xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.-ส.ว.จับมือต้าน “นิคม” คุมประชุมรัฐสภา เจ้าตัวตีมึนท้าให้ยื่นถอดถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิคม ไวยรัชพาณิช (แฟ้มภาพ)
ส.ส.ปชป.ผนึกกำลัง ส.ว.ต้าน “นิคม” นั่งบังลังก์คุมประชุมถกแก้ รธน.ที่มา ส.ว. ยันผลประโยชน์ขัดกัน “ส.ว.วันชัย” ชี้จริยธรรม-มารยาทควรอยู่เหนือกฎหมาย พท.ถือหางยันไม่ขัด ม.112 ด้าน “นิคม” ตีลูกมึนเดินหน้าชำเรา รธน.ต่อ ท้าไม่พอใจไปยื่นถอดถอน

ที่รัฐสภา วันนี้ (20 ส.ค.) มีการประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112มาตรา 115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ได้เปิดประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะขอหารือเรื่องทั่วไป แต่นายนิคมไม่อนุญาตให้มีการหารือ ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ประท้วงว่าตัดสิทธิการรับรู้ความเดือดร้อนของประชาชน ขณะที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้สอบถามการถ่ายทอดสด และไม่ไว้ใจการทำหน้าที่ของนายนิคม เพราะร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัวเองมีวาระเพิ่มขึ้นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนและไม่มีความเป็นกลาง และขอให้นายสมศักดิ์ขึ้นมาทำหน้าที่ตลอดการอภิปราย โดยมี นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวสนับสนุนว่านายนิคมจะผิดต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เพราะขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยมีการแก้ไขเพื่อให้พวกตนมาลงสมัครรับเลือกตั้งวุฒิสภาฯในปีหน้า อีกทั้งยังได้ลงชื่อสนับสนุนในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ด้วย

ด้านนายนิคมชี้แจงว่า ไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ตนไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย แต่ร่วมลงชื่ออีก 2 ร่าง (มาตรา 190 เกี่ยวกับการลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และมาตรา 68 เกี่ยวกับสิทธิการพิทักษ์ และมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค) อีกทั้งการพิจารณาวาระ 1 ตนก็ไม่ได้ร่วมอภิปรายด้วย ดังนั้นยืนยันว่าจะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมต่อไปโดยอาศัยข้อบังคับการประชุมและรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้จะให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งวันที่ 20-21 ส.ค.นี้ และการบรรจุระเบียบวาระตามข้อบังคับการประชุมที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ประธานรัฐสภาจะต้องบรรจุเป็นการด่วนภายใน 15 วัน ส่วนพิจารณาหรือไม่ขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภา แต่ยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้จะมีการพิจารณาเพียงร่างเรื่องวุฒิสภาอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ส.ส.ฝ่ายค้านยังคงเรียกร้องไม่ให้นายนิคมทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า แม้นายนิคมอ้างว่าไม่ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.ก็ตาม แสดงว่าในการพิจารณาอีกสองร่างนายนิคมจะไม่ทำหน้าที่ประธานใช่หรือไม่

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้จี้ถามกรณีที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ว่าหากปลดล็อกแล้วนายนิคมจะลงสมัครได้อีก แสดงให้เห็นว่าเป็นการขัดกันของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

นายนิคมจึงชี้แจงอีกครั้งว่า ตนมีหน้าที่ช่วยประธานรัฐสภาดำเนินการประชุม ส่วนที่อ้างว่าแก้ไขกฎหมายเพื่อตัวเองไม่เป็นความจริง เพราะเป็นการทำเพื่อคนทั้งประเทศ อีกทั้ง ร่างดังกล่าวตนก็ไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอและลงมติ ส่วนร่างมาตรา 68 และ 237 มาตรา 190 ตนลงชื่อแต่ไม่ได้อภิปรายและมีความเป็นกลางตลอดมา ส่วนนายบุญยอดบอกว่าจะไม่อยู่ร่วมประชุมระหว่างตัวเองทำหน้าที่ ถือเป็นสิทธิและการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เคยทำมาแล้วได้ในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาในเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งยังทำได้ ส่วนการพูดในหนังสือพิมพ์ ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัว

นายบุญยอดกล่าวว่า นายนิคมแก้ตัวฟังไม่ขึ้น จึงเสนอให้นายนิคมพักการประชุม และให้นายสมศักดิ์ขึ้นมาทำหน้าที่แทน

อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้พยายามสนับสนุนให้นายนิคมดำเนินการประชุมต่อไป เพราะอำนาจการตัดสินของประธานเป็นที่สิ้นสุด และยืนยันว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ. มาตรา 122 อีกทั้งสภาชุดที่แล้วยังเคยแก้ไขเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 500 คนทำไมจึงทำได้

ด้านฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาหลายคนได้อภิปรายสนับสนุนฝ่ายค้าน อาทิ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า หลักกฎหมายทั่วไปหากใครมีผลประโยชน์ทับซ้อนจะต้องถอนตัว และนายนิคมเป็นบุคคลที่มีการเคลือบแคลงเรื่องความเป็นกลาง เพราะจะต้องวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ดังนั้นจึงอยากฝากไว้ว่า มารยาทและจริยธรรมอยู่เหนือกฎหมายและข้อบังคับ

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา จี้ถามนายนิคมว่าจะลงมติแก้ไขวาระ 3 หรือไม่ จะได้ยื่นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว.จะพยายามคัดค้านไม่ให้นายนิคมทำหน้าที่ประธานการประชุม เพราะเห็นว่าจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่รัฐสภา และเกรงว่าจะรีบแก้รัฐธรรมนูญเพราะกลัวว่าจะลงสมัครวุฒิสภาไม่ทัน แต่นายนิคมยังแสดงท่าทีนิ่งเฉย พร้อมกับกล่าวว่า หากใครไม่พอใจก็ยื่นถอดถอนตนออกจากตำแหน่ง พร้อมกลับยืนยันการทำหน้าที่และได้ตัดบทเข้าสู่วาระการประชุมทันที

จากนั้นนายสามารถ แก้วมีชัย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.ได้อ่านรายงานว่า ที่ประชุมรัฐสภาเห็นสมควรแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมดเท่านั้น แต่มีสมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วยและเสนอแปรญัตติ จำนวน 57 คนอาทิ ที่เห็นควรให้ให้มี ส.ว.สรรหาอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นการเสนอให้แก้ไขในหลักการ แต่เป็นการขัดต่อหลักการการแก้กฏหมาย หากที่ประชุมเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ก็จะทำให้ผู้แปรญัตติจำนวน 57 ไม่สามารถแปรญัตติในวาระ 2 ได้ แต่หากเห็นว่าสามารถทำได้ โดยยกเว้นข้อบังคับการประชุมในเรื่องการขัดหลักการ ก็ต้องมีการลงมติตัดสิน

โดยนายนิคมได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง จนถึงขณะนี้ที่ประชุมใช้เวลาถกเถียงกันร่วม 3 ชั่วโมง ยังไม่สามารถเข้าเนื้อหาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น