xs
xsm
sm
md
lg

"จรูญ"ปฎิบัติหน้าที่ปธ.ศาลรธน."ตู่"โยง"วสันต์"ออกแผนลึกล้มรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 17 ก.ค.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้แถลงยืนยันว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีความประสงค์ที่จะลาออกจากตำแหน่ง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีผลเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป หลังจากปฏิบัติภารกิจที่ตั้งใจไว้ คือ
1. การเร่งรัดการพิจารณาคดีที่ค้างในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้คดีที่เข้าสู่การพิจารณาต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งในต้นปี 2555 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีคดีที่ยังคงค้างอยู่ถึง 123 คดี ซึ่งได้พิจารณาคดีเสร็จสิ้นไปแล้วถึง 109 คดี และปัจจุบันยังมีคดีที่ค้างอยู่ในการพิจารณาเพียง 30 คดีเท่านั้น
2. การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้รองรับภารกิจ เช่น ให้มีระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดการงานคดี เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดการงานคดีให้มีประสิทธิภาพ
3. การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ขององค์กร และให้ประชาชนมีความเข้าใจ การทำความร่วมมือกับศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ โดยงานบางส่วนได้เสร็จสิ้นแล้วตามที่นายวสันต์ ได้ให้สัญญาไว้กับคณะตุลาการเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 54 ว่า จะอยู่ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งไปยังประธานวุฒิสภา ถึงการลาออกของนายวสันต์ เรียบร้อยแล้ว
นายพิมล ยืนยันด้วยว่า การลาออกของนายวสันต์ ไม่ได้เกี่ยวกับแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งหลังจากนี้ นายวสันต์ จะใช้เวลาในการเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค เกี่ยวกับชีวิตการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้จะแล้วเสร็จ ส่วนงานคดีที่สำคัญในขณะนี้ เช่น คำร้องที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และการพิจารณาสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั้น คณะตุลาการทั้ง 8 คนที่เหลือ ก็จะดำเนินการพิจารณาต่อไป คาดว่าคณะตุลาการจะเห็นชอบให้ นายจรูญ อินทจาร ตุลาการผู้อาวุโสสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมไปจนกว่าจะมีประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยคดีต่อจากนี้ ไม่อยากให้สังคมกังวลว่าตุลาการจะไม่สามารถหามติที่เด็ดขาดได้ เพราะตุลาการที่เหลือมี 8 เสียง เนื่องจากที่ผ่านมาการพิจารณาคดีของตุลาการค่อนข้างมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน หรือถ้ามีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถหาเสียงที่เด็ดขาดได้ คณะตุลาการจะทำการอภิปรายต่อ จนกระทั่งแน่ใจว่า ได้เสียงที่เด็ดขาด จึงจะลงมติ รวมทั้งกรณีดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
“การลาออกของท่านวสันต์ เป็นความประสงค์ส่วนตัวจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะปกติศาลรัฐธรรมนูญ ก็เจอแรงเสียดทานทางการเมืองอยู่แล้ว ซึ่งท่านประสงค์ที่จะลาออกตั้งแต่เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าขณะนั้นมีสถานการณ์การเมืองภายนอกศาลฯ จึงได้ผ่อนคลายจนกระทั่งมายื่นลาออกในครั้งนี้ จึงชัดเจนว่า แรงเสียดทานที่ผ่านมา ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจ และตุลาการที่เหลือก็ไม่ได้กังวลต่อแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับจากนี้ เนื่องจากการพิจารณาของคณะตุลาการ จะยึดหลักผลประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ประชาชน และประชาธิปไตย”นายพิมล กล่าว
เมื่อถามว่า การพิจารณาของคณะตุลาการที่เหลือจะเป็นปัญหาหรือไม่ เพราะในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นั้น มีผู้ที่เตรียมจะคัดค้านตุลาการบางคน ไม่ให้เป็นองค์คณะ นายพิมล กล่าวว่า ประเด็นยังไม่เกิด จึงคาดการณ์และตอบในขณะนี้ไม่ได้
นายพิมล กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ทางวุฒิสภาจะต้องดำเนินการสรรหาให้ได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ให้ได้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่จะเข้ามานั้น จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี แม้ว่าตุลาการ 8 คนที่เหลือ จะเหลือวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปีเศษ เนื่องจากเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 51 โดยเมื่อวุฒิสภามีมติเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้ว ก็จะมาร่วมกับ 8 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมพิจารณา คัดเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ก่อนที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ในคราวเดียวกัน

