xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์” อำลาเก้าอี้! เมินเล่นการเมือง ชี้ชาติปรองดองยาก ยันตุลาการอิสระ ศาลต้องคงอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ปธ.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดใจย้ำลาออกตามสัญญา บอกเคยพูดถ้าไขก๊อกก็ต้องทั้ง 2 ตำแหน่ง ชี้แดงถ้ายังม็อบอยู่ก็คงไม่ออกไม่อยากเพิ่มค่าตัวให้ ปัดผลัดกันนั่งหวังได้เครื่องราชฯ ระบุนิรโทษกรรมถ้าไม่ขัด 3 ข้อก็ไม่มีปัญหา ลั่นขอเป็นวิทยากรอย่างเดียว ใครลากยุ่งการเมืองฟ้องแน่ พอใจเคลียร์คดี วางกฎ สอนชาวบ้านรู้เสียงข้างมากทำตามใจไม่ได้ ยันคดี “สมัคร” วินิจฉัยไม่ผิดแต่พลาดแค่วิธีเขียน เผยศาลเป็นกลางแต่โดนลากตลอด ไล่ไปดูตัวเองทำตาม กม.แค่ไหน การันตีตุลาการมีอิสระ แจง ม.68 ให้อำนาจชาวบ้านชัด ไม่ใช่ อสส. บอกศาล รธน.ต้องคงอยู่เพื่อคุมกติกา ชี้ปรองดองยาก ค้านผู้พิพากษาสรรหา ส.ว.

วันนี้ (31 ก.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดใจก่อนพ้นจากตำแหน่งในพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) ยืนยันว่าการลาออกจากตุลาการและประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นตามสัญญาสุภาพบุรษที่ได้ให้ไว้ต่อคณะตุลาการฯ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเหตุผลอย่างอื่นอย่างที่ไปตีความกัน ซึ่งหากสื่อไปย้อนดูข่าวในช่วงนั้นก็จะเห็นว่าตนได้พูดถึงความตั้งใจในการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่อยู่ในตำแหน่งประธานฯ จนครบวาระ จะเป็นแบบมาเร็วเคลมเร็วไปเร็ว จัดแถวสำนักงานเป็นระเบียบเรียบร้อย เสร็จเมื่อไหร่พร้อมไปทันที และยังได้บอกต่อคณะตุลาการฯ แล้วว่าเดิมตั้งใจจะอยู่ในตำแหน่งตุลาการเพียงแค่ต้นปี 55 แต่เมื่อเพื่อนตุลาการมอบหมายภาระนี้มาให้ก็จะจัดแถวงานในสำนักงานให้ตรงเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะไปทันทีจะไม่อยู่จนครบวาระ แต่เบื้องต้นมีข้อตกลงกันว่าจะอยู่ในตำแหน่งประธาน 2 ปี

“แม้ว่าตอนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เข้ามาและมีการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรก เมื่อ พ.ค. 51 ตกลงกันคือ 3 ปี ไม่ใช่ 2 ปี แต่เมื่อมันล่วงเลยจนมาถึงกลางปี 54 ซึ่งเกิน 3 ปีมามากแล้ว ก็เลยเปลี่ยนข้อตกลงกันใหม่ว่า แค่ 2 ปี และผมก็ได้ย้ำต่อที่ประชุมตุลาการฯ ด้วยว่า ผมไม่ประสงค์ที่จะอยู่เป็นประธานฯ ครบ 2 ปี และหากออกจากตำแหน่งประธาน ก็จะออกจากตำแหน่งตุลาการด้วย ซึ่งผมพูดประโยคนี้มาตั้งแต่การสรรหาประธานฯ ปี 51 ว่า ที่ตกลงกัน 3 ปี หากจะลาออกจากประธานฯ ควรที่จะลาออกจากตุลาการไปเลย แต่ตอนหลังมีการขออยู่ก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หากเป็นผมถ้าจะไปก็ไปเลย” นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์กล่าวต่อว่า ความจริงตนก็ได้เตรียมเอกสารไว้แล้วว่าจะออกวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่บังเอิญว่ามีม็อบมาขับไล่ จึงยังออกไม่ได้ เพราะถ้าเขาประสบความสำเร็จ เขาก็จะไปรุกรานองค์กรอื่น เพิ่มค่าตัว ซึ่งม็อบที่มาควรจะเสียใจ เพราะถ้าอยู่เฉยๆ ตนไปตั้งแต่ พ.ค.แล้ว หรือถ้าม็อบอยู่ถึงตอนนี้ก็จะยังไม่ออก

