นายกรัฐมนตรีเผยในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะนี้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้ว 29 จังหวัด แนะนำปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ระยะยาวจ่อใช้ระบบซิงเกิ้ลคอมมานด์ในงบ 3.5 แสนล้าน อีกด้านขอบคุณประชาชนร่วมมือลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือ “ปลอดประสพ” เผยระยะยาวเตรียมบูรณาการทุกภาคส่วน จัดระบบโซนนิ่งใหม่
วันนี้ (16 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้จัดรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 โดยมีนายธีรัตถ์ รัตนเสวี เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างมาก และได้ทบทวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา เพราะไม่ต้องการเห็นปัญหาภัยแล้งซ้ำซากซ้ำเติมประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้ว 29 จังหวัด
ทั้งนี้ เบื้องต้นรัฐบาลต้องการเห็นน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรจะต้องพิจารณาตามพื้นที่ อาจจะมีการแนะนำให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือ แนะนำอาชีพอื่นทดแทน ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวจะต้องมองอย่างเป็นระบบ และนำปัญหาพื้นที่แล้งซ้ำซากมาเป็นข้อมูล ในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบซิงเกิลคอมมานด์ ซึ่งงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ในโครงการจัดการน้ำ ก็จะต้องดูทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงปัญหาหมอกควัน จากไฟป่าและการเผาไร่นา หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะในภาคเหนือว่า มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวัง 80 วันอันตราย หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อป้องกันปัญหา และต้องขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือ เห็นได้จากการลงพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าสถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลได้เน้นการป้องกันการเผา และหาวิธีช่วยเหลือเกษตรกร ส่งเสริมการเกษตร ปรับปรุงพัฒนาดิน เช่น การไถกลบ ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงในเรื่องการอุปโภคบริโภค ต่อจากนี้ 90 วันเป็นช่วงวิกฤติเพราะจะไม่มีฝน น้ำที่มีอยู่ก็เริ่มลดลง ในปีนี้เชื่อว่าประเทศไทย อาจพบกับปัญหาน้ำน้อย ซึ่งจะเป็นปัญหานำไปสู่ภัยแล้งได้ โดยพบว่าอาจมีหมู่บ้านได้รับผลกระทบกว่า 22,223 หมู่บ้าน ซึ่งนับเป็นร้อยละ 40 ของหมู่บ้านทั้งหมดที่มีทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจะมุ่งไปที่น้ำกินน้ำใช้ โดยมาตรการระยะสั้นอันดับแรก หาภาชนะกักเก็บน้ำทุกหมู่บ้านต้องมีและจัดหารถส่งน้ำให้ และเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าเกิดการช่วยเหลือจะจัดระบบศูนย์อุปกรณ์มารวมกันทั้งหมด การขุดน้ำบาดาลอีก 2 หมื่นกว่าบ่อเพื่อเป็นแหล่งน้ำ ส่วนมาตรการระยะยาวการบริหารจัดการเรื่องน้ำจะบูรณาการทุกภาคส่วน โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการทุกกระทรวงมาคุยและออกหลักการ แนวทางมาด่วนที่สุดคือการจัดระบบโซนนิ่งใหม่ พืชเกษตรอะไรที่ควรปลูกไม่ควรปลูก ซึ่งไม่ใช่การห้ามแต่เป็นทางเลือกใหม่ ถ้าใครเลือกทางเลือกนี้รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ ทั้งเงินทุน เทคโนโลยีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ดังนั้นอีก 5 ปีปะเทศไทยจะดีกว่านี้แน่นอนขอให้ประชาชนเชื่อมั่นและสบายใจเพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทำงานเต็มที่
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการดูแลเกษตรกรในการปลูกพืชเพื่อรับมือภัยแล้งว่า กระทรวงเกษตรฯได้จัดโซนนิ่งและประกาศพื้นที่ใดเหมาะสมเพาะปลูกพืชชนิดไหนไปแล้ว หรือควรงดปลูกพืช ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นแกนหลักในการจัดการในพื้นที่ ถ้าแล้งซ้ำซากก็ต้องปรับเปลี่ยนพืชไปนอกจากนี้แง่เศรษฐกิจก็มองว่าต้องผูกเรื่องตลาดเข้ามา ถ้าปลูกพืชแล้วไม่มีตลาดรองรับก็จะมีปัญหาอีกก็ต้องผู้เรื่องตลาดไปด้วย