xs
xsm
sm
md
lg

สมช.ไม่เลิกจ้อบีอาร์เอ็น หนุนปล่อยคลิปต่อรองรัฐ รับโจรเจรจาเพิ่งบึ้มสอยครูตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกกลาโหมแถลงที่ประชุมสรุปไฟใต้ รอมฎอนสถิติน้อยลง นายกฯ สั่งเร่งตามงานพัฒนา ยันโจรใต้กดบึ้ม ด้านทัพเรือจัดเสวนา “เอกชัย” ชี้ไทยขาดผู้ประสานต่อเนื่อง สงสัยมาเลย์บีบเดินตามแผน จี้เปิดพื้นที่คุยทุกกลุ่ม “ภราดร” ป้องเพื่อนบ้านแค่อำนวยความสะดวก หนุนบีอาร์เอ็นปล่อยคลิปต่อรองรัฐ รับโจรเจรจาเพิ่งบึ้มไปหมาดๆ อ้างครูซวยไม่ได้หวังฆ่า ย้ำไม่เปลี่ยนกลุ่มคุย

วันนี้ (26 ก.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 11.30 น. พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมสภากลาโหมเป็นครั้งแรกว่า ในที่ประชุมยังได้มีการสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังคงดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงรอมฎอนและมีการปรับแผนให้รัดกุมตลอดเวลา แต่หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ภาคใต้ที่ผ่านมาถือว่า สถิติก่อเหตุน้อยลง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ได้กำชับให้ กอ.รมน.ติดตามงานพัฒนา รวมถึงโครงการต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนงานด้านยุทธการทางกองทัพภาคที่ 4 ดำเนินการได้ดีอยู่แล้วและยืนยันว่าเกิดจากข้อผิดพลาดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้กดระเบิดจนทำให้ครูเสียชีวิต กระทรวงกลาโหมขอแสดงความเสียใจ เจ้าหน้าที่ดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไม่ทำเรื่องนี้อย่างแน่นอน เราพยายามสร้างให้ทางประชาคมโลกเห็นถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยยึดหลักสันติวิธี การพูดคุยตามหลักกฎหมาย ยึดหลักด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพยายามทำทุกอย่าง เพราะขณะนี้ไม่มีฐานมวลชน ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นได้รับผลกระทบต่อครอบครัวเขาโดยตรง

ขณะที่หอประชุมกองทัพเรือ ราชนาวิกสภา ได้มีการจัดแสดงปาฐกถาหัวข้อ “การเจรจาสันติภาพทางออกวิกฤตชายแดนใต้” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ ร่วมบรรยายพิเศษ

โดย พล.อ.เอกชัยกล่าวถึงการพูดคุยสันติภาพ ว่า ทั่วโลกมีการใช้แนวทางการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งกว่า 100 ประเทศ แต่ประสบความสำเร็จและจบลงด้วยดีเพียง 41 ประเทศ เช่น ไอร์แลนด์เหนือใช้เวลาถึง 26 ปี อาเจะห์ อินโดนีเซียใช้เวลา 7 ปี สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จ เพราะนักการเมืองมีทักษะ มีความเชี่ยวชาญในการพูดคุยระหว่างประเทศ แต่ประเทศไทยไม่มีทักษะในจุดนี้ และการดำเนินการต้องมีความต่อเนื่องในทุกรัฐบาล ดังนั้น หากในอนาคตจะมีการเปลี่ยนผู้นำประเทศ เปลี่ยนผู้ที่ดำเนินการพูดคุย เช่น เลขาธิการ สมช. กระบวนการก็ต้องเดินหน้าต่อไปให้ได้ สิ่งสำคัญคือรัฐต้องพยายามเปิดพื้นที่การพูดคุยกับคนทุกกลุ่ม เพราะไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว อย่างไรก็ตาม ตนสงสัยในท่าทีของมาเลเซียที่พยายามบีบไทยและบีอาร์เอ็นเพื่อให้ทำตามในสิ่งที่ต้องการ

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาบีอาร์เอ็นรู้ทั้งหมดในสิ่งที่เราทำ ทั้งทางลับและเปิดเผย ดังนั้นไทยต้องพูดความจริง ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าคนที่ทางการไทยไปพูดคุยด้วยนั้นจะถูกตัวหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่คนที่ผมคุยและเลขาธิการ สมช.คุยนั้น เป็นคนเดียวกัน ซึ่งผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรู้หน้าตาหรือบันทึกหน้าตาพวกเขา เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อคนที่เราไปพูดคุยด้วย สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น และต้องมีหน่วยค้นหาความจริง เช่น กรณีที่เกิดการสังหาร 6 ศพล่าสุดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากไม่ใช่ฝีมือบีอาร์เอ็นแล้วเป็นฝีมือใคร เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐยืนยันว่าไม่ใช่ผู้กระทำ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องมาร่วมหาความจริงด้วยกัน” พล.อ.เอกชัยกล่าว