** ปธ.วุฒิฯรอหลัง1 ส.ค.นัดประชุมสรรหา

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่าวุฒิสภาได้รับหนังสือการยื่นลาออกของนายวสันต์ แล้ว โดยการลาออกจะมีผลในวันที่ 1 ส.ค. ดังนั้น ต้องรอให้ถึงกำหนดก่อน จึงจะเชิญคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องคัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน เพื่อมาเป็นกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิฯตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 204 (3) (4) มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นจะได้เสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้น ต่อประธานวุฒิสภา
ทั้งนี้ มติในการคัดเลือกจะต้องลงคะแนนอย่างเปิดเผย และมีคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ก่อนที่จะส่งเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาคัดเลือกว่า จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมากเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบประวัติก่อนการคัดเลือกด้วย

**"มาร์ค"ชมสปิริต"วสันต์"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายวสันต์ ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า เชื่อว่าเป็นการทำตามสิ่งที่ได้ลั่นวาจาไว้ ส่วนจะมีแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่มีข่าวและเข้าใจกันมาระยะหนึ่งแล้วว่ามีข้อตกลงในลักษณะนี้อยู่ ซึ่งนายวสันต์ ก็พูดชัดว่าความจริงต้องออกก่อนหน้านี้ แต่ที่ไม่ออกเพราะไม่ต้องการให้เห็นว่าเป็นเรื่องของการถูกกดดัน และตนก็หวังว่าแรงกดดันจากกลุ่มคนเสื้อแดงต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่มีผลต่อการทำงานของตุลาการ จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ยอมจำนนกับวิธีการแบบนี้ เพราะการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสูงสุดของประเทศ และต้องรักษากติกาของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นเรื่องที่ร้องเข้าไปถ้าเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ล้วนแต่เป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น
นายอภิสิทธิ์ เชื่อว่า การลาออกของนายวสันต์ จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอยู่ที่ตัวองค์กร คนที่ทำหน้าที่ ก็ต้องพิสูจน์ต่อไป ส่วนกรณีของนายวสันต์ ก็ถือว่ารักษาคำพูดถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และเห็นว่าการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตุลาการทุกท่านเข้าใจดีว่ากำลังตกเป็นเป้า เพราะรัฐบาลชุดนี้ทำในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีเงินกู้ 2 ล้านล้าน โดยรัฐบาลใช้วิธีเอามวลชนที่สนับสนุนตัวเองเข้าไปกดดัน จึงอยากเรียกร้องว่า ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ควรให้ความคุ้มครอง ให้ความมั่นใจกับตุลาการในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
สำหรับคดีที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายอภิสิทธิ์ ขาดคุณสมบัติความเป็นส.ส. เนื่องจากถูกคำสั่งปลดออกจากทหารนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีความกังวล แม้ว่านายวสันต์จะลาออก เพราะจะมีตุลาการใหม่เข้าไปทำหน้าที่พิจารณา โดยทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการปกติ แต่บังเอิญเรื่องของตน อาจจะยุ่งหน่อย เพราะอยู่ในการพิจารณาของ 4 ศาล คือ ศาลปกครอง ศาลอาญา ศาลแพ่ง และศาลรัฐธรรมนูญ

