“ปานเทพ” ชี้มีหลายฝ่ายจ้องก่อจลาจล โดยอ้างเหตุ พ.ร.บ.นิรโทษฯเข้าสภา 7 ส.ค. เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เชื่อหากยังดื้อไม่ถอนร่างฯ อาจร้ายแรงถึงขั้นควบคุมไม่ได้ ลั่นรัฐบาลต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด พร้อมย้ำ พธม.ค้านทุกฉบับ เตรียมประเมินสถานการณ์รอบด้านก่อนกำหนดมาตรการ
วันที่ 24 ก.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ถึงประเด็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ โดยจะนำเข้าสู่สภาวันที่ 7 ส.ค.
โดยนายปานเทพกล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างล่อแหลม บางคนพุ่งเป้ามาที่พันธมิตรฯ ว่าจะมีมติอย่างไร ซึ่งพันธมิตรฯ ยังไม่มีการประชุมอะไร แต่ตนมายืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเราไม่เห็นด้วยกับนิรโทษกรรมทุกฉบับ แม้กระทั่งฉบับนายวรชัย
ส่วนการชุมนุมต่อต้านการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภานั้น ในเมื่อรัฐบาลวางรูปแบบเอาไว้ว่าประชาชนที่ใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธสงคราม เผาสถานที่ราชการ สามารถรับการละเว้นโทษได้ ถ้าวางบรรทัดฐานเอาไว้แบบนี้จะมีคนบางกลุ่มที่ต่อต้านทักษิณคิดแบบที่เสื้อแดงทำ ว่าสามารถก่อความรุนแรงได้ เพราะวันหนึ่งจะมีความชอบธรรมที่จะได้นิรโทษกรรม เพราะเป็นการชุมนุมทางการเมืองเหมือนกัน มันอยู่ที่รัฐบาลต้องการออกแบบให้เป็นเช่นไร
นายปานเทพกล่าวต่อว่า เนื่องจากกรณีนี้เป็นการเอาประโยชน์ของมวลชนมาเป็นตัวล่อ มันเป็นหมากบังคับให้มวลชนเสื้อแดงที่ได้ประโยชน์ต้องออกมาชุมนุมเพื่อปกป้องตัวเอง เช่นเดียวกับฝ่ายตรงข้ามที่เห็นว่าเป็นความอยุติธรรมก็จะออกมาเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะมีพันธมิตรฯเป็นแกนนำหรือไม่ก็ตาม
โดยเฉพาะสถานการณ์เช่นนี้มีคนบางกลุ่มอยากสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย เพราะเชื่อว่าหากพัฒนาไปสู่การจลาจล หรือต่อสู้เป็นสงครามกลางเมือง จะนำไปสู่ข้อยุติบางประการที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนเห็นประโยชน์ตรงนี้มีหลายฝ่าย ทั้งนักโทษชายทักษิณ อาจเอาสถานการณ์นี้อ้างความวุ่นวายออก พ.ร.ก.ล้างความผิดให้ทุกฝ่ายรวมถึงตัวเองไปด้วย ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อาจเห็นว่าสถานการณ์นี้เหมาะสมที่สุดแล้วในการส้รางความวุ่นวาย ต้องการจุดแตกหักอยู่พอดี
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลยังดันทุรัง เดินหน้าต่อไป ตนเชื่อว่าสถานการณ์อาจถึงขั้นควบคุมไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น หน้ากากขาว ทุกคนใส่หน้ากากหมด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทุกคนอยู่ภายใต้อุดมการณ์หน้ากากขาวทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจมีทั้งฝ่ายแทรกแซง แทรกซึม ชิงการนำ สร้างสถานการณ์ ทุกคนสามารถทำได้หมด เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ยิ่งสถานการณ์มีแรงจูงใจอยู่แล้วในเชิงขั้วอำนาจ มันเกิดจึงขึ้นได้ตลอดเวลา ตนเชื่อว่ารัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจเอง ถ้าเดินหน้าต่อ ต้องรับความเสี่ยงและรับผิดชอบทั้งหมด จะลอยตัวไม่ได้