ด้าน พล.ท.ภราดรกล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นในขณะนี้ถือว่า อยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างก่อนการพูดคุยกับการพูดคุย ขอยืนยันว่ามาเลเซียเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่ผู้ไกล่เกลี่ย แม้จะเข้ามานั่งอยู่ในห้องประชุมด้วย แต่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องที่พักและสถานที่ประชุม ส่วนการที่บีอาร์เอ็นมีการเรียกร้องและตอบโต้ผ่านทางมาเลเซียนั้น เพราะมีการตกลงร่วมกันว่า หากจะมีการสื่อสารใดๆ ของสองฝ่ายจะให้ผ่านมาเลเซีย แต่มาเลเซียจะไม่แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะใดๆ สิ่งที่ยากที่สุดในการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นขณะนี้ คือ การทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ซึ่งคนนอกพื้นที่หมายถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย ตนเห็นว่าการที่บีอาร์เอ็นออกมาแถลงการณ์เรียกร้องผ่านยูทิวบ์นั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ไทยได้รู้ถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ของบีอาร์เอ็นเร็วขึ้นว่าต้องการสิ่งใดบ้าง ขอยืนยันว่าการพูดคุยสันติภาพขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามทฤษฎีและขั้นตอน ทั้งทางลับและเปิดเผย และการพูดคุยครั้งนี้เปิดเผยได้เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ลดลงอย่างชัดเจน มีประมาณ 20 เหตุการณ์ ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นฝีมือของขบวนการบีอาร์เอ็น 5-6 เหตุการณ์เท่านั้น โดยเฉพาะเหตุครูเสียชีวิตล่าสุด 2 รายที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส โดยบีอาร์เอ็นยอมรับว่าเป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น แต่ไม่ได้มีเจตนามุ่งทำร้ายครู

ทางด้าน น.อ.สมเกียรติกล่าวว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติ เห็นว่าสิ่งสำคัญในการพูดคุยสันติภาพคือบีอาร์เอ็น ต้องมีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่ต้องการจะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 แต่ปรากฏว่าในส่วนของระดับล่าง กลับมีการโฆษณาชวนเชื่อปลุกระดมเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตนมองว่า การพูดคุยสันติภาพมีมุมที่ดีหลายมุม และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงในพื้นที่ แต่สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือเงื่อนไข 2 ข้อสำคัญที่ทำให้มีการออกมาต่อสู้ คือ การสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นตัวเองของคนในพื้นที่ และการไม่ได้รับความเป็นธรรมของคนในพื้นที่ ในฐานะผู้ปฏิบัติ ตนยืนยันว่าคนเกือบทั้งหมดในพื้นที่อยากอยู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยากอยู่ในราชอาณาจักรไทย ไม่มีใครอยากอยู่ประเทศอื่น เชื่อว่าเรากำลังต่อสู้กับคนไม่มาก เพราะในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชาชน 2.2 ล้านคน มีพี่น้องไทยมุสลิม 1.8 ล้านคน อีกประมาณ 4 แสนคนเป็นไทยพุทธ แต่ที่จับอาวุธมาต่อสู้มีเพียง 2,900 คน

นอกจากนี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยังให้สัมภาษณ์ถึงเหตุลอบวางระเบิดชุดรักษาความปลอดภัยครูจนเป็นเหตุให้ครูเสียชีวิต 2 ราย ที่ จ.นราธิวาส ว่าตอนนี้ฝ่ายไทยกับกับบีอาร์เอ็นกำลังร่วมกับสืบสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบีอาร์เอ็นยอมรับว่าไม่ได้มีเป้าประสงค์ต่อครู แต่เป็นจังหวะที่ครูผ่านมาพอ โดยกลุ่มที่ก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มย่อยของบีอาร์เอ็น ดังนั้นจะเร่งจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อถามว่า มีการระบุว่ามีขบวนการอื่นนอกเหนือจากบีอาร์เอ็นก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนั้นจริงหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า จากข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งไทยกับบีอาร์เอ็นกำลังสืบสภาพร่วมกัน โดยจะได้สถิติที่ชัดเจนหลังจากเดือนรอมฎอนนี้ ใน 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนมีกว่า 20 เหตุการณ์ แต่เป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น 5-6 เหตุการณ์เท่านั้น นอกจากนั้นเป็นฝีมือของกลุ่มอื่นและภัยแทรกซ้อนอื่นๆ

เมื่อถามว่า จะมีการเปลี่ยนกลุ่มหรือบุคคลในการพูดคุยสันติภาพหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวยืนยันว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนกลุ่มพุดคุย การพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไปประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือคือการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ช่วงเดือนรอมฎอนว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน และยืนยันว่ามาเลเซียเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกไม่ใช่ผู้ไกล่เกลี่ย ส่วนการเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนภายในพื้นที่กับการพูดคุยสันติภาพนั้น ขณะนี้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สมช. และสถาบันพระปกเกล้ากำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น