xs
xsm
sm
md
lg

ผุดแผน “สันติสุข 4567” ดูแลใต้ช่วงรอมฎอน ลั่นไม่ประมาทแม้ประกาศหยุดยิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จัดทำแผนสันติสุข 4567 ดูแลพื้นที่ช่วงเดือนรอมฎอน เน้นปฏิบัติการเชิงรับและบังคับใช้กฎหมาย เป้าหมายอ่อนแอ-สถานที่ราชการ เปลี่ยนจุดสกัดเป็นจุดอำนวยความสะดวก ชี้ 40 วันบทพิสูจน์บีอาร์เอ็น อีกด้านหนักใจยกฟ้องคดีก่อการร้าย เหตุขาดน้ำหนัก จี้ตำรวจเร่งหาหลักฐานอย่าปล่อยผู้ก่อเหตุลอยนวล

วันนี้ (15 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าส่วนงานโฆษกกระทรวงกลาโหม สารสนเทศ และกิจการพลเรือน ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ และแถลงข่าวการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยนายเกียรติศักดิ์ จันทรา รองอธิบดีกรมโยธาและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พ.อ.ยุทธ พรหมพงษ์ ผู้แทนจากสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายวิชช์ จีระแพทย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานวิชาการ สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ต.อ.อนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนจาก 3 เหล่าทัพ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งที่ 4

โดย พ.อ.บรรพตกล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดทำแผนสันติสุข 4567 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานของกำลังในพื้นที่ในห้วงเดือนรอมฎอน โดยมุ่งหมายให้พื้นที่มีความปลอดภัยสูงสุดด้วยการเพิ่มระดับความเข้มข้นในการปฏิบัติการเชิงรับ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีการปฏิบัติของผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ให้ก่อเหตุในห้วงเวลาสำคัญ โดยเพ่งเล็งไปที่กลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ และสถานที่ราชการสำคัญ พร้อมกับอำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่ในการปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งนี้ จากแผนงานการปฏิบัติภารกิจพิเศษเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา ทางศูนย์สันติสุขได้สกัดการบ่มเพาะในสถานศึกษาจำนวน 48 โรงเรียน ซึ่งผลการประเมินระดับความพึงพอใจของเด็กและเยาวชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง ส่วนแผนงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เราสามารถสร้างมวลชนจากงานยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก โดยประชาชนพึงพอใจที่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งจากการติดตามผลผู้ใช้ยาเสพติดในระดับไม่รุนแรงที่ผ่านเข้าโครงการสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้มากถึง 70% ส่วนการต่อสู้เพื่อเอาชนะการจัดตั้งเขตอำนาจรัฐซ้อนระดับหมู่บ้านในพื้นที่ เราได้กำหนดความเร่งด่วนในปี 56 จำนวน 136 หมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และประชาชนมีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหมู่บ้านจัดตั้งลดลง

พ.ต.อ.อนุชากล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยตามแผนงานเพื่อให้เกิดสันติสุขในช่วงเทศกาลรอมฎอน โดยกำหนดห้วงเวลาระหว่างวันที่ 24 มิ.ย. - 23 ส.ค. 56 โดยเน้นการดำเนินการต่อเป้าหมายทุกภาคส่วน นำกำลังปฏิบัติทางยุทธวิธีเน้นงานรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินตามมาตรการเชิงรับ ส่วนปฏิบัติการเชิงรุกพร้อมกดดันพิสูจน์ทราบแหล่งหลบซ่อนวัตถุระเบิด ยาเสพติด จัดชุดปฏิบัติการค้นหาสืบทราบติดตามจับกุมผู้กระทำผิด ทั้งนี้ ทางทางเราได้รับมอบภารกิจให้สนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรมรวมพลังมวลชนสร้างกระแสให้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความดี และลดระดับการปฏิบัติการ เชิงรุกทางยุทธวิธี เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างกับรัฐกลับสู่มาตุภูมิ และปรับจุดตรวจจุดสกัดเป็นจุดอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนตั้งแต่ 6 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป

นายวิชช์กล่าวถึงปัญหาการยกฟ้องคดีก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ว่า เป็นเรื่องที่หนักใจมาก เพราะคดีที่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมที่มาเบิกความในศาลส่วนใหญ่เป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการดำเนินคดีกับจำเลยและยังขาดวัตถุพยานและพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ขาดความเชื่อมโยงต่อคดี จึงทำให้คดีเกี่ยวกับความมั่นคงกว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์ต้องยกฟ้องไป อยากจะเสนอให้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นแม่งานตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาดูแลกระบวนการคุมครองพยานในชั้นศาลเพราะบางครั้งพยานไม่กล้ามาให้ปากคำในชั้นศาล เนื่องจากเกรงว่าครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่จะได้รับอันตราย จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องนี้ด้วยการกันพยานออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ซึ่งในต่างประเทศเขาก็ทำกันแต่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่วนผู้ต้องหาที่หลุดคดีไปนั้นอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อหาพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งหาวัตถุพยานที่สำคัญมาดำเนินคดีเพื่อป้องกันการยกฟ้อง ทั้งนี้อยากให้ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงมีความเข้มข้นมากขึ้นต้องเอาตัวผู้ต้องหามาลงโทษให้ได้ โดยกรมอัยการสูงสุดได้ตั้งสำนักงานคดีฝ่ายความมั่นคงขึ้นที่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 9 โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค. 2556 ซึ่งคัดเลือกอัยการที่เก่งที่สุดมารับผิดชอบคดีเหล่านี้โดยเฉพาะคดีการลอบวางระเบิดซึ่งต้องดำเนินคดี โดยไม่ปล่อยให้หลุดคดีไปได้ง่ายๆ

