ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่โคราชเปิดอบรมลดต้นทุนผลิตข้าว สั่งเร่งปฏิบัติการทำฝนหลวงทันทีที่สภาพอากาศมีความชื้นเหมาะสม หลังเข้าหน้าฝนแล้วน้ำในเขื่อนยังไม่กระเตื้องโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและโคราช เตือนเกษตรกรชาวนาชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนเพื่อรอพายุฝนหวั่นนาข้าวเสียหาย
วันนี้ ( 7 ก.ค.) ที่ห้องประชุม บริษัท สงวนวงศ์อุตสาหกรรม จำกัด อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หลักสูตร “ การลดต้นทุนการผลิตข้าว ” โดยมีนายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ประธานกรรมการใหญ่ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เกษตรอำเภอทุกอำเภอ อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในพื้นที่ 32 อำเภอ จำนวนกว่า 1,000 คนเข้าร่วมงาน
ทั้งนี้จ.นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีประชากร 606,275 ครัวเรือน รองจากกรุงเทพฯ และเป็นจังหวัดที่มีจำนวนเกษตรกรมากที่สุดในประเทศถึง 310,184 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตร 8 ล้านไร่ โดยเฉพาะข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีเกษตรกรปลูกมากถึง 195,131 ครัวเรือน การจัดอบรมอาสาสมัครหมู่บ้าน หลักสูตร “ลดต้นทุนการผลิตข้าว” ในครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านจำนวน 1,000 คน ในพื้นที่ 32 อำเภอ นำเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิตข้าว ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรทำนาในจังหวัดฯ สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวไม่น้อยกว่า 1,500 บาทต่อไร่ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 5,850 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนการผลิตข้าวใน จ. นครราชสีมาอยู่ที่ประมาณ 3,200 - 3,500 บาท /ไร่
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ ว่า ถึงแม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วแต่ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังมีน้อยโดยเฉพาะภาคอีสานเช่นที่ จ.นครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง มีปริมาณน้ำแค่ 32 เปอร์เซ็นต์ ของความจุเท่านั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นทำการบินโปรยฝนหลวงทันทีที่สภาพอากาศมีความชื้นเหมาะสมโดยเน้นการเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเป็นหลัก
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีพายุลูกใหญ่ 2 ลูก เข้ามาอาจส่งผลให้มีฝนตกหนัก และคาดว่าจะทำให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นแต่ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่คาดหวังมากไม่ได้
“ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีบ้างแต่ช่วงนี้ยังเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝนจึงอยากให้เกษตรกรรอดูสถานการณ์ไปก่อน ก่อนลงมือเพาะปลูกเพื่อไม่ให้พื้นที่นาข้าวเสียหาย” นายยุคล กล่าว