หน.ปชป.เย้ย “แม้ว-อ๊อด” แถคลิปฉาวไม่ตรงกัน ชี้เนื้อหามัดตัวดิ้นยาก คนละเรื่องคลิปตัดต่อตน เชื่อเรื่องไม่จบง่าย เหตุพาดพิงแยะ แนะ รมช.กห.พิจารณาหากพูดจริง จี้เคลียร์อำพราง พ.ร.ก.นิรโทษฯ หวั่นจุดปมขัดแย้ง ปลุก กต.กู้ความเชื่อมั่นหลังคลิปจ้อผลประโยชน์พม่า ดักหนีไม่พ้นต้องถูกบี้ ซัดแผนระบายข้าวแบบเดิม คิดแต่ว่าลดยังไงไม่ถูกด่า หนุนรายย่อยราคาสูงกว่า ทำขั้นบันได แต่ต้องคำนึงถึงช่องโหว่โกง
วันนี้ (9 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคลิปการสนทนาระหว่างบุคคลที่มีเสียงคล้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี กับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม ว่าตั้งแต่ฟังการชี้แจงแบบเร็วๆ ก็ขัดแย้งกันแล้ว เพราะคนหนึ่งบอกไม่ใช่อีกคนบอกเป็นคลิปตัดต่อ สรุปแล้วไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งเนื้อหาสาระนั้นต้องยอมรับว่าสอดรับกับการสนทนาที่บุคคลทั้งสองพึงจะสนทนากัน ทั้งเรื่องของพม่า เรื่องกฎหมาย และเรื่องของการโยกย้ายซึ่งสอดรับกันหมด ดังนั้น ถ้าบอกว่าไม่ใช่ก็คงเป็นเรื่องแปลกประหลาดมากว่าจะมีใครที่ไหนอีก 2 คน ทั้งเสียงคล้าย และรู้เรื่องลึกขนาดนี้ เพราะตัวเลข อายุ และเหตุการณ์ต่างๆ สอดรับหมด ก็คงปฏิเสธยาก และจะปฏิเสธว่าตัดต่อก็คงยากเพราะจะไปตัดตรงไหน เพราะถ้าตัดจะไปตัดประโยคใดประโยคหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องไปตัดทั้งหมด ซึ่งไม่เหมือนตอนที่มีการปลอมคลิปเสียงตน ฉะนั้นตนเข้าใจว่าคงไม่มีคำตอบ และเชื่อว่าเรื่องจะไม่จบเพราะ 1. มีการไปพาดพิงถึงคนนั้นคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ไม่ว่าคนที่มีโอกาสจะมาดำรงตำแหน่งในอนาคต ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีและไม่ได้ช่วยในแง่ของการที่จะทำให้เกิดความไว้วางใจ
“พูดกันตรงๆ ถ้ามันเป็นเสียงของ รมช.กลาโหมจริง ท่านก็ต้องพิจารณาตนเองว่าไอ้สิ่งที่ได้พูดไปแล้วตอนนี้ผู้ใต้บังคับบัญชาเขาก็รู้ว่าท่านพูดว่าอย่างไร และโดยเฉพาะไปพูดถึงการโยกย้ายแต่งตั้งคนนั้นคนนี้เหมาะไม่เหมาะอะไรต่างๆ เขาจะรู้สึกอย่างไร” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ 2 คือ เรื่องกฎหมายที่บอกจะพากลับบ้าน ที่พูดไว้เสร็จเรียบร้อยว่าจะอำพราง พ.ร.บ.เป็น พ.ร.ก. ซึ่งตรงนี้ก็ทราบอยู่แล้วว่าจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ฉะนั้นถ้าไม่ตอบว่าเสียงตัวเองใช่หรือไม่ใช่ เป็นคลิปจริงหรือคลิปปลอม อย่างน้อยหัวหน้ารัฐบาลและรมว.-รมช.กลาโหมมา ควรจะยืนยันต่อสังคมว่าจะไม่มีกรณีการทำอย่างนั้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นหลักฐานด้วย เพราะจริงๆ มีการเตรียมการในลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เรื่องของความจำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉิน หรือเรื่องความมั่นคง แต่จะพยายามหาทางในการสร้างเงื่อนไขให้มันเป็นขึ้นมา เพื่อให้เข้าข่ายในการที่จะออกมาเป็น พ.ร.ก. ดังนั้น ตรงนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องมีคำตอบให้กับสังคม
