xs
xsm
sm
md
lg

ปมเสี่ยง "กม.ล้างผิด" ขัดรธน. ปชป.หวังพลิกคว่ำโค้งสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 7 ส.ค. 56 เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับวรชัย เหมะและคณะ สุดท้ายการประชุมเกิดขึ้นจนได้ หลังจากที่การคัดค้านนอกรัฐสภาไม่สามารถสกัดกั้นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.อัปยศฉบับนี้ของสภาฯ

การประชุมสภาฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.อัปยศดังกล่าว วิปรัฐบาลไม่สามารถทำให้มีการลงมติเห็นชอบในวาระแรกตามที่วางปฏิทินเอาไว้ เพราะเจอลีลาลูกเบรคของประชาธิปัตย์กลางสภาฯก่อกวนเข้าไปหลายลูก จนการประชุมสภาฯติดๆขัดๆหลายชั่วโมง

ทว่า การดึงจังหวะให้ช้าลงเพื่อถ่วงเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฯ ของประชาธิปัตย์แม้จะพยายามใช้ทุกวิถีทาง เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน.พรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯที่เสนอกลางสภาฯให้เลื่อนการพิจารณาวาระนี้ออกไปก่อนแต่ก็ไม่เป็นผล

เพราะคือร่างที่เป็น “ใบสั่ง”ตรงมาจากทักษิณ ชินวัตรให้สภาทาส-ส.ส.ขี้ข้า ต้องดันออกมาให้เร็วที่สุด

การขัดขวางของปชป.ในสภาฯยกแรกเมื่อ 7 ส.ค.จึงทำได้แค่ดึงจังหวะให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวล่าช้าไปหลายชั่วโมง ในแง่หนึ่งอย่างน้อยมันก็ทำให้ความเร่งรีบรวบรัดของสภาทาสทำได้ไม่เต็มที่

“ทีมข่าวการเมือง”ไม่ได้ซ้ำเติมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แต่เหตุทั้งหลายมันแสดงให้เห็นแล้วว่า หนทางในการขวางร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯของปชป.ในสภาฯ สิ่งที่ปชป.ทำได้ในยกแรกก็ทำได้แค่การดึงเวลาการประชุมสภาฯให้ช้าที่สุด

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ทำแล้วเห็นผลชัด ก็คือการส่งส.ส.ของพรรคขึ้นไปอภิปรายดิสเครดิตร่างกฎหมายฉบับนี้ในสภาฯ ที่ดูจากการอภิปรายของส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคนเมื่อ 7 ส.ค.อย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ก็ชกเข้าเป้าซัดสมกับเป็นส.ส.รุ่นใหญ่ เพราะลีลาอภิปรายผสมกันระหว่างความกระชับ -แรง- ตรง โดยเฉพาะ ลีลาการอภิปรายที่สามารถอธิบายเรื่องยากและเรื่องหมกเม็ดซ่อนเงื่อนที่อยู่ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย

ดูจากยกแรกตั้งแต่บ่ายจนถึงกลางดึกคืนวันแรกของการถล่มกันในสภาฯแล้ว ก็เห็นว่า ปชป.ทำหน้าที่ได้ดีระดับหนึ่งในสภาฯ ไม่มีการยอมอ่อนข้อให้กับสภาทาสที่ต้องการรวบรัดจะผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เร็วที่สุด แต่เมื่อความเลวร้ายของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มันมีอยู่มากมาย ผสมกับเสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาล ที่คุมเกมมาอย่างดี ตั้งการ์ดไม่มีตก

ผลการลงมติยกแรก ปชป.ก็แพ้ราบคาบ

จากที่พออภิสิทธิ์เสนอญัตติให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ออกไปก่อนเพื่อหวังเบรคเกม แต่เพื่อไทยก็ส่ง สุนัย จุลพงษธร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ออกมาตัดเกมอย่างรวดเร็วด้วยการเสนอญัตติให้สภาฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไป

เพราะเสียงส่วนใหญ่ 301 เสียงไม่เห็นด้วยที่จะให้เลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯออกไปก่อน ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้านลงมติเห็นด้วยกับการให้เลื่อนออกไปก่อน 160 คะแนน

แค่ฉายหนังตัวอย่าง ก็เห็นแล้วว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีการเตรียมทีมกันมาอย่างดี แถมดูจากคะแนนจะเห็นได้ว่าเสียงส.ส.ฝ่ายค้าน ก็หายไปจำนวนมากหลายสิบคะแนน

แน่นอน อีกหลายยกที่จะตามมา ทั้งในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ -การโหวตวาระ 2 และการโหวตเห็นชอบวาระ 3 มันมีแต่ “แพ้”เห็นๆ

จะสู้ในกติกา เดินไปในระบบรัฐสภา ก็สู้ไป ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เมื่อมันเห็นสกอร์แพ้ทุกแมทช์ตั้งแต่ยังไม่ทันลงแข่งแผน 2 แผน 3 ประชาธิปัตย์ ต้องคิดกันแล้ว

ประชาธิปัตย์ ต้องเตรียมตัววางแผนเป่านกหวีดไล่รัฐบาลตั้งแต่ตอนนี้ได้แล้ว สู้ในสภาฯก็สู้ไป สู้นอกสภาฯหากเอาจริง พวกแกนนำไม่ถอดใจเสียก่อน อีกทั้งไม่มีการไปเกี้ยะเซี๊ยะอะไรกันก่อน เตรียมตัวนับแต่นี้ได้เลย ถึงเวลางัดนกหวีดออกมา จะได้เป่าได้เต็มเสียง ไม่ใช่เป่าปี๊ด เป่าปี๊ด ได้ยินแค่หน้าเวทีผ่าความจริงกับคนดูทีวีบลูสกาย มันต้องได้ยินไปทั้งประเทศ คนถึงจะออกมามากกว่า 7 ส.ค. 56

แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกทางหนึ่งที่คงต้องดูว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ในการจะสกัดยับยั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับนี้ นั่นก็คือการส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

คำอภิปรายของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ช่วยขยายความชัดเจนให้รับรู้ถึงประเด็นที่ฝ่ายค้านจะยื่นศาลรธน.ซึ่งจุรินทร์ อภิปรายชี้ชัดๆ ว่าร่างดังกล่าวมีการหมกเม็ดที่อาจทำให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีปัญหาในข้อกฎหมายและอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญบางมาตราคือมาตรา 30 -143-266 อย่างที่มีการอภิปรายตอนหนึ่งดังนี้

“การที่พวกผมต้องคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ทั้งในและนอกสภา เพราะเห็นว่าทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมแล้วร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังส่อขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา อาทิ มาตรา 30 เป็นการออกกฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ -มาตรา 266 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ อย่างน้อยมี ส.ส. 5 คนที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ อาทิ นายก่อแก้ว พิกุลทอง พายัพ ปั้นเกตุ นอกนั้นก็เป็นส.ส.หญิงที่เป็นภรรยาของผู้ถูกดำเนินคดีในช่วงการชุมนุมปี 53

และ ยังเข้าข่ายกฎหมายการเงินตามมาตรา 143 ที่นายกฯต้องลงนามรับรองก่อน เพราะอย่างคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลตัดสินให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 142 ล้านบาทจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินแต่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้คดีที่ศาลตัดสินแล้วก็จะยุติไปทันที นายกฯจึงต้องลงนามก่อนถึงจะเสนอร่างเข้าสภาฯได้”

เรื่องว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯจะขัดรธน.หรือไม่ ก่อนหน้านี้เคยมีความเห็นของวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ความเห็นในเชิงข้อกฎหมายโดยไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงไว้ว่าเป็นความเห็นต่อร่างฉบับของวรชัยแต่เป็นการพูดในภาพรวมเชิงข้อกฎหมายไว้ว่าการที่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ว่าฉบับไหนหรือของใคร จะขัดรธน.หรือไม่ ต้องดูที่ 3 ประเด็นใหญ่

คือต้องไม่ขัดมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และ 30

อย่างมาตรา 29 บัญญัติไว้ว่าการจำกัด สิทธิ และเสรีภาพ ของบุคคล ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้นและจะกระทบกระเทือน สาระสำคัญ แห่ง สิทธิ และ เสรีภาพนั้น มิได้

กฎหมายตาม วรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับ เป็นการทั่วไป และ ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับ แก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือ แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการเจาะจง ทั้ง ต้องระบุ บทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจ ในการตรากฎหมายนั้นด้วย

ส่วนมาตรา 30 บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกัน ในกฎหมาย และ ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชาย และ หญิง มีสิทธิ เท่าเทียมกัน

เมื่อดูตามนี้ ปมเสี่ยงของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯที่จะต้องไปลุ้นที่ศาลรธน.หลักๆ ที่พบก็คือต้องไม่ขัดมาตรา 3 -29-30 ที่เป็นหลักว่าต้องไม่ออกกฎหมายเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และต้องไปลุ้นว่าร่างดังกล่าวเข้าข่ายพ.ร.บ.การเงินฯหรือไม่ หากเข้าข่ายแล้วมาเสนอโดยนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรองก่อนก็อาจผิดได้

รวมถึงก็ต้องไปดูในข้อกฎหมายว่า รายชื่อส.ส.เพื่อไทยที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างกฎหมายอย่างพวกก่อแก้ว -พายัพ-วรชัยที่โดนเอาผิดคดีก่อการร้ายรวมถึงพวกส.ส.หญิงอย่างระพีพรรณ พงษ์เรืองรอง เมียอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง - นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี ภรรยาวิเชียร ขาวขำ-เอมอร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ภรรยานิสิต ผอ.โรงเรียนนปช.และ สัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ ส.ส.นครราชสีมา น้องชาย แรมโบ้-สุภรณ์

ที่ส.ส.ปชป.บอกว่าที่ทั้งหมดต่างได้ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ อาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดมาตรา 266 ที่บัญญัติว่าส.ส.-ส.ว.ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นส.ส.-ส.ว.เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เหตุเพราะอริสมันต์-วิเชียร ขาวขำ-นิสิต สินธุไพร-สุภรณ์ ล้วนตกเป็นจำเลยคดีก่อการร้ายทั้งสิ้น

การลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯของก่อแก้ว-พายัพ-วรชัยและพวกส.ส.เพื่อไทยที่เป็นเครือญาติกับแกนนำนปช.ที่โดนคดีก่อการร้าย ฝ่ายค้านอาจงัดเรื่องนี้ไปเป็นอีกหนึ่งประเด็นในการยื่นศาลรธน. แม้จะมีนักกฎหมายบางส่วนมองว่าไม่น่าจะเข้าข่ายขัดมาตรา 266 ได้เพราะไม่ใช่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหรือการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร

ปมเสี่ยงว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯจะขัดต่อรธน.หรือไม่ แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องรอลุ้นจากนี้อีกหลายเดือนเพราะต้องรอให้กฎหมายผ่านรัฐสภาก่อน แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีสิทธิ์เป็นระเบิดเวลาให้เพื่อไทยในอนาคต!


กำลังโหลดความคิดเห็น