“ยิ่งลักษณ์” นั่ง ปธ.มอบนโยบายรับมือภัยแล้ง “ปลอดประสพ” แจงนายกฯ สั่งแผนระยะสั้นทั้งจัดถังเก็บน้ำ เครื่องมือ รถที่เกี่ยวกับน้ำ จ้าง ปชช.ขุดบ่อ เผย 6 เดือนแก้ภัยแล้งแล้ว โดยใช้งบฯ 700 ล้าน ส่วนระยะยาววาง กบอ.-ปภ.ดู พร้อมปรับช่วงเพาะปลูกรวมถึงสถานที่ เพื่อจัดโซนนิ่งปลูกข้าว คาดฝนมีช่วง เม.ย. หนัก พ.ค. คุย 90 ปีหน้าน้ำขึ้นตลอด พร้อมโชว์แผนภาพประกอบ โว พท.ก็เป็น รบ.อีก 90 ปี
วันนี้ (15 ก.พ.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งประจำปี 2556 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี 15 คนที่ได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาภัยแล้งใน 29 จังหวัด ที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยแล้ง ผู้ว่าฯ 29 จังหวัด หน่วยงานราชการ เช่น กรมป้องกันภัยเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ การประปา กรมทรัพยากร โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่านายกฯมีความเป็นห่วงเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน ดังนั้นจึงเรียกประชุมในวันนี้เพื่อทบทวนและกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในช่วงวิกฤต 90 วันต่อจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลเกรงว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ โดยมติที่ประชุมและคำสั่งของนายกฯได้มีข้อสรุปใน 2 ระยะ คือ ระยะสั้น และระยะยาว
รองนายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของระยะสั้นมี 4 ข้อ 1. จะต้องหาภาชนะเก็บหรือใส่น้ำให้ได้ อาทิ ถังน้ำขนาดใหญ่ โดยจะยืมจากกรมประมงและซื้อเพิ่มจำนวนมากทันที ดังนั้นในทุกหมู่บ้านกว่า 2หมื่นหมู่บ้านที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มจะมีภาชนะใส่น้ำดื่มน้ำใช้ 2. จะจัดศูนย์เครื่องมือ (Depot)ของทางราชการทั้งหมดทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และหมู่บ้าน อาทิ รถส่งน้ำจะมารวมกันแล้วไปขนน้ำจากที่ที่มาเพื่อนำไปใส่ในถังที่จัดเตรียมไว้ โดยจะมีทั้งรถของส่วนราชการและรถเช่าจากเอกชน พร้อมทั้งคนขับและผู้ช่วยโดยให้อำนาจฝ่ายปกครองในการบริหารจัดการ และจะให้เติมน้ำมันฟรีที่ปั๊ม ปตท.โดยรัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่ารถ ค่าน้ำมันและค่าแรงของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ยินดีรับการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนที่มีรถอยากจะมาช่วยเพิ่มเติมก็ยินดี 3. จะมีการขุดบ่อบาดาลน้ำตื้นจำนวนหมื่นบ่อขึ้นมา แต่จะไม่มีระบบส่งน้ำโดยจะมีเพียงถังรวมแล้วให้ประชาชนมาตักไป และ 4. จะมีการจ้างประชาชนที่ไม่มีงานทำเนื่องจากพื้นที่เกษตรกรประสพภัยแล้งก็จะจ้างมาทำงานเพื่อให้มีรายได้ อาทิ จ้างขุดลอกคูคลอง
“ระยะสั้นบางอย่างจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ และยืนยันว่าน้ำอุปโภคบริโภคจะขาดแคลนไม่ได้ หัวเด็ดตีนขาดก็ขาดแคลนไม่ได้ ไกลใกล้ก็ต้องขนน้ำไปให้ อาจจะใช้รถไฟจากที่เคยบรรทุกน้ำมันก็จะใส่น้ำแทนและเมื่อถึงสถานีก็ทิ้งไว้แล้วก็วิ่งไปรับตู้เปล่าเพื่อไปหาน้ำมา ที่ไหนที่ทางรถไฟผ่านไหนแล้วขาดน้ำเราก็ทำ ที่ไหนอยู่ริมทางรถยนต์ก็ใช้รถน้ำทำ ทุกอย่างเพื่อให้มีน้ำให้ประชาชน” รองนายกฯ กล่าว
นายปลอดประสพกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ตนขอให้ทุกจังหวัดกลับไปสำรวจแล้วเสนอกลับเข้ามาภายในวันจันทร์ที่ 18 ก.พ. เพื่อเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. หากจังหวัดไหนเสนอมาก่อนก็จะเข้าที่ประชุม ครม.ก่อน
นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า ส่วนระยะยาวนั้นมี 3 เรื่องคือ 1. ให้ กบอ.รับผิดชอบงานทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมถึงภัยธรรมชาติโดยให้ทำงานร่วมกับ ปภ.ทุกเรื่องในลักษณะซิงเกิลคอมมานด์ 2. ให้วางแผนเรื่องน้ำใหม่ โดยให้น้ำเป็นที่ตั้งว่าน้ำอยู่ที่ไหนปริมาณเท่าไหร่ คนใช้อยู่ที่ไหน การส่งน้ำมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยไม่ให้ต่างคนต่างคิดอีกต่อไป 3. จะมีการปรับพื้นที่และเวลาทำการเกษตรใหม่ ให้เหมาะกับพื้นที่นั้นๆในเวลานั้นๆ โดยนายกฯ ให้แนวคิดว่า “อย่าฝืนธรรมชาติ” เพื่อให้สอดคล้องกับฤดูและพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ โดยรวมทั้งเหมาะกับการคมนาคม ซึ่งเรื่องนี้ตนจะรับผิดชอบ โดยจะเชิญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงานฯมาจัดปฏิทินและสถานที่การปลูกใหม่ของประเทศไทย ซึ่งการ “โซนนิ่ง” ไม่ใช่การห้ามแต่เป็นการบอกว่าจะเป็นพื้นที่ส่งเสริม ถ้าใครดำเนินการตามก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเต็มที่ แต่ถ้าไม่สะดวกก็ไม่ว่าอะไร เพราะนี่เป็นการให้ทางเลือกพิเศษ ดังนั้น ถือว่านโยบายทางการเกษตรของประเทศไทยถือว่าเปลี่ยนในระดับหนึ่ง ส่วนในพื้นที่ที่ห้ามปลูกข้าวแต่ประชาชนยังฝืนปลูกนั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า ต่อไปนี้จะไม่ห้ามแต่ทำโซนนิ่งเพื่อให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ถ้าประชาชนเชื่อในระบบนี้ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของการปลูกข้าวแม่นยำ ดังนั้นเงินที่จะใช้ในการประกันก็จะมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
ประธาน กบอ.กล่าวถึงสถานการณ์น้ำฝนในอนาคตว่า ฝนจะเริ่มเข้ามาในช่วง เม.ย. ฝนใหญ่จะเข้ามาเดือน พ.ค. และประเทศไทยในโมเดลทางคณิตศาสตร์จากวันนี้ไปจนถึงอีก 90 ปีข้างหน้า ในทุกรอบ 30 ปี น้ำสามารถขึ้นตลอด ดังนั้นประเทศไทยต้องระวังและการแล้งจะลดลง ถ้าใครไม่เชื่อก็ขอให้อยู่ดูในอีก 90 ปีว่าเราแม่นหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายปลอดประสพได้แสดงแผนภาพ “ผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2557 การจำลองปริมาณฝนรายปีของประเทศไทยในอนาคต โดยแบบจำลอง PRECIS ที่มีแผนที่ประเทศไทย 3 รูปที่แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ พ.ศ. 2553-2582, พ.ศ. 2583-2612 และ พ.ศ. 2613-2642 และนายปลอดประสพกล่าวด้วยว่า นี่คือสิ่งที่ตนได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบและยืนยันว่าไม่ได้โม้ แต่ถึงจะโม้แต่ก็เป็นการโม้ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมกับระบุว่าแผนที่นี้จะทำให้เรารู้ปริมาณน้ำใน 90 ปีข้างหน้า ซึ่งแผน 90 ปีแสดงว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลอีก 90 ปี