• ไฟเขียว อสมท ประมูลทีวีดิจิตอล
วันนี้ (6 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติหลักการเพื่อดำเนินการประมูลใบอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์สำหรับกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ โดยให้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ดำเนินการประมูลใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล และในกรณีที่เป็นผู้ชนะการประมูล ให้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายใดๆ อันเกิดจากการประมูลได้ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 ต.ค.55 เรื่อง กรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2556
ทั้งนี้ บมจ.อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีภารกิจและวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ และมีความจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านโทรทัศน์จากระบบอนาล็อก ไปสู่ระบบดิจิตอล จะทำให้การประกอบกิจการด้านโทรทัศน์เปลี่ยนแปลงไปจากการดำเนินการของ บมจ.อสมท ในปัจจุบัน โดย บมจ.อสมท จะดำเนินการขอใบอนุญาตต่างๆ ดังนี้ 1.ผู้ให้บริการโครงการข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2.ผู้ให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 3.ผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 4.ผู้ให้บริการแบบประยุกต์
ขณะที่ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติและเห็นชอบหลักเกณฑ์ราคากลางการจ้างที่ปรึกษา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดย 1.อนุมัติให้ใช้หลักเกณฑ์ราคากลางค่าจ้างที่ปรึกษา โดยให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.เป็นต้นไป 2.เห็นชอบให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้หลักเกณฑ์ราคากลางการจ้างที่ปรึกษาประกอบการพิจารณาจัดสรร หรือตั้งงบประมาณสำหรับงานจ้างที่ปรึกษา และ 3.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ราคากลางการจ้างที่ปรึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม โดยให้ดำเนินการอย่างน้อยทุก 5 ปี
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้จัดทำหลักเกณฑ์ราคากลางค่าจ้างที่ปรึกษาโดยใช้แนวทางตัวคูณอัตราค่าตอบแทนที่ปรึกษาตามหนังสือที่กระทรวงการคลังที่ กค 0909/ว99 ลงวันที่ 20 พ.ย.2546 โดยศึกษาทบทวนความเหมาะสมของอัตราตัวคูณค่าตอบแทน และศึกษาผลสำรวจ ข้อมูลเงินเดือนพื้นฐานของ5กลุ่มวิชชีพ ประกอบด้วย วิชาชีพวิศวกรรรม สถาปัตยกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) การเงิน และการวิจัย โดยเห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์ราคากลางค่าจ้างที่ปรึกษา 5 แนวทาง คือ 1.แนวทางการใช้อัตราเงินเดือนพื้นฐาน 2.แนวทางการใช้ตัวคูณอัตราค่าตอบแทน 3.แนวทางและหลักเกณฑ์ในการคำนวณราคากลางค่าจ้างที่ปรึกษา 4.ขั้นตอนการคำนวณค่าจ้างที่ปรึกษา และ 5.การทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางการจ้างที่ปรึกษา
• ตั้ง “วราเทพ” ดูแผนงาน ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2556 เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ
1.แนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 11 สิงหาคม 2556 ดำเนินการโดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่นายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อไว้กับกรมการจัดหางานแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 (เรื่อง การผ่อนผันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลจากประเทศต้นทาง ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี และอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และในระยะเวลาระหว่างการผ่อนผัน ให้ประเทศต้นทางเข้ามาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติออกเอกสารเพื่อรับรองสถานะบุคคลให้แรงงานต่างด้าวเพื่อปรับเปลี่ยนสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย และขอรับอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ต่อไป
2.แนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา (เฉพาะกิจการประมงทะเล) ดำเนินการโดยให้นายจ้างในกิจการประมงทะเลนำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างอยู่แล้วมาจดทะเบียน ปีละ 2 ครั้ง โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนแล้วอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี และอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551
ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดดำเนินการตามแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าร ลาว และกัมพูชา ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ควบคุมดูแลและกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมระหว่างประเทศให้ดีขึ้นด้วย และให้กระทรวงสาธารณสุขควบคุมและดูแลและการตรวจโรคให้แก่แรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัดต่อไป
• วางมาตรการสั้น-ยาว ป้องปรามน้ำมันรั่วซ้ำรอย
ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงแนวทางการแก้ปัญหากรณีท่อส่งน้ำมันของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รั่วไหลกลางทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น ทางกระทรวงพลังงานได้แจ้ง ครม.ทราบว่าในส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยมอบหมายให้ นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นตัวกลางประสานงานกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรับเงินชดเชยค่าเสียหาย จาก บมจ.ปตท.ที่ยินดีจ่ายค่าเสียหายให้ทันที โดยขณะนี้มีผู้ยื่นแสดงความประสงค์จะรับเงินเยียวยามาทางผู้ว่าฯระยองแล้วประมาณ 500 ราย
ส่วน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แจ้งบริษัทในเครือ ปตท.ทั้งหมด ขอความร่วมมือว่าในการจัดงานสัมมนา หรืองานอีเวนต์ต่างๆ ขอให้มาใช้สถานที่อ่าวพร้าว จ.ระยอง เพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป และกระตุ้นความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวในต่างประเทศ ส่วนมาตรการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น กระทรวงพลังงานสั่งการไปยัง บมจ.ปตท.ให้แจ้งบริษัทในเครือทั้งหมด เปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายน้ำมันกลางทะล จากเดิมที่ใช้ท่ออ่อนชั้นเดียว ให้เปลี่ยนเป็นท่ออ่อนสองชั้น ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบไฟเตือนภัยฉุกเฉิน สำหรับแจ้งเตือนล่วงหน้ากรณีน้ำมันมีการรั่วไหล เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาได้ทันท่วงที และให้กระทรวงพลังงานสั่งการบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับสัมปทานน้ำมันในทะเลอ่าวไทยทั้งหมด เปลี่ยนแปลงมาใช้ท่ออ่อนสองชั้นแบบใหม่ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการศึกษาผลกระทบในระยะยาวต่อทรัพยากรธรรมชาติ และการฟื้นฟูให้กลับไปอยู่ในสภาพเดิม ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลและศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพทั้งประชาชนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน โดยจะมีการติดตามผลกระทบด้านสุขภาพเป็นระยะเวลา 5 ปี
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่า มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษาข้อกฎหมาย ในเรื่องภัยพิบัติ โดยมีการจัดกลุ่มให้ครอบคลุมปัญหาทุกรูปแบบ โดยเฉพาะปัญหาที่ยังไม่เกิดขั้น เช่น ปัญหาน้ำมันรั่ว ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่กำหนดให้เป็นปัญหาภัยพิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับองค์กรที่จะจัดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม เสนอว่า ให้บรรจุกองทัพเรือเข้าไปอยู่โครงสร้างของคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้วย
• “เฮียเพ้ง” โวชาวเสม็ดพอใจ ปตท.เยียวยา “ปลอด” หยันเดี๋ยวก็มีอีก-เสนอซิงเกิลคอมมานด์
