ศาล รธน.เปิดโครงการ นธป. รุ่นที่ 1 มีบุคคลในองค์กรที่มีชื่อเพียบ ปธ.ศาล รธน.แจงไม่มีนักการเมือง เหตุกลัวมีทะเลาะ ชี้หลักสูตรเน้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ย้อนความคิดโบราณศาลไม่ควรทำแบบนี้ ยันตุลาการเข้าสู่ตำแหน่งไม่เกี่ยว คมช. เผยศาลวินิจฉัยคำใจง่าย บางคนชอบแกล้วโง่ ภูมิใจโดนด่า แต่ไม่เคยครหาเรื่องสินบน รับติได้เรื่องหลักสูตรเพื่อปรับปรุง ตอกนักการเมืองจ้องแต่ยุบ พร้อมถกปมแดงข้องใจคำวินิจฉัย แต่ยันไม่ใช่หน้าที่ ขอดูคำร้องไม่รู้หรือแกล้งโง่
วันนี้ (10 ม.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการเปิดโครงการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย หรือ นธป. รุ่นที่ 1 โดยหลักสูตรดังกล่าวจะมีข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระและนักวิชาการ เข้ารับการอบรม ซึ่งจะเน้นการให้ความรู้ในเรื่องหลักนิติธรรม การเมือง การปกครอง ที่รุ่นแรกมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมรวม 51 คน ล้วนต่างเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งบริหารในองค์กรและมีชื่อเสียงในสังคม เช่น นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ น.ส.สาลี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น แต่ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวจะไม่มีนักการเมืองเข้าร่วมอบรม
โดยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานเปิดการอบรมฯว่า พวกตนเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเดือน มิ.ย. 2551 มาตามรัฐธรรมนูญปี 50 โดยการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 51 ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่พูดอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อ ส่วนตัวใน คมช. รู้จักคนเดียวคือ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ อดีต ผบ.สส. เพราะเป็นรุ่นพี่สวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้คุ้นเคยกัน ส่วนที่มาของหลักสูตรนี้เดิมมีโครงการมาตั้งแต่ปี 51 แต่มาจริงจังเมื่อปีเศษที่ผ่านมา เห็นพ้องกันว่าควรมีหลักสูตรอะไรเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีงาม สำหรับคนทั่วๆ ไป เพื่อให้หลักกฎหมาย หรือศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นเรื่องเข้าใจยาก ไกลตัว กลายมาเป็นเรื่องเข้าใจง่าย และถูกนำไปใช้ในหน้าที่การงาน หรือบ้านเมือง โดยที่ผ่านมาศาลฯพยายามที่จะใช้หลักนี้ในการอธิบายแม้แต่ในคำสั่งและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จะใช้ข้อความง่ายๆ แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกัน บางทีคนเราก็โง่จริง หรือแกล้งโง่ ใครที่แกล้งโง่ก็ขอให้โง่จริงต่อไป
นายวสันต์กล่าวอีกว่า หลักสูตรนี้จะไม่เน้นยัดเยียดความรู้ให้กับผู้เข้าอบรม แต่จะเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่ก็เป็นผู้บริหาร ผ่านการทำงานมามากซึ่งในบางครั้งผู้เข้ารับการอบรมก็จะผันตัวขึ้นมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ซึ่งตุลาการเองก็จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันยิ่งขึ้น
“การแลกเปลี่ยนพวกท่านจะได้รู้ว่าเราถูกด่ามากแค่ไหน แต่ที่เราภูมิใจก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้จะถูกด่าว่าอะไรก็ตาม ก็ยังไม่มีการครหาว่ารับสินบน หรือตุกติกรับประโยชน์อย่างอื่น อาจเพราะพวกผมส่วนใหญ่มีชีวิตในศาลยุติธรรมมา ทำให้มีกิเลสน้อยหน่อยและเลวน้อยหน่อย” ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว
