้องถือว่าฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ที่มาจากเงินภาษีประชาชน หากฝ่ายค้านไม่ทำหน้าที่ ก็จะหวังให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลตรวจสอบรัฐบาลเป็นเรื่องยาก เงินทั้งหมดเป็นเงินภาษีไม่ใช่เงินส่วนตัวรัฐบาล จึงต้องถูกตรวจสอบได้ ซึ่งเหตุผลที่รัฐบาลพยายามรวบรัดเพราะเป็นห่วงว่าจะถูกเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบประมาณ” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในส่วนที่เหลือนั้นฝ่ายค้านยืนยันที่จะต้องขอเอกสารการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการการเพิ่มเติมด้วยใน 3 กรณีสำคัญ ได้แก่ 1. การใช้งบประมาณสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 42 ครั้ง รวมเป็นเงินประมาณ 370 ล้านบาท ไปจนถึงการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้อีกในปีงบประมาณ 2557 ประมาณ 100 ล้านบาท 2. การใช้งบประมาณระหว่างการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 นับตั้งแต่การสลายการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามมาจนถึงช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และ 3.งบประมาณตามรายกระทรวงที่ใช้สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปรากฏว่าไม่ได้มีรายละเอียด นอกจากนี้จะต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐสภาด้วย

“จากการตรวจสอบของฝ่ายค้านจากพบว่า ในปีงบประมาณ 2556 มีงบประมาณที่ค้างการเบิกจ่ายมากถึง 1.7 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่กำลังจะสิ้นปีงบประมาณในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินขาดประสิทธิภาพ” นายจุรินทร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น