** แนะ"ชัช ชลวร" ดู"วสันต์"เป็นตัวอย่าง

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics)กล่าวว่า การประกาศลาออกจากตำแหน่งของนายวสันต์ คงทำให้หลายคนสงสัยไม่น้อยว่า เหตุผลลึกๆ ที่แท้ใจริง คืออะไรกันแน่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นองค์กรสำคัญ และมีส่วนชี้ขาดในสถานการณ์วิกฤติ และในขณะนี้ก็มีคำร้องสำคัญที่ทุกฝ่ายรอคำวินิจฉัยอยู่ เช่น คำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และกรณีสถานภาพ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะรวมทั้งคำร้องที่อาจมีการยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เช่น ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณากัน ในสภาเดือนหน้านี้
ทั้งนี้ เหตุผลในการลาออกของนายวสันต์ ที่บอกว่า ได้ปรับวางโครงสร้างสำนักงานเรียบร้อยแล้ว และให้สัญญากับตุลาการว่า จะทำหน้าที่แค่ 2 ปีแล้วลาออกนั้น คงต้องเคารพการตัดสินใจของท่าน แต่ก็น่าเสียดายเพราะเป็นคนดี มีความรู้ ตรงไปตรงมา และคำวินิจฉัยส่วนตนของนายวสันต์หลายกรณี มีมาตรฐานและบรรทัดฐานชัดเจนคนหนึ่ง
นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหานอกองค์กรทั้งนั้น โดยเฉพาะขบวนการกดดัน และทำลายความน่าเชื่อถือจากเครือข่ายระบอบทักษิณ มีการข่มขู่คุกคาม ทั้งใต้ดิน บนดิน และไม่ได้รับการห้ามปรามจากรัฐบาลเหมือนรู้เห็นเป็นใจไปด้วย และที่น่าเป็นห่วงก็คือ การลาออกของนายวสันต์ครั้งนี้ อาจส่งผลให้ขบวนการกดดันคุกคามองค์กรอิสระได้ใจ และขยายผลมากขึ้น
ในกรณีเดียวกันนี้ นายชัช ชลวร ตุลาการอีกคน ก็ควรพิจารณาตัวเองเพราะมีข่าวว่าเคยให้สัญญาว่า เป็นประธานครบ 2 ปีจะลาออก แต่อยู่เลยมาจน 3 ปี และมีเหตุคลิปหลุดของเลขานุการส่วนตัว คือนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ จัดฉากวิ่งเต้นในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ นายชัช จึงลาออกจากประธาน แต่ไม่ยอมลาออกจากตุลาการด้วย

** "ตู่" ชี้เป็นสัญญาณอันตรายของรัฐบาล

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การลาออกของนายวสันต์ สามารถมองได้ 2 กรณี คือ 1. ภารกิจในการเตรียมวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการแก้ไขรธน. หลังจากนี้สำเร็จลุล่วง มีการเตรียมการไว้แล้ว หรือ 2. ภารกิจในการวินิจฉัยคดีที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 ส.ค.นี้ ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่นายวสันต์จะรับได้ จึงมีบุคคลอื่นอาสาขอทำแทน
ดังนั้นขอย้ำเตือนไปยังรัฐบาลว่า สถานการณ์เวลานี้ของรัฐบาลไม่ปลอดภัย ทั้งกรณีศาลปกครองวินิจฉัยให้โครงการบริหารจัดการน้ำต้องผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์ และฝ่ายตรงข้ามใช้โอกาสนี้ ยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. รวมถึงการที่ศาลรธน. รับวินิจฉัยกรณี ส.ส.-ส.ว. 312 คน ดำเนินการแก้ไขรธน. มาตรา 68 ชัดเจนว่าฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกำลังใช้องค์กรอิสระในการล้มรัฐบาล เพราะแน่นอนว่า ไม่มีฝ่ายตรงข้ามใดยอมให้รัฐบาลถือเงินมหาศาล รวมกว่า 5 ล้านล้านบาท จากงบประมาณโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 กว่า 2.5 ล้านล้านบาท
"เพราะในวันที่รัฐบาลไม่มีทั้งเงิน ไม่มีอำนาจ มีแต่พลังประชาชน ยังสามารถล้มขั้วอำมาตย์ได้ และถ้าวันนี้รัฐบาลมีทั้งพลังประชาชน มีทั้งเงิน ทั้งอำนาจ ฝ่ายตรงข้ามจะยิ่งล้มยากขนาดไหน เพราะฉะนั้นฝ่ายนั้นเขาไม่ยอมแน่"
ดังนั้นในสมัยเปิดประชุมสภา เดือน ส.ค.นี้ ขอย้ำว่า ให้รัฐบาลนำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เเละ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาพิจารณาก่อน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 อย่ากลัวการข่มขู่ของฝ่ายค้าน จนเลื่อนร่างนิรโทษไว้ทีหลัง เพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย มีเวลาพิจารณา120 วัน ยังเหลือเวลาอีก 2 เดือน ถึงวันที่ 1 ต.ค. แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สามารถพิจารณารวดเดียว 3 วาระ ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน ก็เสร็จสิ้น เชื่อว่าไม่กระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแน่นอน เพราะร่าง พ.ร.บ.ไม่เหมือนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเว้นระยะเวลาพิจารณา ดังนั้น ขอให้รัฐบาลรักษาน้ำใจประชาชน เร่งช่วยเหลือนักโทษการเมืองออกมา เพื่อให้ประชาชนมีกำลังใจ ออกไปปกป้องรัฐบาล
ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53 นั้น นายจตุพร ระบุว่า ทางกลุ่มญาติสามารถเสนอได้ ไม่ขัดข้อง เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

