xs
xsm
sm
md
lg

“จุฬาฯ-ภาคีฯ” ชี้คนจนหมดสิทธิ์เรียน 58 ร.ร.ดัง ศธ.ดันออกนอกระบบ-แปะเจี๊ยะ “BID” หลักล้านขึ้น!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
อาจารย์จุฬาฯ ชำแหละนโยบาย ดัน 58 โรงเรียนดังออกนอกระบบในรูป “โรงเรียนนิติบุคคล” เชื่อ “แปะเจี๊ยะหรือเงินบริจาค” พุ่งหลักล้านบาทขึ้น! ที่สำคัญ เต็มไปด้วยลูกคนรวย และเป็นต้นเหตุให้ระบบการศึกษามีสภาพเป็น 2-3 มาตรฐานในสังคมไทย แถมยังสร้างค่านิยมผิดๆ ให้เด็กไทย “เงิน” เท่านั้นบันดาลได้ทุกอย่าง เลขาธิการกลุ่มภาคีเครือข่ายฯ ชี้ แปะเจี๊ยะก้อนใหญ่ขึ้น ผุดสารพัดหลักสูตรสร้างรายได้ ดับฝันเด็กฐานะด้อยกว่า

 
กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศชื่อ 58 โรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้นำร่องโรงเรียนนิติบุคคลในปีการศึกษา 2556 เพื่อความอิสระคล่องตัวในการบริหารจัดการ ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโรงเรียนดีเด่นดัง ที่ผู้ปกครอง และตัวเด็กต่างแย่งกันเข้าเรียน จนผู้ปกครองต้องกรอกตัวเลขเงินบริจาคใต้โต๊ะ-บนโต๊ะให้วุ่นวายกันอยู่ทุกปี

แต่เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแปลงให้โรงเรียนดังเหล่านี้ เป็นโรงเรียนนอกระบบ จึงทำให้หลายคนจับตามองว่าระบบเงินแปะเจี๊ยะฝากเด็กเข้าเรียนที่ถูกเรียกอย่างสุภาพ ว่า เงินบริจาคนั้นจะมีบทบาทในการเลือกเด็กรวยเข้าเรียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ และจะถูกซ่อนเข้ามาในรูปแบบใด เพราะหลักการของโรงเรียนนิติบุคคล คือ โรงเรียนจะมีอิสระในการดำเนินการด้วยตนเอง 3 เรื่อง คือ 1.ด้านการเงิน 2.ด้านบริหารงานบุคคล 3.ด้านวิชาการ

สำหรับโรงเรียนดังใน กทม.ที่เคยมีข่าวเงินบริจาคสูงทุกปี ประกอบด้วย โรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และโรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 ได้แก่ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โรงเรียนหอวัง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า เป็นต้น
 

 
คาดอีก 4 ปีผุดหลักสูตรเสริมเกลื่อน ร.ร.

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ว่า การผลักดันโรงเรียนดีเด่นดังเป็นโรงเรียนนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับโรงเรียนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น มีความคล่องตัวในการบริหารงาน เพราะหลุดจากกรอบระบบราชการ และเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนมากขึ้นในรูปแบบของกรรมการบริหารโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม การเป็นโรงเรียนนิติบุคคลจะมีอิสระในการใช้งบประมาณที่ได้จากการระดมทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ตามระเบียบกฎกระทรวง โดยผู้บริหารสถานศึกษาและกรรมการสถานศึกษาจะมีสิทธิ์เต็มที่ในการบริหารจัดการทรัพย์สิน รวมถึงการออกนโยบายเรื่องการระดมทรัพยากรและการทำนิติกรรมต่างๆ ประโยชน์สูงสุดจึงอาจจะไม่ได้เกิดกับครู นักเรียน หรือผู้ปกครอง แต่เกิดกับผู้บริหารเป็นหลัก เพราะเมื่อได้เงินก้อนมา ผู้บริหารก็มีสิทธิ์นำเงินไปใช้ในเรื่องต่างๆ ไม่เหมือนแต่เดิมที่ต้องใช้เงินตามหมวด ดังนั้น ถ้าได้ผู้บริหารดี มีคุณธรรม และตั้งใจทำ ก็ดี แต่ถ้าผู้บริหารใช้เงินผิดประเภทก็จะวุ่นวาย

