xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์” ชี้ “สมชาย” ร้องคุ้มครองฉุกเฉินเหตุรีบตัดสิน ขอรับความจริง “แม้ว” ตัวขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ(แฟ้มภาพ)
ปธ.ศาล รธน.ชี้ ปชช.ให้อำนาจนักการเมือง ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ ยก “ฮิตเลอร์” นำชาติหายนะ เยอรมันจึงมีศาล รธน.เข้ม เป็นที่มา ม.68 รธน.50 ตอกพวกสู่รู้ แจงรับคำร้อง “สมชาย” เหตุขอคุ้มครองฉุกเฉิน ชี้เลือกตั้งผู้พิพากษา หัวคะแนนไม่แพ้คดีแน่ แนะสังคมแยกอุปถัมภ์-ยุติธรรม บ่นลงคะแนน พท.ยังถูกด่า รับแฟนคลับ “หมัก” เย้ยฝรั่งยังรู้ “ทักษิณ” ตัวขัดแย้ง หนุนปรองดองอย่าโยนภาระศาล รธน.ชม “โต้ง” เชิญ “มาร์ค” ดูนิทรรศการกู้

วันนี้ (5 เม.ย.) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง “ความปรองดอง ความยุติธรรม และประชาธิปไตย” เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2556 ว่า ส่วนตัวคิดว่าเมื่อพูดถึงประชาธิปไตย ประชาชนจะเข้าใจว่า ถ้ามีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งนักการเมืองชอบพูดว่า คืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชนอยู่แล้ว แต่มอบให้กับผู้แทนไปเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ดูแลบ้านเมือง ซึ่งการดูแลบ้านเมืองก็ต้องใช้อำนาจดูแลภายใต้กฎกติกา ไม่ใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ การที่ประชาชนมอบอำนาจให้เข้าไปดูบริหารประเทศ ไม่ใช่การที่บุคคลนั้นได้รับใบอนุญาตให้ยึดสัมปทานของประเทศ เพราะการบริหารประเทศไม่ใช่การบริหารธุรกิจเอกชน

นายวสันต์ ยังระบุว่า แม้ได้รับเลือกตั้งมาด้วยเสียงข้างมาก และได้บริหารประเทศ แต่ยังต้องเคารพเสียงข้างน้อย เพราะถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งนี้นายวสันต์ได้ยกตัวอย่างเรื่องเสียงข้างมากจากกรณีของฮิตเลอร์ ที่ได้รับเลือกตั้งมาด้วยเสียงข้างมาก ก็พยายามแก้ไขกฎกติกาเพื่อที่จะรักษาอำนาจของตัวเอง สุดท้ายก็นำประเทศไปสู่หายนะ ถือเป็นบทเรียนผู้นำเสียงข้างมาก และเมื่อเยอรมันมีบทเรียนเช่นนี้จึงมีศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจมาก โดยหากศาลรัฐธรรมนูญของเขาเห็นว่าฝ่ายบริหารกำลังจะล่วงละเมิดอำนาจรัฐธรรมนูญ ก็สามารถตั้งเรื่องและผู้บริหารมาชี้แจงและวินิจฉัยการกระทำนั้น รัฐธรรมนูญของเยอรมัน จึงมีบทบัญญัติพิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อให้อยู่บ้านเมืองอยู่ในร่องในรอย และรัฐธรรมนูญของไทยก็ไปเอาตัวอย่างเขามาโดยเป็นมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 40 และมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ไม่ถูกใจใครกันอยู่ในขณะนี้

นายวสันต์ ยังได้ชี้แจงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเร่งวินิจฉัยคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ว่าเพราะคำร้องมีคำขอให้คุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินเข้ามาด้วย ซึ่งเมื่อขอมาเช่นนี้หากเราไปพิจารณาเดือนหน้าเขาก็จะหาว่าเราบ้า ศาลเพี้ยน ซึ่งเรื่องการขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน ถ้าในศาลแพ่งเขาจะต้องสั่งในวันนั้นด้วยซ้ำ แต่การที่เราจะพิจารณาว่าฉุกเฉินหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าจะรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ถ้ารับจึงค่อยพิจารณาต่อไปว่าแล้วจะให้ตามที่มีการขอฉุกเฉินหรือไม่

