อ.อักษรศาสตร์ จุฬาฯ นำทีมกลุ่ม 29 มกราฯ บุกหน้าสภา เกาะติดประชุมสภาดัน พ.ร.บ.นิรโทษฯ จับตา ปชป. เหตุเป็นจุดเริ่มเพราะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่หนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง “เป็ดเหลิม” ชี้ไม่เหมาล้างผิดยกเข่ง
วันนี้ (18 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณหน้ารัฐสภา มีกลุ่ม 29 มกราฯ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ประมาณ 30 คน ชุมนุมรอฟังผลมติที่ประชุมสภาว่าจะเลื่อนให้กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับของกลุ่ม 42 ส.ส. เป็นวาระแรกในสมัยประชุมสภาสมัยหน้าหรือไม่ โดยมีการตั้งเวทีและปราศรัยย่อยบริเวณตรงข้ามทางเข้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน
โดยนางสุดา รังกุพันธ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะแกนนำกลุ่ม 29 มกราฯ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ... (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ด้วยการเสนอเลื่อนระเบียบวาระของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยในวันนี้ว่า ตนและพี่น้องประชาชนจะปักหลักเฝ้ารอฟังผลมติของที่ประชุมสภาว่าจะเลื่อนให้กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับของกลุ่ม 42 ส.ส.หรือไม่ อย่างไร และจะติดตามดูท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าจะมีท่าทีเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีนักโทษการเมืองที่ต้องรับโทษและได้รับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกจับกุมดำเนินคดีโดยไม่ได้มีโอกาสในการต่อสู้คดีตามปกติ เนื่องจากสมัยที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินล้อมปราบผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งทำให้บ้านเมืองอยู่ในสภาวะไม่ปกติ ฉะนั้นการจับกุมดำเนินคดีกับนักโทษการเมืองจึงไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น
ส่วนกรณีการเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุให้ลบล้างผลพวงผู้ที่มีความผิดนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ นับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น นางสุดากล่าวว่า ทางกลุ่ม 29 มกราฯ ไม่เห็นด้วยต่อแนวทางตามร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะทางกลุ่มไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมแบบยกเข่งมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากผู้ที่สั่งการให้ล้อมปราบประชาชนเป็นผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากนักโทษการเมืองที่ตกเป็นเหยื่อจากความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ ทางกลุ่ม 29 มกราฯ ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการนิรโทษกรรมเพื่อปล่อยตัวนักโทษการเมืองต่อไป เพราะถึงแม้ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมของกลุ่ม 42 ส.ส.จะได้ผลสรุปออกมาเป็นอย่างไร ก็ยังคงมีกฎหมายนิรโทษกรรมจากภาคประชาชนอื่นๆ ที่รอการพิจารณาอยู่