xs
xsm
sm
md
lg

แก้ที่มา ส.ว. ถอย “สภาผัว-เมีย” เกมต่อรองผลประโยชน์ลงตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ
 

การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาลากประชุมกันมาแล้ว 2 สัปดาห์ ผ่านไปแล้ว 5 วัน 5 คืน จนถึงขณะนี้ผ่านไปแล้ว 4 มาตรา จากร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวเสนอมาทั้งสิ้น 13 มาตรา

เท่ากับว่าผ่านไปสองอาทิตย์ยังไปไม่ถึงครึ่งทางและไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อยาวนานอีกแค่ไหน?

นัดถกกันอีกรอบเริ่มตั้งแต่พุธที่ 4 กันยายนเป็นต้นไป คงดุดันเข้มข้นเช่นเดิมและไม่น่าจบกันง่ายๆ

การอภิปรายสัปดาห์นี้น่าจะดุเดือด เพราะจะเป็นการพิจารณาในมาตรา 5 ที่เป็นมาตราเจ้าปัญหา เชื่อว่ามีแรงต้านไม่เห็นด้วยมากที่สุด เนื่องจากเป็นมาตราเกี่ยวกับเรื่อง

“คุณสมบัติของผู้ลงสมัครสมาชิกวุฒิสภาและคุณลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัคร”

เหตุเพราะคณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากที่มีสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย เพื่อไทยเป็นประธาน ดันไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักคุณสมบัติของผู้ลงสมัครส.ว.เอาไว้จากร่างเดิมที่ผ่านรัฐสภาในวาระแรก

คือ ร่างของ กมธ.มีการตัดทิ้งเรื่องการห้ามไม่ให้บุพการี คู่สมรส บุตรของส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองลงสมัคร ส.ว. รวมถึงตัดออกในเรื่องการห้ามไม่ให้สมาชิกพรรคการเมือง หรือ ส.ส.ลงสมัคร ส.ว. แต่หากจะลงต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือ ส.ส.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีถึงจะลงสมัครได้

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยอย่างมาก ทั้งกระแสสังคมและแม้แต่กับพวกกรรมาธิการด้วยกันเอง และจากสมาชิกรัฐสภาทั้งหลาย เพราะเท่ากับเป็นการปลดล็อกให้เกิด “สภาทาส-สภาผัวเมีย-สภาหมอนข้าง” ขึ้นในสภาสูงหากคลอดร่างแก้ไข รธน.ฉบับนี้ออกมา

จึงทำให้มีการประเมินกันว่า การประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์นี้ เนื้อหาและถ้อยคำเร้าร้อนรุนแรงเดรัญฉานจะเพ่นพ่านเต็มสภา เพราะจะมี ส.ส.ฝ่ายค้าน-ส.ว.สรรหารวมถึงแม้แต่พวก ส.ว.เลือกตั้งด้วยกันเองที่ไม่เห็นด้วยกับร่างของกรรมาธิการใช้สิทธิอภิปรายกันจำนวนมากและถ้อยคำน่าจะเผ็ดร้อนตลอดช่วงประชุม

อย่าลืมว่าหากปลดล็อกตามร่างขอกรรมาธิการฯ พวก ส.ว.เลือกตั้งทั้งหลายเวลานี้ที่เตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งกันแล้ว ก็จะเหนื่อยหนักในการลงสมัคร เนื่องจากต้องเจอคู่แข่งที่เป็นพวกอดีต ส.ส.สอบตก-ญาติ ส.ส.ที่มีฐานเสียงแน่นหนาในพื้นที่-เครือข่าย ส.ส.หรือพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งในพื้นที่

หรือแม้แต่อาจจะมี ส.ส.ในเวลานี้เช่นพวกส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่มีฐานเสียงในพื้นที่เลือกตั้งของตัวเองในบางพรรคการเมือง ก็อาจตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาลงสมัคร ส.ว.ที่มีวาระดำรงตำแหน่งได้ถึง 6 ปีแถมลงได้ต่อเนื่อง

ดีกว่าเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ไม่ได้มีบทบาทอะไร ไม่มีโอกาสเติบโต ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี สู้มาลงสมัคร ส.ว.ดีกว่าเพราะอยู่ได้ถึง 6 ปี ไม่จำกัดวาระ ลงได้ต่อเนื่องจนรากงอก ไม่ต้องกลัวยุบสภา

เชื่อว่าต้องมีพวก ส.ส.-พรรคการเมืองเริ่มคิดวางแผนเรื่องนี้กันแล้ว เตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ในเดือนมีนาคมปีหน้า หรือไม่ก็ส่งคนของตัวเองลงสมัคร ส.ว.

