xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด” เผย ส.ค.รับฟังจัดการน้ำ ย้ำ กทม.ไร้งบ ปัดฮุบเกษตรฯ “พงศ์เทพ” โบ้ย อสส.ดูอุทธรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
ปธ.กบอ.เผยกลาง ส.ค.พร้อมฟัง ปชช.โครงการน้ำ แบบทั่วถึงหลังก่อนหน้าทำแบบกว้างขวาง เชื่อสอดรับคำสั่งศาล จับมือ มท.เป็นเจ้าภาพ แบ่งพื้นที่ 4 ภาค 39 จว. เชิญผู้รับผลกระทบถก ยิงสดทีวี แจงมีในทีโออาร์แต่รัฐฯ ขอทำเอง ยันไม่จุ้นผังเมือง ลุยต่อไม่สนส.ว.กทม.ล้มโครงการ โต้ผู้ว่าฯ กทม. ยกเมืองกรุงได้ประโยชน์สุด ย้อนไร้หน้าที่ไม่ต้องใช้งบ ชี้สายไปปล่อยน้ำเข้าหลังเคยขอแล้วนิ่ง ปัด พท.หวังฮุบ ก.เกษตรฯ “พงศ์เทพ” แจงอุทธรณ์หรือไม่อยู่ที่อัยการ


วันนี้ (12 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวภายหลังเข้ารายงานความคืบหน้าของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า สำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะเริ่มได้ช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ และคาดว่าใช้เวลารวม 3 เดือน โดยตนได้ออกคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการของ กบอ. ในส่วนของงานประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็น และไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ก.ค.นี้ จึงได้นำคำสั่งดังกล่าวมาหารือกับนายพงศ์เทพว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ตลอดจนคำพิพากษาของศาลปกครองด้วย ซึ่งนายพงศ์เทพก็เห็นว่าเนื้อหาในคำสั่งครอบคลุมดีแล้ว

นายปลอดประสพกล่าวว่า ส่วนจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของตน เป็นเรื่องของสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนหน้าที่ของตนนั้นมีตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 55 ให้ไปแลกเปลี่ยนรับข้อมูลขอความคิดเห็นประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตลอด แต่เป็นการทำแบบกว้างขวาง เพราะตอนนั้นยังไม่ทราบวิธีการหรือพื้นที่ที่จะก่อสร้าง ก็เป็นการไปบอกเล่าเรื่องโครงการตามจังหวัดต่างๆ แต่ภายหลังวันที่ 18 มิ.ย. 56 เมื่อ ครม.ได้อนุมัติ 4 กลุ่มบริษัท ทำให้รู้แน่ว่าจะใช้วิธิการก่อสร้างแบบใด และพื้นที่ที่ใดที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบทั้งทางต้นทางอ้อมอย่างไร

“การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะเป็นการทำแบบทั่วถึง เสริมกับก่อนหน้านี้ที่ทำไว้อย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นความบังเอิญและตั้งใจ เมื่อทำแบบนี้ก็จะสอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลที่อยากให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57(2)” ประธาน กบอ.ระบุ

นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า การรับฟังความเห็นประชาชนที่ทำไปแล้ว และที่กำลังดำเนินการนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับผังเมือง เพราะ กบอ.ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผังเมือง จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ และยืนยันว่าไม่เคยคิดจะทำ สามารถดูได้จากรายละเอียดของทีโออาร์ทั้ง 2 ขั้นตอนที่พูดถึงแค่การสำรวจการศึกษาเพื่อการจัดผังใช้ประโยชน์ที่ดินเท่านั้นเอง โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผังเมืองแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.เป็นประธาน จะคำร้องเพื่อขอให้ล้มโครงการ รองนายกฯกล่าวว่า สิ่งที่ใดที่ตนทำ น.ส.รสนาไม่เห็นดีด้วย แต่ยืนยันว่ารัฐบาลต้องเดินหน้าโครงการป้องกันน้ำท่วม มิเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายแน่