ส่วนที่มีการมองว่า ตุลาการฯ มีการผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานเนื่องจากต้องการได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น นายวสันต์กล่าวว่า ไม่จริง เพราะพวกตนได้เครื่องราชฯ ชั้นสูงสุด มาตั้งแต่ก่อนที่จะมาอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยตนได้สายสะพายสูงสุดตั้งแต่ปี 40 เพราะฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวกับเครื่องราชฯ หรือที่มีการวิจารณ์ว่าไปเพราะหนีงานหนัก ก็ไม่ใช่ เพราะถ้าหมายถึงกฎหมายที่กำลังอยู่ในสภา คงไม่เรียกว่างานหนัก อย่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ที่ว่าจะมาก็ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร และจะมาหรือไม่ ขณะที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือกฎหมายปรองดอง ตนปาฐกถาไว้ในงานวันสัญญาธรรมศักดิ์แล้วว่า การจะเขียนกฎหมายใดขอให้ดูรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายที่จะออกมันไปขัดหรือแย้งหรือไม่ โดยดูใน 3 เรื่อง 1. ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม หรือหลักกฎหมายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง 2. ถ้าไปออกกฎหมายเพื่อคนๆ เดียว ก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 3. ถ้ามีลักษณะเลืออกปฏิบัติไม่เป็นธรรมก็ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ถ้าไม่ขัด 3 ข้อนี้แล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาหรือจะเป็นเรื่องยากเย็นอะไร การลาออกตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีอนาคตว่ากฎหมายเหล่านี้จะมาหรือไม่ หรือมาอย่างไร

“มีคนคาดหมายเยอะว่าผมออกแล้วจะไปเป็น กกต. หรือกรรมการในองค์กรอิสระ องค์กรรัฐอื่น บอกเลยว่าถ้าเป็นภาครัฐคงยุติแล้ว เว้นแต่งานวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ซึ่งก็คงทำต่อเพราะยังเป็นวิทยากรของสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม มาตั้งแต่ปี 39 จนถึงปัจจุบัน อาจเป็นงานภาคเอกชน แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ ขอเขียนต้นฉบับพ็อกเกตบุ๊ก ชีวิตการเป็นตุลาการให้เสร็จก่อน ซึ่งก็มีสื่อทีวีบางช่องไปเสนอข่าวว่า ผมลาออกเพื่อเอาเวลาไปดูแลภรรยาที่นอนพักรักษาตัวในไอซียู จริงๆ ยืนยันว่าภรรยาผมยังสบายดีอยู่ ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ส่วนงานการบ้านการเมือง คงไม่ยุ่งและสื่อมาลากผมเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะฟ้อง เพราะมีเวลาว่างเยอะที่จะเป็นทนายให้ตัวเอง” นายวสันต์กล่าว

ทั้งนี้ นายวสันต์ยังได้แสดงความพอใจผลงานตลอดการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 ปี 9 เดือน เพราะนอกจากจะสามารถสะสางงานคดีที่คั่งค้างอยู่ตั้งแต่ปี 51 ให้แล้วเสร็จ มีการวางกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานคดีและการทำลายสำนวนคดีเก่า การเผยแพร่ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เข้าใจ หลักรัฐธรรมนูญ หลักประชาธิปไตย ให้เข้าใจว่าการบริหารบ้านเมืองต้องทำตามกฎหมาย ไม่ใช่พอมีเสียงข้างมากแล้วสามารถบริหารราชการแผ่นดินตามอำเภอใจได้ รวมถึงโครงการจัดอบรมหลักสูตรบริหารงานยุติธรรมระดับสูง และการสร้างความสามัคคีในองค์กรที่ทำได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ นายวสันต์ยังได้ชี้แจงถึงกรณีมีกระแสข่าวที่ระบุตนยอมรับสารภาพว่าตัดสินคดีชิมไปบ่นไปของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ผิดพลาดว่า คดีนี้ไม่ว่าจะตัดสินอีกกี่ร้อยพันครั้งก็ไม่เปลี่ยน เพราะเป็นมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ที่ตนว่าผิดพลาดก็คือรูปแบบการเขียนคำวินิจฉัยเท่านั้นที่หัวหางสลับกันทำประชาชนไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับคดียุบ 3 พรรค กรรมการบริหารพรรคโกงเลือกตั้งศาลฎีกามีคำพิพากษามาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในข้อกฎหมายเท่านั้นซึ่งคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไมได้ และตนไม่เคยพูดว่าที่ศาลต้องวินิจฉัยเช่นนี้ เพื่อความสงบเรียบร้อย หรือเรื่องเขตอำนาจศาล ที่มีการพูดกันมากกว่ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญทำไมศาลจึงไม่รับวินิจฉัย เช่นกรณีรับจำนำข้าว รัฐไปแย่งพ่อค้าทำมาหากิน หรือการที่รัฐไม่แถลงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี แม้จะผิดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีข้อใดในกฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัย ขนาดที่เป็นอำนาจเขายังงอแงเลย