“แม้ผมจะเป็นเสียงข้างน้อยที่เห็นว่ายังไม่ควรจะรับคำร้องนี้ ในเวลานี้ แต่เมื่อองค์คณะเสียงข้างมากมีมติ เราก็ต้องเคารพและยึดถือ ฉะนั้นที่วิจารณ์ว่ารุกรี้รุกรนรับ น่าจะเป็นคำวิจารณ์ของคนที่ไม่รู้จริง สู่รู้ อวดรู้มากกว่า บางคนจบปริญญาเอกมาทางกฎหมาย แต่เมื่อพูดออกมาก็แสดงว่าเขาไม่รู้” นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์ ยังกล่าวอีกว่า เวลานี้มีการวิจารณ์กันว่าองค์กรตรวจสอบอย่างองค์กรตุลาการไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน ทั้งที่เป็นผู้ใช้ 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย ซึ่งมีคนถามว่าควรจะเลือกตั้งผู้พิพากษาโดยตรงเลยหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากเป็นเช่นนั้น ต่อไปหัวคะแนนก็ชนะได้ในทุกคดี บางคนก็บอกว่าอยากให้ประธานศาลฎีกาต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา หากเป็นนั้น ต่อไปใครอยากเป็นประธานศาลฎีกาก็ต้องทำตัวเป็นสมุนของนักการเมือง เราอยากให้คนที่จะมาทำหน้าที่ตัดสินวินิจฉัยมาโดยลักษณะนี้หรือ

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าปัจจุบันเมืองไทยยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์ มากจนไว้ใจนักการเมืองได้ยาก เรามักจะมีคำพูดที่ว่าถ้ารู้บุญ รู้ตอบแทน ถือว่าเป็นคนดี แต่ตนเห็นว่าระบบอุปถัมภ์และความยุติธรรมเป็นคนละเรื่องกัน อย่างผู้บังคับบัญชาต้องมีหน้าที่ในการสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความสามารถให้เข้าไปดำรงตำแหน่งที่ดี ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานอย่างเต็มที่เมื่อมีโอกาส แต่ไม่ใช่เป็นการตอบแทนในลักษณะเพราะได้รับการอุปถัมภ์ จนมีคำว่า “มีวันนี้เพราะพี่ให้” อย่างที่พูดกันอยู่

นายวสันต์ ยังกล่าวอีกว่าการทำหน้าที่ตัดสินวินิจฉัยมักจะถูกครหาเสมอว่า ศาลตัดสินตามใบสั่ง ทั้งที่ในชีวิตเคยได้รับใบสั่งก็จากตำรวจจราจรเท่านั้น ใบสั่งอื่นไม่เคยมีใครก้าวเข้ามาสั่ง เราจึงอยู่ได้โดยไม่ใส่ใจกับเสียงที่ลอยไปลอยมา ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องนิ่งและหนักแน่น ทั้งที่ความจริงการมีมติแต่ละครั้งก็คละๆ กันไป

