“จุรินทร์” เผยอภิปรายร่วมรัฐสภาฉลุยราบรื่น หากเปิดโอกาสไร้ประท้วง แจง ปชป.เหลือจ้อ 30 คน ยังไม่ถกกำหนดเวลาวิปรัฐฯ อ้าง รธน.จำกัดสิทธิไม่ได้ จี้ให้เวลาแก้ปัญหา ปชช. อย่าหมกมุ่นทำเพื่อไม่กี่คน ย้อนนายกฯ ไม่ค่อยเข้าสภา แต่อวดรู้ ปัด ค้านทุกเรื่อง แจงหนุน กม.หลายฉบับ ส่วนที่ค้านประกาศไว้อยู่แล้ว ซัดเผยธาตุแท้หวังล้างผิดแบบปากีสถานเพื่อคนคนเดียว
วันนี้ (28 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าการประชุมในวันนี้หากไม่มีการประท้วงการอภิปรายก็จะไปได้เร็ว เพราะเมื่อมีการประท้วงก็จะทำให้การอภิปรายติดขัด เสียเวลาในการอภิปราย ซึ่งวันนี้หากมีการเปิดโอกาสให้ผู้อภิปรายได้อภิปรายอย่างปกติคิดว่าทุกอย่างจะราบรื่น ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มีผู้สงวนคำแปรญัตติไว้ ที่เหลือประมาณ 30 คน แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับทางวิปรัฐบาลในเรื่องการจัดสรรเวลาเพราะถือเป็นสิทธิตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ ที่ไม่สามารถจำกัดสิทธิ์ผู้ที่สงวนคำแปรญัตติไว้ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ประธานวิปรัฐบาลออกมาระบุว่าอาจจะมีการเลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในช่วงวันที่ 2-5 ก.ย.นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลให้เวลากับการแก้ไขปัญหาของประชาชน อย่าหมกมุ่นกับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนไม่กี่คน ขอให้รัฐบาลกลับไปทบทวนในเรื่องดังกล่าว เพราะขณะนี้ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ รุมเร้าประชาชนอย่างมาก
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าอยากเห็นฝ่ายค้านไทยทำงานสร้างสรรค์เหมือนฝ่ายค้านปากีสถาน ไม่ค้านทุกเรื่องนั้น เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจ ว่าเพราะเหตุที่นายกฯ ไม่เข้าร่วมประชุมสภานายกฯ จึงไม่ทราบว่าฝ่ายค้านให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเสนอกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งฝ่ายค้านยกมือโหวตให้เกือบ 60 ฉบับ ส่วนที่คัดค้านจะมีเพียงแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งฝ่ายค้านได้ประกาศคัดค้านตั้งแต่แรกแล้ว แต่เรื่องนี้คิดว่านายกฯ คงจะไม่ทราบเพราะไม่ค่อยได้เข้าประชุมสภา ส่วนกรณีที่นายกฯ อยากเห็นประเทศไทยเหมือนประเทศปากีสถานในประเด็นการนิรโทษกรรมนั้น เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วจุดประสงค์ของนายกฯ คืออะไร คงหนีไม่พ้นการต้องการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งชี้ชัดออกมาอย่างชัดเจน เพราะเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความคิดนายกฯ อย่างชัดเจนว่าเป้าหมายที่แท้จริงต้องการล้างผิดให้คนคนเดียว