“ชูชาติ ศรีแสง” ระบุ พ.ร.บ.ปรองดองเหลิม เกี่ยวการเงิน นำเข้าสภาโดยนายกฯ ไม่เซ็นรับรองขัด รธน.มาตรา 142 วรรคสอง ส.ส.ร่วมลงมติขัด ม.122 และล้มล้างการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ขัด ม.309 เชื่อท้ายสุดร่างปรองดองจะตกไปตาม รธน.มาตรา 154 วรรคสาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แสดงอาการมั่นใจ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติจะพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านได้ช่วงปีใหม่ว่า
“ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่ดอกเตอร์กฎหมายเฉลิม อยู่บำรุง มั่นอกมั่นใจว่าจะพาทักษิณกลับประเทศไทยอย่างคนบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้มลทินใดๆ ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นเช่นนั้น อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยหรือเป็นหมันก็ได้
ประการแรก ได้เคยกล่าวแล้วว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ รัฐต้องจ่ายเงินจำนวน 46,000 ล้านบาทให้แก่ทักษิณ เมื่อเป็นการจ่ายเงิน จึงเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 (2) ซึ่งจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 142 วรรคสอง การที่นายเจริญ จรรย์โกมล รับบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี จึงน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 142 วรรคสอง
ประการต่อมา รัฐธรรมนูญมาตรา 122 บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถึงเวลาลงมติไม่ว่าในวาระ 1 หรือ 3 เฉพาะที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าลงมติเห็นด้วยก็เท่าลงมติเพื่อให้ตนเองพ้นจากการกระทำความผิด ย่อมเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์แน่นอน ส่วนคนอื่นๆ ก็เป็นที่รับรู้กันของคนไทยทั้งปวงว่าทักษิณคือเจ้าของพรรคเพืิ่อไทย ส.ส.ในพรรคเปรียบเหมือนลูกจ้าง ใครจะได้รับสิทธิให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือไม่ จะได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี รมต. รมช. หรือตำแหน่งอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับทักษิณคนเดียว ในการประชุมพรรคเพื่อไทยทักษิณจะโทรศัพท์หรือใช้วิธีการอย่างอื่นเพื่อสั่งที่ประชุมเกือบทุกครั้ง แม้แก่การสไกป์เข้าที่เวทีการชุมนุมของพวกเสื้อแดงครั้งหลังสุดทักษิณก็พูดในลักษณะที่เป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย ครั้งอื่นๆ ก็เหมือนกัน ดังนั้น การร่วมลงมติเห็นด้วยเพืิ่อให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเพื่อช่วยเหลือทักษิณที่เป็นเจ้าของพรรค จึงเท่ากับเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยการครองงำของทักษิณและจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยทุกคน
ประการสุดท้าย ข้อความในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่กล่าวว่า ให้การกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดจาก คตส.เป็นอันระงับไป โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดนั้น
รัฐธรรมนูญมาตรา 309 บัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทําที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทํานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา มาตรา 36 บัญญัติว่า บรรดาประกาศและคําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือคําสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดและไม่ว่าจะ ประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปและให้ถือว่าประกาศหรือคําสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคําสั่งนั้นไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศหรือคําสั่งนั้นจะกระทําก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นประกาศหรือคําสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เมื่อ คตส.และการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญว่าให้มีผลใช้บังคับต่อไป การที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุว่า ให้การกล่าวหาว่ากระทำความผิดจาก คตส. ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.เป็นอันระงับไป ก็น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 309
ถ้่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยมีเนื้อหาไม่เปลี่ยนแปลง ก็น่าจะไม่ชอบและขัดต่อรัฐธรรมนูญถึง 3 มาตรา คือ มาตรา 122 มาตรา142 วรรคสอง และมาตรา 309
เชืิ่อได้ว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านการพิจาณาจากรัฐสภาแล้ว จะต้องมี ส.ส.หรือ ส.ว.เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ชอบหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 (1) แน่นอน ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ชอบหรือขัดรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอันตกไป คือไม่อาจประกาศใช้เพื่อให้มีผลบังคับเป็นกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคสาม
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ทักษิณจะได้อาศัย ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เป็นตราประทับว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องไร้มลทินทั้งปวง อย่างที่เจ้าของร่างต้องการ