** จับตา"สุภา"เสียบป.ป.ช.แทน"กล้านรงค์"

นายจตุพร ยังกล่าวด้วยว่า กรณีองค์กรอิสระที่เป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาลนั้น ไม่ใช่มีเพียงโครงการบริหารจัดการน้ำที่น่ากังวล แต่โครงการรับจำนำข้าวก็น่าจับตาเช่นเดียวกัน เพราะคดีอยู่ในการพิจารณาของป.ป.ช. โดยอยากให้จับตาการครบวาระการดำรงตำแหน่งของ นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ว่าจะมีนางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง มาเสียบแทนหรือไม่ และจะส่งผลต่อการพิจารณาคดีรับจำนำข้าวของรัฐบาลอย่างไร
นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ของรัฐบาลที่มีทั้ง ร่าง พ.ร.บ.โครงการต่างๆ เปรียบเสมือนมีมีดมาจ่อคอหอยอยู่ 6 เล่ม อยู่ที่ว่าอีกฝ่ายจะกดมีดเล่มใดก่อนเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ การลาออกของนายวสันต์ สามารถมองได้หลายรูปแบบ ประการแรก คือ เป็นเรื่องภายใน การลาออกจากประธานอาจเป็นเรื่องของสมบัติผลัดกันชม หวังผลเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือไม่ โดยไม่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง ประการที 2 คือ มองได้ว่า เป็นเรื่องการเมือง ตั้งข้อสงสัยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวางภารกิจเสร็จสิ้น มีการตกลงเตรียมการในการวินิจฉัยคดีหลังจากนี้เรียบร้อยแล้วหรือไม่ โดยน่าสังเกตว่า นายวสันต์ เคยเป็น 1 เสียงตุลาการ ที่ให้ความเห็นในคำวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจของรัฐสภา ดังนั้นหากหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การกระทำของ 312 ส.ส.และ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญนั้น การพิจารณาคดี 2 ครั้ง จะไม่สอดคล้องกัน จะเป็นการยากต่อการอธิบายให้สังคมเข้าใจ เพราะนายวสันต์ เคยลงความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจก้าวก่ายตั้งแต่แรก

**"เหลิม"ไม่มอง"วสันต์"เป็นอุปสรรคแก้รธน.

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่านายวสันต์ เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล และไม่ได้ดูว่าใครอยู่ ใครไป แล้วมีปัญหา ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิด ก็จบ ทั้งเรื่องการแก้ไขรธน. และการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง วันหนึ่งจะแถลงข่าวให้ฟังอย่างละเอียด เพราะไม่มีใครถนัดเท่า พวกที่ออกมาแสดงความเห็นแล้วยุ่งวุ่นวาย เป็นพวกที่ไม่รู้เรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น