ผลก็จะทำให้พวก ส.ว.เลือกตั้งทั้งหลายเหนื่อยแน่กับการลงสมัครอีกรอบ เพราะจะมีคู่แข่งมากขึ้น

แม้จะมี ส.ว.เลือกตั้งบางคนจะพยายามขอไปอิงฐานเสียงพรรคการเมืองบางพรรค หรือ ส.ส.บางคน อย่างเช่น พรรคเพื่อไทย เพื่อหวังว่าจะได้หาเสียงไม่เหนื่อย เข้าทำนองจะขอไปเข้าคอกอยู่ด้วย จะขอเป็น ส.ว.ร่างทรงในพรรคการเมือง

แต่คิดหรือว่าพวก ส.ส.-นักการเมืองในพื้นที่จะเอาด้วยหมด เพราะพวกนี้ก็ต้องการส่งคนของตัวเอง ส่งเครือญาติลงสมัคร ส.ว.เช่นกัน เพื่อยึดครองการเมืองในจังหวัดหรือในพื้นที่เลือกตั้งให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้วทำไมจะต้องไปช่วยพวก ส.ว.เลือกตั้งทั้งหลายเวลานี้

ที่ผ่านมา จึงมีข่าวว่าพวก ส.ว.เลือกตั้งจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับร่างของ กมธ.และพยายามต่อรองกับฝ่ายเพื่อไทยเพื่อขอให้มีการพลิกกลับไปใช้ร่างเดิมที่ผ่านรัฐสภาวาระแรกที่ไม่ให้บุพการี คู่สมรส บุตรหรือพวกสมาชิกพรรคการเมือง-ส.ส.ลงสมัคร ส.ว.ได้แบบไม่มีเงื่อนไขตามร่างของ กมธ.

ความพยายามดังกล่าวก็ทำท่าจะเป็นความจริง เมื่อมีข่าวว่าเวลานี้มีการหารือตกลงกันภายในได้แล้วในกลุ่มกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่เป็นพวกสาย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.เลือกตั้ง ที่จะให้กลับไปใช้ร่างเดิมที่ผ่านรัฐสภาวาระแรก

ทว่า ตามข่าวบอกว่าอาจเป็นการถอยให้เพียงก้าวเดียวคือ ยอมให้กลับไปใช้ตามร่างเดิมเพียงประเด็นเดียวคือ ให้คงไว้ซึ่งข้อห้ามไม่ให้บุพการี คู่สมรส บุตรของ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองเวลานี้ลงสมัคร ส.ว.ได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ อย่างการปลดล็อกสมาชิกพรรคการเมืองให้ลงสมัคร ส.ว.ได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปี ยังให้คงไว้ต่อไป

ความชัดเจนของเรื่องนี้นิคม ไวยรัชพานิชประธานวุฒิสภา ชื่อนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าสนิทกับสายเพื่อไทยขนาดไหน ออกมาส่งสัญญาณล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า จากการฟังกระแสสังคมและเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายเช่น สื่อมวลชน ก็อาจมีการทบทวนแก้ไขร่างของ กมธ.บางมาตราให้กลับไปใช้ตามร่างเดิม เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าจะเกิด “สภาผัว-เมีย”ขึ้น แต่ในส่วนของคุณสมบัติต้องห้ามข้ออื่นๆ ประธานวุฒิสภายังไม่ได้พูดถึง

แม้ทางฝ่าย กมธ.เสียงข้างมากจะมาอ้างว่าเป็นการพร้อมยอมทบทวนหลังพบมีข้อคิดเห็นและกระแสสังคมไม่เห็นด้วยหากจะให้วุฒิสภามีสภาเป็น “สภาผัวเมีย” แต่จริงๆ แล้วก็คงไม่พ้นเรื่องของการเจรจาตกลงผลประโยชน์ระหว่าง ส.ว.เลือกตั้งกับพวกคนในพรรคร่วมรัฐบาล

เพราะหากคงข้อห้ามเรื่องนี้เอาไว้ ก็ทำให้พวก ส.ว.เลือกตั้ง ที่จะลงสมัคร ส.ว.อีกรอบ ไม่เหนื่อยมากนักในการหาเสียงเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ลดกระแสการอภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไข รธน.มาตรา 5 ดังกล่าวคลายความแรงลงไปด้วยไม่มากก็น้อย

อีกทั้งน่าจะช่วยร่นเวลาการอภิปรายลงทำให้การอภิปรายกระชับขึ้นมามากขึ้น การผ่านร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวก็จะได้เร็วขึ้น วิปรัฐบาลจะได้เอาเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเข้าสภาฯเสียที

จึงต้องดูท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยว่าจะเอาอย่างไรกับการประชุม ส.ส.พรรคในวันอังคารที่ 3 ก.ย.นี้ แต่ดูแล้วหากผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยกดปุ่มว่าให้เอาตามนี้ คือให้ตัดเรื่องการปล่อยให้บุพการี คู่สมรส บุตรของ ส.ส.ลงสมัคร ส.ว.ได้ออกไป พวกส.ส.ทาสทั้งหลายในพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องเอาด้วย แม้อาจไม่เห็นด้วยแต่ก็ทำอะไรไม่ได้

เพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ลงตัว ถอยหนึ่งก้าววันนี้ เพื่อเตรียมยึดสภาสูงในวันหน้า เมื่อเห็นแล้วว่าได้มากกว่าเสีย เพื่อไทยก็ไม่ขัดข้องเพราะมองการใหญ่ในวันข้างหน้ามากกว่า

แต่หากผิดไปจากนี้ ถ้าเพื่อไทยยังคงหนุนตามร่างเดิมกรรมาธิการทุกตัวอักษร ก็แสดงว่าการเจรจาล็อบบี้ไม่ลงตัว!
กำลังโหลดความคิดเห็น