“ประเด็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากเมื่อโรงเรียนออกนอกระบบแล้ว คือ โรงเรียนเหล่านี้จะมีหลักสูตรพิเศษเกิดขึ้นมากมาย เช่น Mini English Program ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาต่างๆ เพราะระบบเปิดช่องว่างให้เกิดหลักสูตรพิเศษหรือหลักสูตรเสริมขึ้นมา เพื่อระดมทรัพยากรที่นอกเหนือจากเงินอุดหนุนรายหัว ทำให้คนที่ไม่มีเงินหรือไม่มีการบริจาคอะไรค่อยๆ หลุดออกไป และกลายเป็นลูกคนมีฐานะที่จะอยู่ในโรงเรียนเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะสูงถึง 80-90% จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะเด็กดี เด็กเรียนเก่ง แต่ยากจน ซึ่งมีเยอะในสังคมไทยจะถูกเบียดออกไปหมด”

รศ.ดร.สมพงษ์ บอกอีกว่า ต่อไปเด็กที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนนิติบุคคลส่วนใหญ่จะต้องมีฐานะและเป็นคนมีกลุ่มที่สามารถช่วยเสริมด้านทรัพยากรโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้นได้ ดังนั้นโรงเรียนเหล่านี้จะทำให้เกิดคำว่า 2 มาตรฐาน 3 มาตรฐานในสังคมไทย โดยที่กระทรวงศึกษาธิการควบคุมอะไรไม่ได้มาก เพราะนโยบายจากส่วนกลางเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น แต่อำนาจถูกกระจายไปให้ผู้บริหารและกรรมการสถานศึกษามีสิทธิ์กำหนดนโยบายหลักมากกว่า ซึ่งในสังคมไทยเวลากระจายอำนาจแล้ว คนที่มีอำนาจจริงๆ ก็เป็นคนรวยทั้งนั้น

อย่างไรก็ดี การเปิดรับเด็กในปีการศึกษา 2556 จะยังไม่ขยับรุนแรง เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่โรงเรียนเพิ่งออกนอกระบบ ทุกที่ยังระมัดระวังตัวอยู่ แต่อีก 4-5 ปี จะเริ่มเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น
 

 
เชื่อเป็นนิติบุคคล บิด “เงินบริจาค” พุ่งกระฉูด

นอกจากนั้น รศ.ดร.สมพงษ์ ชี้อีกว่า อีกประเด็นที่ต้องระมัดระวังมาก คือ แทนที่เราจะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่โรงเรียนนิติบุคคลจะทำให้ช่องว่างด้านคุณภาพของโรงเรียนขนาดกลาง คือ โรงเรียนระดับอำเภอและตำบล มีมากขึ้นไปอีก

“รัฐบาลนี้ไม่น่าปล่อยให้มีคำว่า 2 มาตรฐานในระบบการศึกษา เพราะการเอาโรงเรียนออกนอกระบบยิ่งทำให้มาตรฐานต่างกันมาก กระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาดูให้ดี ถ้าให้โรงเรียนออกนอกระบบ ก็ต้องออกกฎเกณฑ์ในการรับนักเรียนอย่างชัดเจนว่า อัตราส่วนเด็กต่างจังหวัด เด็กเรียนดี เด็กยากจน ต้องมีเท่าไร และกำหนดโควตาเรื่องเงินระดมทรัพยากรให้ทุกคนสามารถช่วยโรงเรียนได้”

เมื่อคุณภาพโรงเรียนแตกต่างกันมาก ผู้ปกครองก็ต้องการให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ ซึ่งมีที่จำกัด แต่คนต้องการมาก ขณะที่คนมีฐานะก็มีจำนวนมาก จึงต้องเบียดกันอยู่ ส่งผลให้ระบบเงินบริจาคเติบโต

สำหรับระบบเงินบริจาคซึ่งมีรากเหง้ามาจากการเรียกเก็บเงิน “แปะเจี๊ยะ” เพื่อแลกกับที่นั่งของเด็กนักเรียนยังคงฝังรากลึกอยู่ในโรงเรียน โดยมักจะอ้างว่าโรงเรียนได้งบประมาณพัฒนาไม่เพียงพอ รศ.ดร.สมพงษ์ แสดงความเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมาก แต่ถูกนำไปใช้ผิดประเภทมากกว่า โดยเงินกว่า 80% ถูกนำไปใช้เกี่ยวกับเรื่องเงินเดือน เงินค่าตอบแทนวิทยฐานะ แต่เงินพัฒนามีเพียง 5% เท่านั้น

ส่งผลให้เด็กที่อยากเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลดังๆ ต้องจ่ายเงินบริจาคบำรุงการศึกษาสูงถึง 200,000-500,000 บาท หรือมากกว่านี้ในระดับมัธยมศึกษา โดยอาจจะมากถึงหลักล้านเลยทีเดียว ถ้าเป็นโรงเรียนที่ดังสุดๆ

