xs
xsm
sm
md
lg

“ชวนนท์” จี้ “ภราดร” แจง 5 ข้อโจรใต้ - แฉโรงสีกดจำนำข้าวเหลือเกวียน 8 พัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
โฆษกประชาธิปัตย์ แฉชาวนานครปฐมโวยจำนำข้าว ฉะ ก.เกษตรฯ เปลี่ยนหลักเกณฑ์รับทำชาวภาคกลางเสียสิทธิ์ แถมโรงสีกดราคาเหลือ 8 พัน เชื่อสุดท้ายมีสวมเอาโควตา - จี้เลขาฯ สมช.แจง 5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็น ไม่ควรปิดเป็นความลับ ห่วงแก้รธน. ม.190 ส่อทำสนธิสัญญาไม่ต้องผ่านสภา



วันนี้ (19 ส.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวนาจังหวัดนครปฐมเกี่ยวกับปัญหาโครงการจำนำข้าว ในปี 2556 จะมีการจำนำข้าวสองรอบ คือ นาปี และนาปรัง เมื่อปีที่แล้วจำนำข้าวนาปีคนได้สิทธิต้องปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 พ.ค. - 30 ต.ค. ส่วนนาปรัง 1 พ.ย. - 30 เม.ย. ซึ่งปีนี้ชาวนาในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางปลูกข้าวเดือนพฤษภาคม แต่เมื่อปลูกแล้วมีหนังสือจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ เปลี่ยนหลักเกณฑ์คนที่จะได้สิทธิเริ่มนับการเก็บเกี่ยวแทนการปลูกตั้งแต่ 1 ต.ค. 56 เป็นต้นไป ทั้งที่คนที่ปลูกข้าวไปแล้วต้องเก็บเกี่ยวในเดือนนี้ รอถึงตุลาคมไม่ได้ และน้ำเหนือจะมา แต่ถ้าเก็บเกี่ยวตอนนี้ก็จะไม่มีสิทธิเข้าโครงการจำนำข้าว ไม่ว่าจะเป็นชาวนา จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี พิจิตร อ่างทอง และสุพรรณบุรี จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางต้องปลูกข้าวตั้งแต่ พ.ค.ปลูกได้รอบเดียว เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำ รอเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคมตามหลักเกณฑ์ใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ และขณะนี้มีโรงสีไปกดราคาเหลือ 7-8 พันบีบให้ขาย ขาดทุนย่อยยับ

“ขอตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไม่มีเงินแล้ว ใช้เงินไป 6.7 แสนล้าน จึงเปลี่ยนหลักเกณฑ์เพื่อหนีข้าวของชาวนา เป็นการแสดงให้เห็นว่าถังแตกเป็นโครงการไม่ยั่งยืน ชาวนาร้องไห้ ต้นทุนทุกอย่างแพงคิดว่าขายได้ 15,000 แต่ถูกหักคอที่หน้านาเหลือ 7-8 พัน อยากให้รัฐบาลลงมารับผิดชอบชาวนาที่กำลังถูกนโยบายประชานิยมทำร้ายอย่างแสนสาหัส ผมเชื่อว่าสุดท้ายจะมีการสวมสิทธิเอาโควต้าไปจำนำข้าวในวันที่ 1 ต.ค.นี้ด้วย จึงอยากให้นายกฯสนใจแก้ปัญหาเหล่านี้บ้างไม่ใช่เอาแต่เดินทางไปต่างประเทศอย่างเดียว” นายชวนนท์กล่าว

นอกจากนี้ นายชวนนท์ยังกล่าวถึงข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่มีข่าวส่งมาถึงมือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯ สมช.ตั้งแต่เดือนเมษายน ว่า อยากให้ พล.ท.ภราดร ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะข้อเสนอดังกล่าวมีการพูดถึงอธิปไตยในดินแดน การปกครองดูแลตัวเอง อาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนในอนาคตได้ พล.ท.ภราดร ไม่มีสิทธิ์ปกปิดเป็นความลับเพราะเป็นอธิปไตยของประเทศ ถ้าไม่มีข้อเสนอเหล่านี้ต้องออกมาปฏิเสธ แต่ถ้าไม่ชี้แจงเท่ากับยอมรับข้อเสนอในเรื่องดินแดนกับบีอาร์เอ็น ทั้งๆ ที่ไม่มีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น จึงน่าเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่า หากมีการแก้ไขให้การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศไม่ต้องผ่านรัฐสภา นี่คือความอันตรายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ ตนไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายแต่สอดคล้องว่ามีความพยายามเร่งรัดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ดังนั้น พล.ท.ภราดรต้องตอบคำถามนี้ก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพราะคนไทยเป็นเจ้าของแผ่นดินมีสิทธิรับรู้เรื่องนี้

สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นมีการเผยแพร่ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ก่อนจะมีการสนทนาระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 29 เม.ย. ได้แก่ (1) นักล่าอาณานิคมสยามต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความสะดวก (facilitator) (2) การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาวปาตานี (bangsa) ที่นำโดยบีอาร์เอ็น กับนักล่าอาณานิคมสยาม (3) ในการพูดคุย จำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์การความร่วมมือแห่งศาสนาอิสลาม (0IC) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ (NGO) (4) นักล่าอาณานิคมสยามต้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับ ทั้งหมด (ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง) โดยไม่มีเงื่อนไข(5) นักล่าอาณานิคมสยามต้องยอมรับว่า องค์กรบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาตานี (bangsa) ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ก่อนหน้านี้ท่าทีของกลุ่มวาดะห์ที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี หารือเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้เคยแสดงท่าทียอมรับข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นถึง 4 ข้อ โดยนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ หนึ่งในกลุ่มวาดะห์ ระบุว่ามีเพียงข้อ 4 ที่เรียกร้องให้ปลดปล่อยแนวร่วม ที่อาจมีปัญหาเพราะต้องใช้เวลา ส่วนเรื่องอื่นๆ สามารถรับไว้พิจารณาได้ รวมถึงกรณีที่บีอาาร์เอ็น ประกาศตัวเป็นกลุุ่มปลดปล่อยชาวปัตตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งน่าจะพอหารือในกรอบของรัฐธรรมนูญได้ เพราะเป็นการลดอุดมการณ์เดิมที่ต้องการเอกราช


กำลังโหลดความคิดเห็น