นายปลอดประสพอธิบายต่อถึงวิธีการดำเนินการรับฟังความเห็นประชาชนว่า มติ ครม.ให้ทางกระทรวงมหาดไทย และ กบอ.ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยจะแบ่งการทำเป็น 4 ภาค แบ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ พื้นที่ปลายน้ำ และพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ โดยจะจัดทำทั้งหมด 39 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ คาดว่าจะครอบคลุมประชาชนราว 2-3 แสนคน เป็นการทำประชาสัมพันธ์ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์วิทยุ มีการจัดนิทรรศการ มีการประชุมครั้งใหญ่ และแยกห้องประชุมตามหัวเรื่อง ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. 56 โดยประชาชนที่เข้าร่วมจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อม รวมไปถึงเอ็นจีโอและภาคเอกชนที่จะเชิญผ่านสื่อ และมีจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการด้วย

“ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้ต้องทำอยู่แล้วในทีโออาร์ คราวนี้รัฐเอามาทำเอง บริษัทไม่ต้องทำก็ไม่ต้องรับเงินนี้ไป ดังนั้นค่าใช้จ่ายก็เท่าเดิม เพียงแต่ว่ารัฐเอามาทำเอง” ประธาน กบอ.ระบุ

นายปลอดประสพยังได้กล่าวตอบโต้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ทำหนังสือถึงรัฐบาลระบุว่าโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไม่มีแผนการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.รวมอยู่ว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ คน กทม. เพราะไปป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำมีการไปปลูกต้นไม้เพื่อชะลอน้ำ มีการสร้างเขื่อนเพิ่มเก็บน้ำได้อีก 4 พันล้านลูบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีการสร้างแก้มลิงตั้งแต่เหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อให้เก็บน้ำได้ 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. และยังมีการทำฟลัดเวย์ 2 สายเบี่ยงน้ำออกฉด้านข้างของ กทม.ทำให้น้ำผ่าน กทม.ไม่เกิน 3.5 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำก็จะไม่ท่วม กทม.

ส่วนกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ระบุว่า รัฐบาลไม่ให้งบประมาณ ทั้งที่สั่งการให้ กทม.วางแผนบริหารจัดการน้ำระยะยั่งยืนนั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องให้งบประมาณแก่ กทม. เพราะตนเป็นผู้ดำเนินการอยู่ แต่เป็นการทำโครงการพื้นที่นอก กทม.ตามที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังระบุอีกว่า กทม.ต้องระบายน้ำให้ได้ 375 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยเป็นฝั่งพระนคร 300 ลบ.ม./วินาที และฝั่งธนบุรี 75 ลบ.ม./วินาที ซึ่งหากรัฐบาลไม่อนุมัติงบประมาณ กทม.จะไม่สามารถทำได้

“คุณชายเคยบอกว่าไม่ยอมให้เปิดประตูน้ำผ่านเข้า กทม. บอกว่าชักศึกเข้าบ้าน แต่ตอนนี้คุณชายกลับมาขอเงินเพื่อให้น้ำผ่านเข้า กทม. รัฐบาลก็อุตส่าห์ไปทำคลองผันน้ำออกไปเพื่อให้น้ำเข้ามาใน กทม. แต่คุณชายมาเชิญให้น้ำเข้า คราวที่แล้วผมขอให้น้ำเข้า คุณชายไม่ให้เข้า ตกลงว่าคุณชายจะเอาอย่างไร” นายปลอดประสพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างรัฐบาลกับทาง กทม.เช่นนี้ มีแนวคิดที่จะไปพูดคุยกันโดยตรงหรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ทางรัฐบาลจะทำหนังสือตอบกลับไป เช่นเดียวกับที่ ทาง กทม.ทำหนังสือเข้ามา ทั้งนี้ยืนยันว่าโครงการบริหารจัดการน้ำระยะยั่งยืนที่ กทม.ได้ร้องของบประมาณเข้ามานั้น ไม่ได้เป็นการสั่งการจากรัฐบาล เนื่องจากปัญหาความเห็นที่แตกต่างกันในอดีตเรื่องการนำน้ำผ่าน กทม. ทำให้รัฐบาลวางแผนทำคลองผันน้ำหรือฟลัดเวย์ เพื่อเบี่ยงน้ำที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เข้า กทม. แต่ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กลับมีความประสงค์ที่จะทำโครงการ