“คอยดูสิ ยิ่งเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ตัวเลขพวกนี้จะถูกบิดแข่งกันมากกว่านี้อีก ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องระมัดระวัง เพราะถึงแม้โรงเรียนนิติบุคคลจะมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน ถ้าไม่อุดรูรั่วก็จะกลายเป็นโรงเรียนของลูกคนมีฐานะชนชั้นนำ และจะเป็นการปลูกฝังทัศนคติให้เด็กว่าเงินสามารถซื้อและบันดาลได้ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่มีฐานะจะเห็นเป็นเรื่องปกติไปหมด”
 

 
รวยตามสูตร “เพิ่มห้องเรียนพิเศษ ลดห้องเรียนปกติ”

สอดคล้องกับ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการกลุ่มภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ (ภตช.) บอกว่า สังคมปัจจุบันมีจริยธรรมน้อยลง มีการทุจริตคอร์รัปชันหนักขึ้นทุกวัน เพราะใช้เงินกันตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องถูกต้อง

โดยในเส้นทางการศึกษาของเด็ก ผู้ปกครองจะต้องเริ่มจ่ายตั้งแต่เข้าเรียนชั้นอนุบาล ซึ่งโรงเรียนดังๆ จะต้องจ่ายเงินบริจาคบำรุงการศึกษา 20,000-60,000 บาท เมื่อจะเข้าเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนดังในกรุงเทพฯ อาจต้องจ่ายสูงถึงเกือบ 2,000,000 บาท เมื่อขึ้นชั้น ม.1 และ ม.4 ถ้าอยากเข้าโรงเรียนสาธิตดังๆ ต้องยอมทุ่มทุนเป็นตัวเลขกว่า 7 หลัก แม้แต่โรงเรียนประจำจังหวัดก็ต้องจ่ายตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของโรงเรียน

“นอกจากการจ่ายเป็นเงินบริจาคเพื่อแลกกับที่นั่งในโรงเรียนดัง ยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น ใน 100% ของโรงเรียนดังแห่งหนึ่ง จะแบ่งเป็นตั๋วผู้มีอำนาจ ซึ่งแลกเปลี่ยนด้วยงบประมาณ หรือการเป็นหัวคะแนนประมาณ 30-40% ส่วนอีก 60% อาจจะเป็นโควตาของฝ่ายอื่นๆ ที่สมผลประโยชน์กันภายในโรงเรียนนั้นๆ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายด้วยเงินสด ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ 1.จ่ายเงินบริจาคบำรุงการศึกษาตามปกติ และ 2.แบ่งเงินสดครึ่งหนึ่งเป็นเงินบริจาค ส่วนอีกครึ่งเก็บเข้ากระเป๋าผู้บริหาร”

ดังนั้น ยิ่งนำโรงเรียนออกนอกระบบเป็นโรงเรียนนิติบุคคล หรือโรงเรียนในกำกับของ สพฐ. ยิ่งอาจจะทำให้ระบบเงินบริจาคหรือแป๊ะเจี๊ยะโตขึ้นไปอีก แต่จะเรียกว่าค่าเทอม หรือค่าธรรมเนียมแรกเข้าแทน เพราะการออกนอกระบบจะทำให้โรงเรียนสามารถเปิดห้องเรียนภาคพิเศษเพื่อระดมเงินมาบริหารจัดการโรงเรียนได้ เช่น ห้อง English Program ซึ่งมีอัตราค่าเรียนต่างจากภาคปกติมาก เช่น ห้องเรียนปกติเก็บค่าธรรมเนียมบำรุงการศึกษาเทอมละ 2,000 บาท แต่ภาคพิเศษอาจมีอัตราค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 20,000-80,000 บาท ไม่รวมค่าแรกเข้า

นอกจากนั้น ในโรงเรียนจะมีสภาพเป็น 2 สถานะ คือ มีพลเมืองชั้น 1 และพลเมืองชั้น 2 อยู่ในที่เดียวกัน ในช่วงแรก แต่ต่อไปสัดส่วนของเด็กฐานะปานกลางจะลดลง เพราะโรงเรียนจะเปิดห้องเรียนพิเศษเพิ่มขึ้น และลดห้องเรียนภาคปกติลง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่ง สพฐ.ควรพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้รอบคอบก่อนนำโรงเรียนออกนอกระบบ
 



กำลังโหลดความคิดเห็น