“ผมเอง รอบสองปีที่ผ่านมา ไปย้อนดู ผมลงคะแนนเป็นคุณกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ตั้งแต่คดี ขับ ส.ส.2 คนออกจากพรรค การออก พ.ร.ก.กู้เงินบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และกรณีคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนายวราเทพ รัตนากร มีที่เห็นตรงข้ามเพียงเรื่องเดียว คือกรณีการสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ เท่านั้น แต่ก็ไม่วายถูกด่า หาว่าสองมาตรฐาน ทั้งที่คดีในลักษณะของนายจตุพร พึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก สื่อก็พยายามตัดทอนคำพูดเพื่อเล่นงาน ซึ่งผมก็เคยเป็นแฟนคลับของนายกฯสมัคร สุนทรเวช เมื่อ 30 ปีก่อน ท่านเคยเขียนพ็อกเกตบุ๊กไว้เล่มหนึ่งและผมเคยอ่าน ชื่อว่า สันดานหนังสือพิมพ์” นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์ ยังกล่าวถึงการปรองดองว่า ต้องยอมรับว่าเรามีความแตกแยก ซึ่งหลายมองว่าเริ่มจากการยึดอำนาจ 19 กันยา แต่ส่วนตัวเห็นว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 ทั้งนี้การจะปรองดองได้ต้องถามผู้ที่เกี่ยวข้องว่า จริงใจที่จะปรองดองกันจริงหรือไม่ จริงๆ ก็มีแค่สองฝ่าย แม้แต่ฝรั่งที่มาเที่ยวเมืองไทยก็ยังบอกว่าเป็นความขัดแย้งของฝ่ายที่ “โปรทักษิณ” กับฝ่าย “แอนตี้ทักษิณ” อย่าไปอ้างเหตุโน้นเหตุนี้ หรือโทษอำมาตย์ โทษไพร่ แต่อยู่ที่ความจริงใจว่าจะปรองดองหรือไม่ ทั้งนี้การจะปรองดองได้ต้องคุยกัน รู้จักประนีประนอม รู้จักลดหย่อนข้อเรียกร้อง หยุดการทุบโต๊ะ หยุดการอ้างอำนาจ อ้างเสียงข้างมาก แต่เวลาพูดกันอีกมือก็ไพล่หลังถือมีดถือดาบพร้อมที่จะไล่ฟันกัน อย่างนี้มันก็ยาก

“ผมอยากให้บ้านเมืองปรองดอง จะนิรโทษกรรมก็ดี ปรองดองก็ดี ทำได้ทั้งนั้น ขออย่างเดียวปรึกษาหารือผู้รู้กันหน่อย อย่างให้มาตกหนักที่ผม เดี๋ยวเขาก็จะหาว่าศาลรัฐธรรมนูญคือขวางหนามของการปรองดอง เขียนอะไรดูรัฐธรรมนูญหน่อย อย่างไปคิดว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นของ คมช.เขียนกฎหมายต้องยึดว่าใช้บังคับเป็นการทั่วไปต้องไม่เลือกปฎิบัติ ยึดหลักนิติธรรม จุดนี้สำคัญ อย่ามาพูดว่าจะยกโทษให้หมดแต่ยกเว้นคนนั้นคนนี้จะเกิดปัญหา พอศาลตัดสินจะหาว่าศาลผิด ผมก็อยากเห็นคู่ขัดแย้งหันหน้ามาคุยกัน โดยเป็นผู้ที่มีอำนาจจริงๆ ในการตัดสินใจ เพราะบ้านเมืองอมทุกข์ ประชาชนจะใส่เสื้อสีอะไรก็ไม่ได้” นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์ ยังยกตัวอย่างชื่นชม รมว.คลัง ที่จัดนิทรรศการปฏิรูปโครงสร้างพื้นที่ฐานที่จัดขึ้นที่ศูนย์ราชการฯแล้วชวนผู้นำฝ่ายค้านไปดู ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านก็บอกว่าเห็นด้วยทุกโครงการ แต่ไม่กู้ได้หรือไม่ ให้ใส่ไว้ในงบจะผูกพัน 7-8 ปีก็ได้ แต่รัฐบาลก็ไม่ยอม แต่ลักษณะเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการประนีประนอม อย่างไรก็ตามนายวสันต์ ยังระบุด้วยว่าการจะปรองดองได้นั้น สื่อจะต้องเข้ามามีส่วน สื่อต้องลดความรุนแรงในการนำเสนอ เพราะเวลานี้ต่างฝ่ายต่างๆ ก็มีสื่อเป็นของตัวเอง ต่างก็ใช้สื่อดาวเทียมปลุกระดมมอมเมาคนของตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น