เมื่อถามต่อว่า หาก กทม.ยินยอมให้ระบายน้ำผ่านได้ รัฐบาลจะอนุมัติและให้งบประมาณหรือไม่ นายปลอดประสพกล่าวว่า ไม่ให้ผ่าน เพราะสายเกินไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงกรณีที่มีข่าวว่า นายปลอดประสพวิพากษ์วิจารณ์เชิงต่อว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าไม่ให้ความร่วมมือเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคชาติไทยพัฒนาไม่พอใจ รองนายกฯ กล่าวว่า ในความเป็นจริงได้มี ส.ส.อีสานของพรรคแสดงความเห็นในที่ประชุมว่า เหตุใดพรรคเพื่อไทยไม่ดึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาดูแล เพื่อช่วยเกษตรกร ซึ่งตนก็ตอบเพียงว่าเห็นด้วย แต่ก็บอกว่าวันนี้นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ไปทำหน้าที่ รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยดูกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว เพราะฉะนั้นคงไม่มีเรื่องไปทวงคืนอะไร เป็นการฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด ซึ่งตนไม่อยากตอบโต้เพราะเป็นครอบครัวเดียวกัน รวมทั้ง ไม่เคยตำหนิใครว่าล้มเหลว อย่างกรมชลประทานก็ทำงานดี ทั้งนี้เชื่อว่าทางพรรคมีการบันทึกเสียงไว้ หากอยากให้ส่งไปให้ฟังก็ยินดี

เมื่อถามว่าต้องมีการทำความเข้าใจกับนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาหรือไม่ นายปลอดประสพกล่าวว่า คงไม่ต้องเคลียร์ นายบรรหารเป็นอดีตผู้บัญชาที่มีพระคุณกับตน รู้จักตนดีว่าตนไม่บังอาจไปทำเช่นนั้น ที่สำคัญเป็นเรื่องไม่จริงด้วย

ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้เชิญสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม มาหารือถึงขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ว่าขั้นตอนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ทราบว่า หากจะมีการดำเนินการต่อไปจะต้องทำอย่างไรบ้าง ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ เพราะใช้เวลาไม่เท่ากัน

นายพงศ์เทพกล่าวต่อว่า สำหรับคำสั่งของศาลปกครองที่ให้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เป็นสิ่งที่เราจะดำเนินการอยู่แล้ว และส่วนหนึ่งก็จะอยู่ในการยกร่างสัญญาด้วยว่าจะเขียนให้สอดคล้องกัน โดยขั้นตอนการดำเนินการก็ต้องศึกษาวิเคราะห์ ประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบก่อน และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ยืนยันว่าการศึกษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำอยู่แล้ว ในทีโออาร์ก็มีการระบุไว้ว่าต้องทำ

เมื่อถามว่า หากเป็นขั้นตอนที่ทำอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง นายพงศ์เทพกล่าวว่า การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วตามกฎหมายที่ใช้อยู่ ในโครงการที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกโครงการ ส่วนความคืบหน้าขั้นตอนการพิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่นั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่อยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งข้อมูลไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งขณะนี้ได้ส่งไปแล้ว และมีบางความเห็น ที่เห็นต่างจากคำพิพากษาในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าเป็นเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ข้อมูลที่ตนทราบเป็นเพียงบางความเห็นเท่านั้น ซึ่งมีที่เห็นต่างกับคำพิพากษาในบางประเด็น ส่วนจะอุทธรณ์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับอัยการว่าจะมีความเห็นอย่างไร ทั้งนี้หากจะยื่นอุทธรณ์ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน หลังจากศาลมีคำสั่งออกมา ซึ่งจะครบกำหนดในช่วงปลายเดือนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น