ผ่าประเด็นร้อน
คำแถลงตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการของสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือที่เรียกกันสั้นว่าสภาพัฒน์ เมื่อวันก่อนได้เกิดอาการช็อกกับ “วงการ”อย่างแรง เพราะเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขการขยายตัวในไตรมาสแรกกับไตรมาสสองถือว่าอยู่ในขั้นติดลบ ขณะเดียวกันทุกรายการสำคัญที่เป็นตัวดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอยู่ในขั้น “ลดลง” ทุกตัว การส่งออกที่ถือว่าเป็นตัวดึงให้เศรษฐกิจบ้านเราเติบโตมาตลอด เพราะเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกเกินครึ่ง แต่ในปีนี้กลับลดลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากประเทศคู่ค้าหลักอย่าง ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และล่าสุดประเทศจีน เศรษฐกิจไม่ดีนัก เมื่อคนที่เคยซื้อสินค้าเราไม่ค่อยมีเงิน เขาก็ย่อมซื้อสินค้าจากเราน้อยลงหรือไม่ซื้อ เป็นหลักการง่ายๆ
ขณะเดียวกันการส่งออกที่เป็นอุปสรรค ส่วนสำคัญไม่น้อยมาจากความผิดพลาดจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเอง นั่นคือมาจากโครงการจำนำข้าว ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าของไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่ง จนทำให้เราต้องเสียตลาดค้าข้าว จากที่เคยส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ปัจจุบันตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 3 แต่ระยะห่างกับประเทศที่ส่งออกที่มาแย่งแชมป์จากเราไม่ว่าอินเดีย และเวียดนาม แบบไม่เห็นฝุ่น และมีแนวโน้ทตกลงไปเรื่อยๆ หากในปีหน้าและปีต่อไปข้าวจากพม่าที่เปิดประเทศขายข้าวแข่งกับไทย เพราะต้องไม่ลืมว่าในอดีตประเทศที่เคยส่งออกข้าวมากเป็นอันดับต้นของโลก
ปัญหาเรื่องต้นทุนสูงส่วนหนึ่งมาจากเรื่องค่าแรงงานที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ทำให้อัตราการแข่งขันกับคู่แข่งไม่ดีนัก ทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่เคยลงทุนในไทย และแม้แต่นักลงทุนไทยด้วยกันเองต้องย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ลาว และกัมพูชา รวมทั้งเวียดนาม ไม่น้อย
หลังการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ที่แจกแจงออกมา และคาดหมายว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยทั้งปีจะหดตัวเหลือแค่ 3.8-4.3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น จากเดิมที่คาดหมายว่าจะโตที่ 4.2-5.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ลดลงมาเรื่อยจากเดิมในตอนต้นปีที่เคยคาดหมายว่าจะโตถึงร้อยละ 7 กันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีสิ่งที่เป็นสัญญาณน่ากลัวนอกจากปัญหาการส่งออกที่หดตัวลงอย่างแรงแล้ว ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งพรวดขึ้นมาเกือบแตะ 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องส่งสัญญาณเตือนไปถึงธนาคารพาณิชย์ให้ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อบางประเภท อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ออกมาโต้แย้งโดยยังยืนยันว่า เศรษฐกิจของไทยยังไม่ถึงขั้นถดถอย ตามที่สำนักข่าวต่างประเทศ(บีบีซี)ได้เผยแพร่รายงานออกไป แค่เป็นลักษณะ “ชะลอ” ตัวเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ยังยืนยันว่าหนี้ครัวเรือนยังไม่เลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติจนต้องตกใจ
แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เป็นยุคที่ “ข้าวของแพง” สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ล้วนแล้วปรับราคาพุ่งขึ้นไปกันแบบพรวดพราด ขณะที่ราคาสินค้าการเกษตรแทบทุกรายการกลับตกต่ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และล่าสุดเกษตรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างก็กำลังมีการประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาราคาตกต่ำอยู่จังหวัดนครสวรรค์ โดยขีดเส้นให้แก้ปัญหาภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นจะทำการยกระดับการชุมนุมด้วยการปิดถนนสายหลักเพื่อกดดันรัฐบาลต่อไป
ขณะที่ปัญหาราคาข้าว แม้ว่าในเบื้องต้นมีการหาเสียงด้วยนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาตันละ 15,000 บาท แต่เมื่อผ่านมาสองสามฤดูกาล ทำให้รัฐขาดทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท จนเกิดผลกระทบด้านงบประมาณ ล่าสุดผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ออกมาเปิดเผยว่า เวลานี้ธนาคารกำลังขาดเงินหมุนเวียน เนื่องจากได้สำรองจ่ายไปก่อนประมาณกว่า 2.5 แสนล้านบาท แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อาจนำเงินจากการขายข้าวส่งมาชดเชยได้ทัน โดยได้ไม่ครบเต็มจำนวน
แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือมีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนจากการเปิดเผยข้อมูลจากผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธกส.ผู้นี้บอกว่า ราคาจำนำข้าวในฤดูกาลใหม่จะเหลือแค่ตันละ 12,000 บาท ไม่ใช่ราคา 23,500 บาท และยังลดโควตาลงมาอีกเหลือแค่ครัวเรือนละ 3 แสน 5 หมื่นบาท ไม่ใช่ 5 แสนบาท ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ก่อนหน้านี้ ความหมายก็คือรัฐบาลกำลัง “ถังแตก” ไม่มีงบประมาณมาอุดหนุน เพราะจะไปหวังจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่นำโดย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ก็ยังไม่ได้ผล เพราะหลังจากมีการประมูลให้เอกชนมาซื้อข้าวสองสามรอบ ปรากฏว่าบรรยากาศยังเงียบเหงา ไม่มีคนมาประมูลซื้อ เพราะพ่อค้าพวกนี้ยังคิดว่าสามารถรอเวลาไปได้อีกเพื่อกดราคาให้รัฐบาลจำเป็นต้องขายขาดทุนมากกว่านี้ เพราะข้าวยิ่งเก็บไว้นานยิ่งเสื่อมสภาพ
ยังมีอีก ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป กระทรวงพลังงานก็ไฟเขียวให้ขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ขึ้นไปอีกเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งทำนายได้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะย่งทำให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะในหมวดอาหาร ทั้งประเภทจานด่วนหรือไม่ด่วนทั้งหลายจะต้องปรับราคาขึ้นไปอีก
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่กำลังดำเนินอยู่โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อ “ค่าครองชีพ”ของชาวบ้านทั้งประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี่แหละที่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงให้กับรัฐบาลภายใต้รูปแบบ “ทักษิณคิดยิ่งลักษณ์ทำ” ซึ่งผ่านมาสองปีกว่าแล้ว ทุกอย่างกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ และยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออกที่ต้นทุนสูงแข่งขันลำบาก รวมทั้งตลาดต่างประเทศไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ปัญหาการบริโภคภายในก็หดตัว เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งพรวด ส่วนหนึ่งมาจากโครงการ “รถคันแรก” นั่นแหละ กลายเป็นว่าปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านล้วนมาจากความผิดพลาดล้มเหลวของ “นโยบายประชานิยม” ของรัฐบาลทั้งสิ้น
ดังนั้นเมื่อเกิดผลกระทรบสร้างความเดือดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปลายปีซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากต้นปี ยังไม่มีแนวโน้มที่เป็นบวกเลย มันก็ต้องเตรียมใจเตรียมรับสถานการณ์วิกฤติที่ไม่อาจเลี่ยงพ้น เพราะถึงตอนนั้นน่าจะเละเป็นโจ๊ก !!