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกลากเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง นายวสันต์กล่าวว่า ก็มันขัดแย้งกันไม่เลิก ศาลก็พยายามทำตัวให้เป็นกลาง แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่าต่างฝ่ายก็อยากจะชนะ ซึ่งการจะชนะนั้นก็ควรต้องคิดก่อนว่า ตัวเองทำตามกฎหมายแค่ไหน และการสู้คดีทำเป็นแค่ไหน โดยในส่วนของตุลาการยืนยันได้ว่าแต่ละคนมีความเป็นอิสระต่อกัน ควบคุมกันไม่ได้ เราเพียงแต่ระวังปัญหาเรื่องการลงมติที่เสียงอาจออกมาเท่านั้น เพราะตามกฎหมายไม่ให้ประธานทำหน้าที่ชี้ขาดได้ จึงต้องคุยและประนีประนอมกันจนกระทั่งออกตรงกลางให้ได้ แต่ตุลาการทุกคนจะปลอดจากการเมืองหรือไม่ ตนไม่ทราบ ส่วนตัวไม่มีใครมาสั่งได้ และทุกคนรู้ดีว่าถ้ามาสั่งตนจะถูกด่า

“ศาลมีหน้าที่ตัดสินคดีเราไม่มีหน้าที่ ไม่ได้มีหน้าที่ไปช่วยคลี่คลายสถานการณ์การเมือง บางครั้งอยากทำอย่างโน่นอย่างนี้ แต่ก็ทำไม่ได้ ศาลก็ต้องเป็นศาล คนเป็นตุลาการศาล มีรัก มีชอบ มีเกลียดกันทุกคน แต่เมื่อเวลาตัดสินคดี สิ่งเหล่านั้นต้องทิ้งไปทั้งหมด” นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์กล่าวว่า อย่างการรับวินิจฉัยคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และมาตรา 68 ที่มีการวิจารณ์ว่าศาลทำให้การเมืองหยุดชะงักนั้น ความจริงเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจในเมื่อมาตรา 68 อยู่ในหมวดว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพของอัยการสูงสุด ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วงว่าคนจะร้องไม่เป็นที่สิ้นสุด ถ้าร้องเข้ามาไม่เข้าท่าก็ไม่รับ ซึ่งกรณีแก้ไขมาตรา 68 อาจจะไม่ต้องรีบแล้วก็ได้ เพราะทราบว่าในรัฐสภาจะมีการนำประเด็นแก้ไขเรื่องที่มา ส.ว.เข้าพิจารณาก่อน ตามด้วยมาตรา 190 และมาตรา 68 น่าจะเป็นเรื่องสุดท้าย ซึ่งตราบใดมาตรา 68 ยังไม่ยุติ กรรมาธิการสามารถแปรญัตติใหม่ได้เสมอ แม้จะบอกว่าตอนนี้ยุติตรงนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่แน่จึงไม่ควรตีตนไปก่อนไข้

นายวสันต์ยังมองด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีความจำเป็นที่ต้องคงอยู่แม้จะมีความพยายามแก้ไขยุบเลิก เพราะถ้าประเทศใช้หลักกฎหมายในการปกครองบ้านเมือง ก็ต้องมีคนคุมกฎกติกา ซึ่งนักการเมืองหากจะทำอะไรควรดูกฎหมายให้รอบคอบ อย่าทำสุ่มเสี่ยง แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่า ฉันทำอะไรก็ถูกหมด นักกฎหมายที่เป็นลูกสมุนก็บอกว่าถูก ฝ่ายตรงข้ามวิจารณ์ก็บอกว่าผิดสภาพเป็นอย่างนี้เพราะความยุติธรรมเขาไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้อง แต่อยู่ที่ความถูกใจ ส่วนหนทางสร้างความปรองดอง ยังมองว่าเกิดได้ยากเพราะต่างฝ่ายหันไปคนละทาง อย่างที่ได้เคยบอกชาติหน้าก็ไม่มีทางปรองดองได้ การจะปรองดองต้องหันหน้ามาคุยกัน หรือมีคนกลางที่ 2 ฝ่ายเคารพมาช่วยไกล่เกลี่ย แต่ขณะนี้มีหรือไม่ มีฝ่ายไหนฟังใครกันบ้าง

นายวสันต์ยังทิ้งทายด้วยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการที่ให้ฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ไปเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เพราะไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายตุลาการ แต่ก็ต้องไปทำเพราะกฎหมายบังคับ เป็นการทำแบบไม่เต็มใจ ไม่อยากเข้าไปยุ่ง แม้จะเข้าใจว่าผู้ร่างกฎหมายให้เครดิตเนื่องจากมองว่าฝ่ายตุลาการ เป็นคน มีความซื่อสัตย์สุจริต แต่พอมีการสรรหาที ก็มีการวิ่งมาหาจากสายโน่นสายนี้ น่ารำคาญที่สุด

มีรายงานว่า แม้ว่าการลาออกของนายวสันต์จะมีผลในพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) แต่ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ (31 ก.ค.) นายวสันต์ก็ขอลาประชุม ซึ่งในส่วนของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้มีการจัดพิธีอำลาแต่อย่างใด แต่ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังปรากฏข่าวนายวสันต์ยื่นหนังสือลาออก ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ทยอยเข้าอำลานายวสันต์ที่ห้องทำงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น