นายปานเทพกล่าวต่อว่า พันธมิตรฯ ต้องมีท่าทีและจุดยืนแน่ แต่เราคิดในเชิงยุทธศาสตร์และหากชุมนุมต้องได้รับชัยชนะเท่านั้น ต้องไม่มีการพลาดและลองใหม่ ถ้ามีความเสี่ยงต้องคุ้มค่า เราต้องประเมินสถานการณ์รอบด้าน แล้วจึงกำหนดมาตรการ โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลา ว่าเมื่อไหร่ ทำอะไร นั้นสำคัญต่อยุทธวิธีอย่างมาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องประกาศแถลงข่าวเสมอไป บางมาตรการอาจไม่จำเป็นต้องแถลงข่าวให้รัฐบาลและประชาชนรู้ล่วงหน้าก็ได้
นายปานเทพยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยสามารถสันติได้ ถ้านักการเมืองรู้จักคำคำเดียว คือ เสียสละ หากนักการเมืองเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ปัญหาจะไม่เกิด ความปรองดองจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ด้านนายพิชายกล่าวว่า มวลชนที่จะออกมาต่อต้านการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ เข้าสภา จะมีมากขนาดไหน วันนี้ยังประเมินได้ยาก ขึ้นอยู่กับว่าจังหวะต่อไปจะระดมคนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจมีการผสมโรงเรื่องอื่นเข้ามาด้วย โดยอาศัยจังหวะนี้จัดการรัฐบาลไปด้วย ซึ่งตอนนี้มีจำนวนหลายกลุ่มที่ต้องการล้างระบอบทักษิณ อาจอาศัยเงื่อนไข 7 ส.ค.นี้
ซึ่งถ้าหากฝ่ายแดงถือวันที่ 7 ส.ค. เป็นเชิงสัญลักษณ์ของเขา ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้นมา อาจมีมวลชนออกมาชุมนุม และพัฒนาไปสู่การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าการค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะกระแสต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ อย่างที่ประเทศบัลแกเรีย ก็มีการชุมนุมต่อเนื่องมาเป็นระยะ พอเปิดประชุมรัฐสภา ประชาชนก็ปิดล้อมและขังรัฐบาลไว้เลย ซึ่งใช้คนแค่หลักพันเองก็สามารถปิดกั้นรัฐสภาได้หมด แบบนี้อาจสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยก็เป็นไปได้ เพราะหากผู้ชุมนุมสามารถล้อมสภาได้ จะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลได้ค่อนข้างสูงกว่าชุมนุมอยู่รอบนอก
ส่วนคนที่ต้านรัฐบาลอาจอาศัยวันที่ 7 ส.ค. เป็นเชิงสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับระบอบทักษิณอย่างเป็นทางการ และอาจนำไปสู่การแตกหักในอนาคตได้ ฉะนั้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้ต้องจับตาในการเดินเกมการเมืองของหลายๆฝ่าย เพราะฝ่ายต้านทักษิณตอนนี้มีเยอะมาก และบางฝ่ายก็พัฒนาไปสู่ความต้องการความรุนแรงก็มี เป็นการเมืองที่น่าติดตามมาก
นายพิชายกล่าวฝากทิ้งท้ายว่า หลายฝ่ายที่หวังการจลาจล ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามต้องคิดใหม่ ความรุนแรงไม่ได้สร้างประโยชน์ เพราะหากจุดติดขึ้นมาจะไม่สามารถควบคุมได้ และตอกย้ำค่านิยมความรุนแรงมากขึ้น ตนไม่อยากเห็นประเทศไทยก้าวเข้าสู่สงครามกลางเมือง แต่อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงแบบสูญเสียให้น้อยที่สุด หรือไม่สูญเสียเลยก็จะดี ถ้าทำได้ประเทศจะมีทิศทางพัฒนาที่มั่นคงยิ่งขึ้น แต่ถ้าเกิดการสูญเสียมากจะเป็นบาดแผลของสังคม ในประวัติศาสตร์ชาติไทยสามารถเปลี่ยนแปลงในทางสันติได้ ถ้าชนชั้นนำไม่ดื้อรั้น แต่ถ้าดื้อรั้นก็มีแนวโน้มรุนแรง