นายวสันต์กล่าวอีกว่า เมื่อวัตถุประสงค์ของหลักสูตรมีเช่นนี้จึงทำให้แตกต่างจากหลักสูตรอื่นที่เห็นได้ชัดคือจะไม่มีนักการเมืองเข้าร่วมอบรมเลย เพราะเกรงว่าถ้าเอานักการเมืองมาเรียนจากที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ ก็อาจจะเป็นสนามแลกหมัด แลกศอก แลกเข่า หรืออาจจะเป็นสนามมวยก็ได้ เพราะจะมีทั้งสัตว์ทั้งหลาย หรืออาจจะมีผลไม้บางอย่าง เช่น กล้วย การขว้างปากัน การแย่งชิงเก้าอี้กันก็ได้ ซึ่งไม่อยากให้มีบรรยากาศเช่นนั้น และเมื่อผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมดเป็นรุ่นที่ 1 มีความพอใจหรือไม่พอใจในหลักสูตร ก็วิจารณ์ได้อย่างตรงไปตรงมา
“เรื่องถูกด่าพวกเราทนกันมาเยอะและชินชา ทำไมคนกันเองจะด่าไม่ได้ ท่านสามารถด่าได้ตำหนิได้ เพื่อให้เรานำไปปรับปรุงในรุ่นต่อๆ ไป ที่ยังไม่แน่ว่าจะมีหรือไม่ เพราะอย่างที่เห็น คำหนึ่งก็บอกว่าจะยุบ สองคำก็ยุบ ไม่ทราบว่าอาจารย์กรรมฐานที่ไหนสอน เขามีแต่ยุบหนอ พองหนอ นี่มันยุบขาเดียว ก็รอดูว่าเขาจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า ถ้าไม่สำเร็จก็รอให้ตายแล้วชาติหน้าเกิดใหม่ก็คงทำสำเร็จ สุดแล้วแต่วาสนา ถ้ามีโอกาสต่อๆ ไป ศาลรัฐธรรมนูญจะทำตรงนี้เพื่อความเข้าใจอันดีต่อไป เพราะคิดว่าเราควรบริหารความแตกต่างกันได้ โดยไม่ต้องแตกแยก” นายวสันต์กล่าว
จากนั้นนายวสันต์ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกรณีหลักสูตรดังกล่าวถูกมองว่าแม้จะไม่มีนักการเมือง แต่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการอบรมก็เป็นตัวเชื่อมโยงกับนักการเมืองได้ว่าเป็นเรื่องของเขา จะมีพรรคมีพวกอะไรก็แล้วแต่ อย่างตนก็รู้จักนักการเมืองเยอะแยะ แต่ก็เห็นว่าหลักสูตรนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะเชิญนักการเมืองมาร่วม อีกทั้งยังเป็นเรื่องของคณะกรรมการหลักสูตร ตนไม่เกี่ยว ซึ่งหากคิดแบบนั้นก็คงไม่สามารถจะจัดกิจกรรมอะไรได้
ส่วนที่มีการมองว่าศาลควรวางตัวเป็นกลาง ไม่ควรมีการจัดหลักสูตรอบรมนั้น นายวสันต์เห็นว่าเป็นเพียงแนวคิดอย่างหนึ่งในอดีต แต่ปัจจุบันนี้คงจะทำลำบาก เพราะความเข้าใจที่ดีน่าจะสำคัญกว่าสำหรับที่มีกระแสข่าวว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยุบศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา เห็นว่าคงต้องถามศาลฎีกาว่ารับไหมหรือไม่ แต่ถ้าให้ไปรวมอยู่กับศาลฎีกาก็คงดี เพราะหากใครมาด่าศาลแบบนี้ก็ติดคุกสถานเดียว
ประธานศาลรัฐธรรมนูญยังกล่าวถึงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ยื่นหนังสือขอความชัดเจนเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องมีการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งห้ามลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 หรือไม่ว่า เมื่อมีการยื่นคำร้องมาคงนำเข้าที่ประชุมคณะตุลาการ แต่ขณะนี้ตนยังไม่เห็นคำร้อง และตนมีเพียงเสียงเดียวคงตัดสินอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ศาลไม่มีหน้าที่ต้องอธิบายคำวินิจฉัยที่มีออกไป แต่หากคู่ความไม่เข้าใจมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้ ซึ่งเป็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ก็ต้องดูก่อนว่าคู่ความร้องมาว่าอย่างไร ไม่เข้าใจจริงๆ หรือว่าแกล้งไม่เข้าใจ โง่จริงๆ หรือแกล้งโง่ ถ้าแกล้งโง่ก็ขอให้โง่จริงๆ ส่วนการมายื่นคำร้องของ นปช.เพราะต้องการหลักประกันว่าศาลฯ จะให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรนั้นตนก็ไม่รู้เหมือนกัน จะเดินหน้าหรือถอยหลัง