xs
xsm
sm
md
lg

“วราเทพ” ชี้ถกงบฯ ไม่เสร็จต้องเห็นชอบวาระ 1 อ้างงดถ่ายปาหี่เพื่ออิสระแสดงออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรฯ(แฟ้มภาพ)
“วราเทพ” อ้าง กม.รัฐธรรมนูญ ม.168 หากสภาฯ ถก พ.ร.บ.งบฯ ไม่เสร็จตามกำหนด ถือว่าเห็นชอบตามวาระ 1 เตือนฝ่ายค้าน กมธ.แปรญัตติมาไร้ผล ยื้อเวลาไม่ส่งผลดี พร้อมรอฟังผลหากถูกยื่นศาล รธน.ปมแก้ที่มา ส.ว. ชี้ พธม.-40 ส.ว.-ปชป. ปัดร่วมปาหี่ นอกนั้นแจมหมด รับคน รบ.สายตรงเชิญแต่ไม่ใช่ตน ยังไม่วางแผนถกรอบหน้าขอดูบรรยากาศ อ้างไม่ถ่ายสดเหตุ “พงศ์เทพ” ไม่ได้ระบุให้ผู้เข้าร่วมทราบ กลัวแสดงออกไม่เต็มที่



วันนี้ (22 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณราย จ่ายประจำปี 2557 ว่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 168 กำหนดไว้ว่าหากสภาฯพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดจะถือว่าสภาฯ ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตามที่เสนอในวาระที่ 1 ฉะนั้น การพิจารณาของสภาฯที่ค้างอยู่หวังว่าฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือให้แล้วเสร็จทันภายในวันที่ 26 ส.ค. โดยมาตราที่เหลืออยู่หากดูด้วยเหตุผลน่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันที่ 23 ส.ค. วันเดียว เพราะที่ผ่านมามีการใช้เวลาไปมากพอสมควรแล้ว 3 วัน ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการพิจารณายาวนานขนาดนี้ ซึ่งหากในวันที่ 23 ส.ค.พิจารณาแล้วเสร็จจะเป็นไปตามขั้นตอนสามารถส่งวุฒิสภาได้ รวมทั้งเป็นไปตามร่างที่กรรมาธิการฯ ได้มีการแก้ไข แต่หากไม่แล้วเสร็จจะขึ้นอยู่กับสภาว่าจะประชุมต่อจนถึงวันที่ 26 ส.ค.หรือไม่ และหากก่อนเที่ยงคืนวันที่ 26 ส.ค.ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จต้องถือว่าสภาไม่สามารถพิจารณาได้ทันตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด จึงให้กลับไปใช้ร่าง พ.ร.บ.เดิมในวาระที่ 1 แล้วส่งไปให้วุฒิสภา โดยไม่สามารถปรับแก้ไขได้

“หากต้องกลับไปใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในวาระที่ 1 เท่ากับว่าการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการไม่ได้เกิดผลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น ซึ่งคิดว่าฝ่ายค้านน่าจะให้ความร่วมมือในการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณตามที่ได้มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการมา เพราะตัวแทนฝ่ายค้านก็อยู่ในกรรมาธิการที่มีการปรับลดบางส่วนที่คิดว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง” นายวราเทพกล่าว

นายวราเทพกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการประสานงานระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลนอกเหนือจากการประสานผ่านทางคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ทางรัฐบาลก็พยายามพูดคุยกับฝ่ายค้านเรื่องระยะเวลา แต่หลังจากการพูดคุยผลก็ไม่เกิด พอมีการเปิดอภิปรายไปกลับไม่ได้เป็นไปตามที่หารือกัน ทั้งนี้ ตนคิดว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นหากเป็นเรื่องงบประมาณ เพราะเป็นกฎหมายที่จำเป็นที่ต้องนำมาใช้เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น การจะดึงเวลาอย่างไรก็ตามจะไม่เกิดผลดีกับใครทั้งสิ้น เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญมีมาตั้งแต่อดีตและให้การคุ้มครอง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี

นายวราเทพกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ที่อาจมีการถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน หากจะมีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญคงไม่สามารถไปดำเนินการอะไรได้ คงต้องรอจนกว่าศาลจะวินิจฉัย ซึ่งต้องรอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ส่วนการประชุมเวทีปฏิรูปหาทางออกประเทศไทยในวันที่ 25 ส.ค.นี้ นายวราเทพกล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอคำตอบจากผู้ที่ได้มีการประสานงานไป ซึ่งผู้ที่ให้คำตอบมาแล้วยังยืนยันเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนผู้ที่รัฐบาลส่งหนังสือเชิญมีที่ตอบปฏิเสธชัดเจนคือ กลุ่ม 40 ส.ว. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์ ด้านกลุ่มอื่นๆ เชื่อว่าจะตอบรับทั้งหมด อาจจะมีติดภารกิจล่วงหน้าไว้ก่อนบ้างแต่ไม่มากนัก คาดว่าที่มีการเชิญทั้งหมด 70 รายชื่อ จะมาเข้าร่วมเกินกว่าครึ่งหนึ่งแน่นอน อย่างไรก็ตาม เรายืนยันว่าจะเชิญทุกฝ่าย หากยังไม่พร้อมที่จะมาในขณะนี้ แต่หลังจากมีการหารือในรอบแรกและข้อสรุปของที่ประชุมมีความชัดเจนคนที่ ปฏิเสธไว้ก่อนอาจจะตัดสินภายหลังก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับการประชุมในวันที่ 25 ส.ค.จะใช้เวลาเท่าไรขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่ได้มีการกำหนดไว้ทั้งช่วงเช้าและบ่าย ส่วนการประชุมครั้งต่อไปยังไม่ได้กำหนด เพราะจะดูบรรยากาศและแนวทางการเสนอความคิดเห็นของที่ประชุมก่อน

“แม้จะมีการปฏิเสธ แต่เราก็ต้องเชิญให้ครบ เนื่องจากเราเปิดกว้างทุกกลุ่ม ส่วนที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ระบุว่ามีคนจากรัฐบาลโทรศัพท์ไปประสานงานด้วยตัวเองนั้น ยอมรับว่ามีคนประสานไปจริง แต่ไม่ใช่ผม” นายวราเทพกล่าว

ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงไม่มีการถ่ายทอดสดและไม่เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมฟังการประชุมนั้น นายวราเทพกล่าวว่า เรื่องการถ่ายทอดสดไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นข้อมูลทั้งหมด แต่การประชุมใดๆ ก็ตามมี 2 แนวทาง คือ 1. เปิดให้มีการถ่ายทอดตลอดเวลา และ 2. ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปสังเกตการณ์บันทึกภาพและออกมาจนกว่าที่ประชุมจะได้ข้อสรุปแล้วมีการแถลงเพื่อให้ทราบผล เรื่องนี้เข้าใจว่านายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการพิจารณาว่าผู้ที่มีการเชิญไปเราไม่ได้ไปบอกว่าจะมีการถ่ายทอดสด ฉะนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมก็อาจจะอยากมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีแรงกดดันใดๆ ว่าหากมีการถ่ายทอดแล้วอาจจะไปพาดพิงจนเกิดความเข้าใจผิดอะไรทั้งสิ้น เบื้องต้นจึงเห็นด้วยกับนายพงศ์เทพ


กำลังโหลดความคิดเห็น