ประเด็นที่ 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน หากจะกล่าวถึงบุคคล ความสัมพันธ์ภายใน ก็ควรคิดถึงเรื่องของปัญหาที่จะเกิดขึ้นที่ทวาย หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วย ซึ่งการไม่ตอบว่าเป็นคลิปจริงหรือไม่จริง คงไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ และจะทำให้ความคลางแคลงใจก็มีต่อไป จนกว่าเราจะมีท่าทีที่ชัดเจนว่าสิ่งต่างๆ ที่พูดกันในคลิปนั้นไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพราะเป็นปัญหาที่ว่าทำอย่างไรเราจะสร้างความไว้วางใจกับประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ว่า การทำงานของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันจริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องธุรกิจแอบแฝง
“การพยายามที่จะเดินหนีคำถามเกี่ยวกับเรื่องคลิปนั้น มันไม่สามารถหนีจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคลิปได้ เพราะฉะนั้น การกอบกู้ในเรื่องของความเชื่อถือ ความเชื่อมั่น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการที่จะไปทำอะไรในประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นหน้าที่ทั้งของนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ที่จะต้องพยายามสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ให้ได้ แต่คงจะเงียบไปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะผมว่าเชื่อว่าสังคมนั้นทุกคนที่ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แล้วก็ทุกคนที่ห่วงใยอนาคตของบ้านเมือง ก็คงต้องมีการทวงถามกันต่อไป” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 56/57 ว่า การที่ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันเรื่องการระบายข้าว แต่ไม่ได้มีอะไรที่เป็นรูปธรรมใหม่ว่าจะแตกต่างจากสถานการณ์เดิมอย่างไร ซึ่งที่พูดว่าจะส่งออกอีกหลายล้านตันนั้นก็เป็นไปตามที่เคยแถลงก่อนหน้านี้ ส่วนที่มีข้อเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่จะระบายข้าวประมาณ 6 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งตนถือว่ายังระบายไม่ทันกับข้าวที่เข้ามา ทั้งนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าการพยายามที่จะดูว่าจะไม่ลดราคา หรือจะลดราคายังไงไม่ให้ถูกด่ามากนั้นก็ยังวนอยู่กับว่าจะทำอย่างไรให้ชาวนายอมรับราคาจำนำที่ลดลง ล่าสุดจึงมีแนวคิดว่าชาวนาที่ปลูกข้าวน้อย รายย่อย น่าจะได้ราคาสูงกว่าชาวนารายใหญ่ ซึ่งที่จริงแล้วในแง่ที่ว่าควรจะช่วยเกษตรกรรายย่อยมากกว่านั้น ตนก็สนับสนุนแต่ที่ผ่านมาหลักการที่ทำกันมาก็พอไปได้โดยการกำหนดเป็นเพดานว่าเกษตรกร 1 รายนั้นต้องได้รับการช่วยเหลือไม่เกินปริมาณข้าว หรือปริมาณเงินเท่าใด ส่วนการจะทำเป็นขั้นบันไดนั้นก็ฟังดูดีในแง่ที่ว่าสามารถกำหนดได้หลายอัตรา แต่ต้องมีคำตอบและมาตรการที่เป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติว่าตกลงแล้วจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการสวมสิทธิหมุนเวียนระหว่างข้าวที่จำนำในราคาหนึ่งกับอีกราคาหนึ่ง ก็จะยุ่งยากพอสมควร ซึ่งจะทำให้การบริหารยิ่งยากขึ้นไปอีกจากการที่มีช่องโหว่ช่องว่างในการทุจริตอยู่เยอะอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าเท่ากับยิ่งเป็นการเปิดช่องให้ทุจริตมากขึ้น โดยคนมีข้าวแปลงใหญ่ก็อาจจะหมุนมาใช้สิทธิ์ 5-10 ไร่ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ตนพูดมาตลอดว่า นโยบายทุกนโยบายนั้น เวลาที่จะตัดสินใจอะไรต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในแง่ของช่องโหว่ ช่องว่างที่จะเกิดการทุจริตด้วย เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ชี้มาก่อนหน้านี้ว่าวิธีคิดในเชิงนโยบายนี้นำไปสู่ปัญหาการทุจริตได้