ด้าน พ.อ.จรูญกล่าวถึงกรณีที่ยังมีการก่อเหตุอย่างต่อเนื่องแม้ว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ประกาศยุติการก่อเหตุความรุนแรงช่วงรอมฎอนว่า จากการพูดคุยร่วมกันในส่วนไทยคิดว่ายังมีโอกาสเกิดการก่อเหตุได้ เพราะข้อเสนอถือเป็นแนวทางการพูดคุยที่ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก แต่บางกลุ่มที่นิยมความรุนแรงอาจจะเห็นต่างจึงออกมาเคลื่อนไหวและยืนยันที่จะใช้แนวทางนี้ การจะให้รับประกันว่าจะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น 100% คงยาก แต่เราได้เตรียมการเน้นย้ำกำชับทุกภาคส่วนให้ระมัดระวัง เติมเต็มความสุขให้ประชาชนจากการปฏิบัติการในเชิงรุกก็จะเน้นเป็นเชิงรับ ด่านตรวจค้นจะเป็นด่านอำนวยความสะดวก ส่วนจะเชื่อถือคำพูดของกลุ่มบีอาร์เอ็นได้หรือไม่นั้น ต้องรอพิสูจน์ แต่เราต้องไม่ประมาท 40 วันในช่วงรอมฎอนอาจจะเป็นการพิสูจน์กลุ่มบีอาร์เอ็นว่าจะตอบรับเสียงของประชาชนหรือไม่ คาดว่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี โดยจะนำ 40 วันนี้เป็นตัวตั้งและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็จะพ่ายแพ้ไปโดยปริยาย

เมื่อถามถึงสาเหตุที่กลุ่มบีอาร์เอ็นรวม อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการก่อเหตุ เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่จะยุติการก่อเหตุในพื้นที่ พ.อ.จรูญกล่าวว่า อ.สะเดาเป็นพื้นที่ช่องทางเข้าออก และสามารถส่งกำลังบำรุงของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งการประกาศนำมารวมตามข้อเสนอของบีอาร์เอ็นนั้นเป็นสิ่งที่อ่อนไหว เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และมีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการเข้า-ออกไปมา ซึ่งจะต้องไปพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และ กอ.รมน. ภาค เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยข้อเสนอดังกล่าวกำลังพิจารณากันอยู่ ทั้งนี้ การพูดคุยตนไม่อยากให้มองว่าเป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ หรือเป็นการชิงไหวชิงพริบ แต่เป็นการหาจุดร่วมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ขณะที่ พ.อ.บรรพตกล่าวว่า ถือเป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ต้องการระบุอะไรลงไปก็จะระบุ ระหว่างที่รอทาง สมช.พิจารณานั้น หน่วยความมั่นคงมีแนวโน้มที่จะลดระดับความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ โดยเราต้องยึดหลักการของเรา ไม่ใช่ไปฟังเขา โดยจะดูระดับความเข้มข้นของการก่อเหตุและแยกเป็นรายอำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี 33 อำเภอ รวมกับ 4 อำเภอในจ.สงขลา แต่ปัจจุบันเรามีการลดการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 4 อำเภอ จ.สงขลา และอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่จะลดการใช้กฎหมายพิเศษอีกหลายอำเภอ สำหรับแนวทางการลดการก่อเหตุช่วงรอมฎอนนั้นถือเป็นครั้งแรกที่มีข้อเสนอร่วมกัน ถือเป็นความก้าวหน้าของการพูดคุย ขอชื่นชมและจะสามารถตอบโจทย์ต่อสังคมได้ว่าการพูดคุยมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด

ขณะที่ น.อ.วิพันธุ์ ชมะโชติ รองโฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า การปฏิบัติการดูแลของกองทัพเรือในช่วงรอมฎอนสอดคล้องกับภาคใหญ่ โดยเน้นเชิงรับ ลดการปิดล้อมตรวจค้น พร้อมกับตั้งจุดตรวจควบคู่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ปฏิบัติศาสนกิจ แต่ให้ระมัดระวังเขตชุมชน พร้อมทั้งดูแลที่ตั้งของตนเองด้วยความไม่ประมาท หากมีเหตุเฉพาะหน้าทางหน่วยนาวิกโยธินก็พร้อมปฏิบัติการอย่างเข้มข้นเหมือนที่ผ่านมา ด้าน น.อ.ประภาส สอนใจดี ผู้แทนจากกองทัพอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศจะเน้นดูแลสนามบินบ่อทอง จ.ปัตตานี โดยจะประสานไปยังกองกำลังของนาวิกโยธินและกองกำลังในพื้นที่ เนื่องจากเป็นสนามบินที่มีความสำคัญในการใช้ขนส่งการปฏิบัติการทางทหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น