xs
xsm
sm
md
lg

“ตู่” โชว์ภูมิ “วสันต์” ไขก๊อกเหตุสรุปคำวินิจฉัยแก้ รธน.แล้ว-ถอยเหตุงานใหญ่เกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“จตุพร” วิเคราะห์ “วสันต์” ลาออกเหตุเตรียมคำวินิจฉัยแก้ รธน.แล้ว หรือคดีหลัง 1 ส.ค.ใหญ่เกินรับได้ ย้ำ รบ.ไม่ปลอดภัย โครงการน้ำเสี่ยงถูกยื่น ป.ป.ช. โยงอำมาตย์ใช้องค์กรอิสระเคสศาล รธน.วินิจฉัย 312 ส.ส.-ส.ว.ยื่นแก้ ม.68 เชื่อไม่ให้รบ.ถือเงินมหาศาล ยันดันล้างผิดแก๊งแดงก่อน เชื่อไม่กระทบ พ.ร.บ.งบฯ จับตา “สุภา” เสียบ “กล้านรงค์” ล้มจำนำข้าว “ธิดา” ชี้ เปลี่ยน ปธ.ศาลหวังเครื่องราชฯ และคนเก่าเคยเห็นต่าง หวั่นขัดกันเอง

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลลาดพร้าว นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แถลงว่า การที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นั้น สามารถมองได้ 2 กรณี คือ 1. ภารกิจในการเตรียมวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้สำเร็จลุล่วง มีการเตรียมการไว้แล้ว หรือ 2. ภารกิจในการวินิจฉัยคดีที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 ส.ค.นี้ยิ่งใหญ่เกินกว่า นายวสันต์จะรับได้ จึงมีบุคคลอื่นอาสาขอทำแทน

นายจตุพรกล่าวต่อว่า ขอย้ำเตือนไปยังรัฐบาลว่า สถานการณ์เวลานี้ของรัฐบาลไม่ปลอดภัย ทั้งกรณีศาลปกครองวินิจฉัยให้โครงการบริหารจัดการน้ำต้องผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์ และฝ่ายตรงข้ามใช้โอกาสยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณี ส.ส., ส.ว.312 คนดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ชัดเจนว่าฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกำลังใช้องค์กรอิสระในการล้มรัฐบาล เพราะแน่นอนว่าไม่มีฝ่ายตรงข้ามใดยอมให้รัฐบาลถือเงินมหาศาลรวมกว่า 5 ล้านล้านบาท จากงบประมาณโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 กว่า 2.5 ล้านล้านบาท

“เพราะในวันที่รัฐบาลไม่มีทั้งเงิน ไม่มีอำนาจ มีแต่พลังประชาชน ยังสามารถล้มขั้วอำมาตย์ได้ และถ้าวันนี้รัฐบาลมีทั้งพลังประชาชน มีทั้งเงิน ทั้งอำนาจ ฝ่ายตรงข้ามจะยิ่งล้มยากขนาดไหน เพราะฉะนั้นฝ่ายนั้นเขาไม่ยอมแน่” นายจตุพรกล่าว

นายจตุพรกล่าวเรียกร้องว่า ดังนั้นในสมัยเปิดประชุมสภาเดือน ส.ค.นี้ ขอย้ำว่าให้รัฐบาลนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เเละ ส.ส.พรรคเพื่อไทยขึ้นมาพิจารณาก่อนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประปี 2557 อย่ากลัวการข่มขู่ของฝ่ายค้านจนเลื่อนร่างนิรโทษกรรมไว้ทีหลัง เพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายมีเวลาพิจารณา 120 วัน ยังเหลือเวลาอีก 2 เดือนถึงวันที่ 1 ต.ค. แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสามารถพิจารณารวดเดียว 3 วาระใช้เวลาไม่เกิน 3 วันเสร็จสิ้น เชื่อว่าไม่กระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแน่นอน เพราะร่าง พ.ร.บ.ไม่เหมือนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องเว้นระยะเวลาพิจารณา ดังนั้นขอให้รัฐบาลรักษาน้ำใจประชาชน เร่งช่วยเหลือนักโทษการเมืองออกมา เพื่อให้ประชาชนมีกำลังใจออกไปปกป้องรัฐบาล

ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค. 53 นั้น นายจตุพรระบุว่า ทางกลุ่มญาติสามารถเสนอได้ไม่ขัดข้อง เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นายจตุพรยังกล่าวด้วยว่า กรณีองค์กรอิสระที่เป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาลนั้น ไม่ใช่มีเพียงโครงการบริหารจัดการน้ำที่น่ากังวล แต้โครงการรับจำนำข้าวก็น่าจับตาเช่นเดียวกันเพราะคดีอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. โดยอยากให้จับตาการครบวาระการดำรงตำแหน่งของนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.ว่าจะมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังมาเสียบตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.แทนหรือไม่ และจะส่งผลต่อการพิจารณาคดีรับจำนำข้าวของรัฐบาลอย่างไร

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.แถลงว่า ขณะนี้สถานการณ์ของรัฐบาลที่มีทั้งร่าง พ.ร.บ.โครงการต่างๆ เปรียบเสมือนมีมีดมาจ่อคอหอยรัฐบาลอยู่ 6 เล่ม อยู่ที่ว่าอีกฝ่ายจะกดมีดเล่มใดก่อนเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม นางธิดาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่า การลาออกของนายวสันต์นั้นสามารถมองได้หลายรูปแบบ ประการแรก คือ เป็นเรื่องภายใน การลาออกจากประธานอาจเป็นเรื่องของสมบัติผลัดกันชม หวังผลเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือไม่ โดยไม่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง ส่วนประการที่ 2 คือ มองได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง ตั้งข้อสงสัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวางภารกิจเสร็จสิ้น มีการตกลงเตรียมการในการวินิจฉัยคดีหลังจากนี้เรียบร้อยแล้วหรือไม่ โดยน่าสังเกตว่านายวสันต์เคยเป็น 1 เสียงตุลาการที่ให้ความเห็นในคำวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจของรัฐสภา ดังนั้น หากหลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การกระทำของ 312 ส.ส.และ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญนั้น การพิจารณาคดี 2 ครั้งจะไม่สอดคล้องกัน จะเป็นการยากต่อการอธิบายให้สังคมเข้าใจ เพราะนายวสันต์เคยลงความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจก้าวก่ายตั้งแต่แรก
กำลังโหลดความคิดเห็น