xs
xsm
sm
md
lg

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งคำถามพม่ากรณีจับกุมนักโทษทางความคิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ตั้งคำถามต่อรัฐบาลพม่า หลังจากที่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้แสดงพันธกิจเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าจะปล่อยนักโทษทางความคิดทุกคนจากคุกในพม่าภายในสิ้นปีนี้ แต่ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐยะไข่ของพม่า ได้ควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาวัย 74 ปี โดยพลการ

ในการแสดงปาฐกถาต่อหน่วยงาน Chatham House ซึ่งเป็นสถาบันด้านนโยบายอิสระที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอรับประกันกับท่านว่า ภายในสิ้นปีนี้จะไม่มีนักโทษทางความคิดหลงเหลืออยู่อีกในพม่า” นายเต็งเส่ง ยังกล่าวเสริมว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคดีต่างๆ ทุกกรณี “ทั้งนี้เพื่อประกันว่าจะไม่มีบุคคลใดถูกคุมขังด้วยเหตุผลด้านความเชื่อทางการเมืองของตนเองอีกต่อไป”

เอมี่ สมิธ (Amy Smith) นักวิจัยประจำพม่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า รัฐบาลพม่ายังคงอาศัยกฎหมายที่กดขี่เพื่อปราบปรามเสียงหรือความคิดเห็นที่ต่างออกไป และจับกุมคุมขังผู้ประท้วงอย่างสันติในพม่า ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในประเทศพม่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าต้องต้องยุติการปฏิบัติดังกล่าว และต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

“เราหวังว่าประธานาธิบดีเต็งเส่ง จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานี้ ท่านอาจเริ่มจากการหลีกเลี่ยงไม่ทำให้เกิดนักโทษทางความคิดใหม่ๆ โดยต้องยุติการจับกุม และควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ประท้วงอย่างสันติ” เอมี่กล่าว

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา อู จอลาอ่อง (U Kyaw Hla Aung) ทนายความคนสำคัญชาวโรฮิงญา วัย 74 ปี และอดีตเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหมอไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนด้านมนุษยธรรม ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ในรัฐยะไข่

อู จอลาอ่อง เคยติดคุกในพม่ากว่า 16 ปี เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างสงบ และยังคงถูกทางการเฝ้าติดตาม และคุกคามมาตลอด ล่าสุด เขาถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 พร้อมกับเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมชาวโรฮิงญาอีกหลายคน ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างชุมชนพุทธ และมุสลิมในรัฐยะไข่ เขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อว่า ในปัจจุบันเขายังตกเป็นเป้าคุกคาม เนื่องจากเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทสำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับสมาชิกประชาคมนานาชาติ

“อู จอลาอ่อง เป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนอีกหลายคนที่ถูกจับกุมเมื่อเร็วๆ นี้ มีการตั้งข้อหา หรือไม่ก็ควบคุมตัวพวกเขา ฐานเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมอย่างสงบ ทางการควรยกเลิกข้อหาทั้งหมดต่อนักกิจกรรมเหล่านี้ และควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยทันที” เอมี่กล่าว

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์เน้นย้ำรายละเอียดการจับกุมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ประท้วงอย่างสันติในพม่า ทางการได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในประเทศหลายฉบับเพื่อเอาผิดต่อบุคคลที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเหล่านี้ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ยังคงมีนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมคุมขัง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ตำรวจที่เมืองพะเย (Pyay) เขตพะโค (Bago Region) จับกุม ไวพะโย (Wai Phyo) นักกิจกรรมที่จัดโครงการรณรงค์ภาพโปสเตอร์เรียกร้องให้ “ปล่อยตัวนักโทษการเมือง” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ในปัจจุบัน เขาถูกตั้งข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ พ.ศ.2505 (1962 Printing and Publications Registrations Act) ไวพะโย เป็นเลขาธิการของกลุ่ม Generation Wave ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า

“เป็นเรื่องดี และเป็นประโยชน์อย่างมากที่นายเต็งเส่งสัญญาว่าจะไม่ให้มีนักโทษทางความคิดอีกต่อไป แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนหนทางดังกล่าวยังอยู่อีกยาวไกล” เอมี่กล่าว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น