xs
xsm
sm
md
lg

“เจริญ” สรุปถกนิรโทษฯ แม้ไร้เงาหลายกลุ่ม เชื่อกล่อม พธม.อยู่ เชิญ “มาร์ค” คุย รบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอง ปธ.สภาฯ ลุยถกปรองดอง แม้เข้าร่วมแค่ 5 จาก 11 กลุ่ม พร้อมสรุปผลประชุม ลดขัดแย้งช่วยหาทางออก ให้อภัย แสดงสำนึกรับผิดชอบ แย้มเชิญ หน.ปชป.คุยวิปรัฐ ลดระแวงปรองดอง โวเคลียร์ พธม.ได้ แนะปรับทัศนคตินิรโทษฯ หวังปล่อยนักโทษการเมือง อ้างศาลไม่ตัดสินถือว่าบริสุทธิ์ และยึดถึง ปชช.ก่อนจ้อ ชี้ อย่ากังวลร่างนิรโทษฯ ส.ส.แดง


วันนี้ (11 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องกรรมาธิการ 1 ชั้น 3 นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้เป็นประธานการประชุมในเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดอง โดยเชิญกลุ่มผู้ขัดแย้งทางการเมือง 11 กลุ่มมาหารือ ปรากฏว่ามีเพียง 5 กลุ่มที่มาร่วมประชุม ได้แก่ 1. พรรคเพื่อไทย คือ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี 2. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้แก่ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3. ตัวแทนทหาร ได้แก่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ., พล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทวงกลาโหม 4. ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจย่านราชประสงค์ ได้แก่ พ.ต.อ.เสรี ไขรัศมี 5. ตัวแทนกลุ่มมัชฌิมา พรรคภูมิใจไทย ได้แก่ นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย

ส่วนอีก 5 กลุ่มที่ไม่เข้าร่วม ได้แก่ 1. พรรคประชาธิปัตย์ 2. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) 3. กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม 4. กลุ่มเสื้อหลากสี 5. คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

ขณะที่นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ตัวแทนผู้สูญเสีย ไม่ได้มาร่วมประชุม แต่ได้ส่งข้อเสนอต่างๆ เป็นเอกสารมาให้ ทั้งนี้การประชุมใช้เวลากว่า 2 ชม.โดยไม่เปิดให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมฟัง

จากนั้นเวลา 12.00 น. นายเจริญแถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน เป็นข้อสรุปเบื้องต้น 4 ข้อ ดังนี้ 1. ต้องการความปรองดอง ลดความขัดแย้ง โดยให้ทุกฝ่ายได้เสนอข้อคิดเห็นเพื่อหารือเป็นทางออกร่วมกัน 2.ให้อภัย มีความสำนึกและแสดงความรับผิดชอบ ส่วนวิธี รายละเอียด เงื่อนไข ทุกฝ่ายต้องมาออกแบบร่วมกัน โดยผู้ที่มาร่วมประชุมได้ถามตนว่าจะทำอย่างไรที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรฯ เข้าร่วมหารือด้วย ซึ่งตนก็จะพยายามเจรจากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรฯ ให้ลดความหวาดระแวง เพื่อหันหน้ามาคุยกันได้ 3. การบรรเทาความขัดแย้งให้เกิดทัศนคติที่ดีในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อยากให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับนักโทษการเมือง ที่ยังถูกคุมขังอยู่ เพื่อให้มีอิสระและเสรีภาพในการต่อสู้คดี ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักโทษพึงจะมี 4. การวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและพรรคการเมือง ขอให้ยึดประชาชนเป็นหลักไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง

นายเจริญกล่าวต่อว่า ทั้งนี้กฎหมายร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ 4 ฉบับที่ยังค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ถอนทั้ง 4 ร่างฯ ออกมาก่อนเพื่อเดินหน้าความปรองดองนั้น ตนจะเชิญนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาหารือกับวิปรัฐบาล เพื่อที่จะทำให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ ตนคิดว่าสามารถพูดคุยกันได้แม้นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ประกาศว่าหากสภาฯ ใช้เสียงข้างมากในการออกฎหมายก็จะใช้สิทธิชุมนุมนอกสภาทันที ก็เชื่อว่าตรงนี้น่าจะพูดคุยกันได้ ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปนั้นจะต้องเชิญพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยมาหารือกันก่อน

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองชั่วคราว นายเจริญกล่าวต่อว่า ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล โดยหลังจากนี้จะมีการแยกแยะประเด็นของผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งตนยังไม่ทราบว่ามีเรื่องใดบ้าง แต่โดยพื้นฐานสันนิษฐานว่าผู้ถูกคุมขังเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะคดีต่างๆ ถือว่าเป็นข้อกล่าวหา เพราะศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด ส่วนเรื่องการใช้ตำแหน่ง ส.ส. และหลักทรัพย์ในการประกันตัว เชื่อว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากกระทรวงยุติธรรม มีกองทุนที่จะช่วยเหลือผู้ต้องหาอยู่แล้ว

นายเจริญกล่าวว่า ในระหว่างการหารือ ตัวแทนจากฝ่ายทหารได้ให้ความเห็นว่า อยากให้ความปรองดองเกิดขึ้น ทุกฝ่ายให้อภัยกัน และฝ่ายการเมืองก็ต้องเจรจากันบ้าง ส่วนกรณีที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ระบุว่าจะหักดิบใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.เสนอให้มีการเลื่อนวาระการประชุมสภาฯ ขึ้นมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย 42 คนนั้น นายเจริญกล่าวว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ ซึ่งใครจะพูดอะไรก็พูดได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น คงจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นานแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น