แหล่งข่าวที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า ในระหว่างการหารือวาระนี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวในที่ประชุมว่า ปตท.ต้องการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบทันที โดยไม่ต้องให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บมจ.ปตท.ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็พอใจ เนื่องจากหากมีการฟ้องร้องจนต้องขึ้นศาลจะมีผลเสีย คือเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง อีกทั้งยังล่าช้า เนื่องจากกว่าคดีจะสิ้นสุดจำเป็นต้องใช้เวลา ประกอบกับผู้ได้รับผลกระทบบางรายไม่มีหลักฐาน หรือเอกสารทางกฎหมายที่ชัดเจนว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ที่อาจจะกลายเป็นความเสียเปรียบ และอาจกลายเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่น้ำมันมีการรั่วไหลนั้น เกิดขึ้นระหว่างการขนถ่ายน้ำมันจากเรือใหญ่ขั้นสู่ท่อส่ง ซึ่งเป็นท่อสายอ่อน ที่ตามมาตรฐานการขนถ่ายผ่านท่อขนส่งสามารถรับความดันได้ถึง 28 บาร์ แต่การขนถ่ายจริงใช้ความดันเพียง 8 บาร์ ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดมาก ซึ่งสาเหตุไม่น่าจะเกี่ยวกับท่ออ่อนระเบิด ส่วนสาเหตุที่แท้จริงนั้นคงต้องรอการตรวจสอบของคณะกรรมการก่อน แต่ยืนยันว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมาไม่เกิน 5 หมื่นลิตรแน่นอน ส่วนสาเหตุที่จำเป็นต้องมีการใช้ปริมาณสารเคมีมากกว่ากำหนด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมันกระจายไปจำนวนมาก ประกอบกับบางส่วนดิ่งลงใต้ทะเล จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีในปริมาณมากเพื่อกระตุ้นให้สารเคมีลอยขึ้นมา
ขณะที่ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ในวันที่เกิดเหตุกองทัพเรือได้เสนอตัวจะให้การช่วยเหลือ แต่ ปตท.ปฏิเสธการรับการช่วยเหลือ ทั้งจากกองทัพเรือ และกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ซึ่ง นายวิสาร เสนอว่า ปตท.ควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้กับทุกหน่วยงานที่ลงไปช่วยเหลือ ไม่ควรใช้เงินภาษีประชาชนไปใช้ในสิ่งที่ ปตท.ทำพลาด พร้อมทั้งเสนอด้วยว่า ให้มีการทำประกันภัยที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดวงเงิน
ด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ เชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว แต่ผลกระทบไม่ขยายรุนแรงจนถึงพื้นที่ประชาชน ตนจึงขอเสนอให้มีซิงเกิลคอมมานด์ ที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที โดยไม่ต้องรอการออกคำสั่ง
•
มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในการแต่งตั้ง นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS รัฐมนตรีประจำกรอบแผนงาน IMT-GT และรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะในการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรอบความร่วมมือทั้ง 3 กรอบ และให้รายงานผลการประชุมต่อนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตามลำดับ ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
นอกจากนี้ ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายกฤษดา รักษากุล เป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (ผู้ว่าการ กคช.) โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่เดือนละ 310,000 บาท ค่าตอบแทนผันแปรไม่เกินร้อยละ 30 ของผลตอบแทนรวมแต่ละปี ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้าง เป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่ ครม.มีมติ อีกทั้งมีมติอนุมัติแต่งตั้งให้ นายชูศักดิ์ เกวี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2556 เป็นต้นไป
และมีมติอนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามนัยมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2556 ยกเว้น นายยุทธพงษ์ อภิรัตนรังษี ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการอัยการอนุมัติเป็นต้นไป โดยมีรายชื่อ ดังนี้ นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ เป็นประธานกรรมการ โดยมี นายสราวุธ เบญจกุล นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ นายชูศักดิ์ เกวี นายยุทธพงษ์ อภิรัตนรังษี นายสุธรรม ศิริทิพย์สาคร และ นายจุฬา สุขมานพ เป็นกรรมการ
• “หมวดเจี๊ยบ” จ๋อย จ้อโจมตี ปชป.เจอนักข่าวเบรก
มีรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะแถลงมติคณะรัฐมนตรี ร.ท.หญิง สุนิสา ได้ใช้เวลาดังกล่าวแถลงเรื่องปฏิวัติ พร้อมโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งผู้สื่อข่าวรายหนึ่งแจ้งกับ ร.ท.หญิง สุนิสา ว่า “ขอมติ ครม.ได้ไหม” จึงกลับมาแถลงมติคณะรัฐมนตรีตามปกติ ทั้งนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ในทำเนียบรัฐบาล ใครจะพูดอะไรก็ได้ แต่ถ้าขึ้นโพเดียมแถลงมติ ครม. แล้วนักข่าวก็อยากฟังแต่มติ ครม.เท่านั้น