รองนายกฯ ความมั่นคง แจงผลประชุม กปต. นายกฯ สั่ง สมช.ถก กอ.รมน. หาคนให้เหมาะกับงาน คาดสัปดาห์หน้าถกข้อเสนอบีอาร์เอ็น แย้มบางข้อรับได้ ขอปล่อยนักโทษอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม รอชงข้อเสนอกลับ เชื่อรับไม่หมดไม่ล้มโต๊ะ รอขยายความ “องค์กรปลดปล่อยปัตตานี” ย้ำต้องคุยให้มีจุดยืนร่วม ชี้โจรใต้โกหกฆ่าล้างแค้น 17 ส.ค. นัดวาดะห์-ผู้นำศาสนา-เอกชนถก ยันใช้เงินคุมม็อบตามเกณฑ์
วันนี้ (16 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ที่กระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ว่า มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเหตุการณ์ภาคใต้และการสรุปรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมถึงรายงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และมีการพูดถึงการปรับคนลงในพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หารือกับ กอ.รมน.ในการพิจารณาตัวบุคคลลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่อง 5 ข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นมีข้อสรุปอย่างไร พล.ต.อ.ประชาตอบว่า ที่ประชุมได้มีการหยิบยกขึ้นมาหารือด้วย โดยนายกฯ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันให้ได้ข้อสรุปก่อนแจ้งให้นายกฯ ทราบ คาดว่าจะมีการประชุมเรื่องนี้ในการประชุม ศปก.กปต.สัปดาห์หน้า เมื่อถามว่า ข้อเสนอ 5 ข้อมีแนวโน้มที่จะรับได้หรือไม่ พล.ต.อ.ประชาตอบว่า บางข้อรับได้ แต่บางข้อต้องมีการหารือกันก่อน เพราะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางพอสมควร ส่วนจะเป็นประเด็นอะไรบ้างขอไม่พูด ส่วนเงื่อนไขที่ขอให้เราปล่อยตัวนักโทษนั้นเรามีกระบวนการยุติธรรมของเรา ที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างครบถ้วนชัดเจน บางคดีอยู่ในขั้นการดำเนินการของตำรวจ บางคดีอยู่ในการดำเนินการของอัยการ และบางคดีอยู่ในการพิจารณาของศาล ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของเราต้องเป็นไปตามกระบวนการ จะปล่อยได้ทุกกลุ่มหรือไม่ขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณา แต่ยืนยันว่าจะพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรม โดยทั้งหมดมีจำนวนมากพอสมควร มีทั้งหมายจับตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เมื่อถามว่า ทางบีอาร์เอ็นจะพิจารณาเงื่อนไขเราด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.ประชาตอบว่า คงต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน แต่เราก็คงต้องพิจารณาให้ได้ข้อยุติในส่วนของ 5 ข้อเสนอก่อน เมื่อถามว่า หากเราปฏิบัติไม่ได้ทั้ง 5 ข้อ บีอาร์เอ็นจะยอมเจรจากับเราต่อไปหรือไม่ พล.ต.อ.ประชาตอบว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เนื่องจากนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้แสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการพูดคุย ไม่มีปัญหาใดที่จะสรุปได้ดีเท่าการพูดคุย เขายังยืนยันในจุดนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นนายฮัสซัน ตอยิบ หรือผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย เพราะเป็นหลักการที่ถูกต้องและสากลยอมรับ
เมื่อถามว่า มั่นใจนายฮัสซัน ตอยิบจะเดินหน้าเจรจากับเราต่อไป แม้ว่าเราจะไม่รับเงื่อนไข 5 ข้อ พล.ต.อ.ประชาตอบว่า ต้องมีการเจรจากันว่าข้อไหนรับได้หรือไม่ได้อย่างไร ส่วนข้อเสนอที่บีอาร์เอ็นระบุว่าเราจะต้องยอมรับสถานะของกลุ่มบีอาร์เอ็นในฐานะองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี มิใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนนั้น เป็นประเด็นหนึ่งที่พูดถึงความเป็นเจ้าของที่อาจจะมองได้หลายแง่มุม อาจจะเป็นสิทธิที่รัฐบาลไทยเรารับรองความเป็นเจ้าของ เช่น วัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของชาวมลายู แต่ไมได้หมายถึงแบ่งแยกดินแดน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอข้อนี้ทางรัฐบาลได้ให้ สมช.ประสานอยู่ ว่าการรับรองความเป็นสิทธิหมายถึงสิทธิอะไรบ้าง ขอให้ขยายความตรงนี้ ซึ่งเรายังไม่ได้รับคำตอบ
เมื่อถามว่า หากเราทำตามข้อเสนอที่ให้ปล่อยตัวนักโทษ แต่เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ลดลงจะทำอย่างไร รองนายกฯตอบว่า ขอให้ทราบเจตนารมณ์ในการพูดคุยก่อนว่าเรามีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สันติวิธี ต้องยอมรับจุดยืนนี้ร่วมกันก่อน ต้องมีการพูดคุยกัน อะไรที่เรารับได้ อะไรที่เรารับไม่ได้ และอะไรที่เขาจะต้องรับในข้อเสนอของเรา จะต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทั้งนี้ สำหรับเรื่องข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ฝ่ายเราได้ถามกลับไปแล้ว กำลังรอคำตอบอยู่ เพราะเราอยากทราบว่าข้อเสนอดังกล่าวความหมายที่ชัดเจนเป็นอย่างไร อย่างเรื่องสิทธิที่เขาเรียกร้องเป็นเรื่องสิทธิอะไรบ้าง
เมื่อถามว่า เหตุใดช่วงนี้จึงมีการสังหารผู้นำทางศาสนา และครู รองนายกฯ ตอบว่า เขาก็อ้างว่าคนของเขาตายด้วย แต่ของเราก็ตาย คือประเด็นสำคัญ แต่ที่ระบุว่าเราไปฆ่าเขาก็เป็นสิทธิที่คิดได้ แต่ข้อเท็จจริงเราไม่ได้ทำ เมื่อถามว่า รัฐบาลได้มีการตั้งรับอย่างไร เพราะขณะนี้มีข่าวว่าเตรียมจะมีการตั้งกลุ่มประท้วง รองนายกฯ ตอบว่า เราเตรียมรับสถานการณ์ตลอดเวลา แต่เราจะยึดเรื่องการพูดคุยเป็นแนวทางสันติวิธี ไม่มีอะไรดีเท่ากับการพูดคุย
รองนายกฯ เปิดเผยด้วยว่า ในวันเสาร์ที่ 17 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ตนได้นัดพูดคุยเป็นนัดพิเศษกับแกนนำกลุ่มวาดะห์ ภาคเอกชน และผู้นำทางศาสนา ที่ กทม. ทั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากกลุ่มหลายกลุ่ม
พล.ต.อ.ประชากล่าวถึงความเคลื่อนไหวของม็อบต่างๆ ว่า ตนไม่อยากให้มี ซึ่งถ้าไม่มีได้จะเป็นเรื่องดี ส่วนที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภาฯ เรื่องการใช้เงินดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐบาลที่มีจำนวนมากเกินไปนั้น การใช้เงินเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน เรามีหลักเกณฑ์ กรอบ และกติกา ฉะนั้นการใช้ที่ไม่ถูกต้องก็คงไม่ใช่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการระบุว่าการชุมนุมจะไม่มีหากรัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากการพิจารณาของสภาฯ พล.ต.อ.ประชาปฏิเสธที่ตอบคำถาม พร้อมกับหัวเราะ จากนั้นก็เดินเลี่ยงไป