xs
xsm
sm
md
lg

เหลิมวอนเลิกระแวงปรองดอง ขอแค่แม้วกลับบ้าน-ไม่คืนเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาว่า ตอนนี้อยู่ในสภาแล้ว ขอบอกไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ใช่กฎหมายการเงิน ที่ชอบมาพูดผิดๆ ถูกๆ เรื่องยึดทรัพย์นั้น คำว่ายึดทรัพย์ ในกฎหมายไม่มี เขาบอกให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ยึดทรัพย์เป็นคำชาวบ้านพูดกัน ชอบเผลอเรอไปผ่าความจริงตลอด พักผ่อนเสียบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในมาตราที่ 4 ของพ.ร.บ.ปรองดอง จะไม่ส่งผลให้มีการคืนเงินแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มี ล้านเปอร์เซ็นต์ จะไปคืนได้อย่างไร เอาสิทธิ์ตรงไหนมาคืน ก็มันไม่มี เมื่อถามว่าหากพ.ร.บ.ปรองดอง มีผลบังคับใช้แล้วอาจมีการไปขอเงินคืนอีกครั้ง ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ทำไม่ได้หรอก เลอะเทอะ เรื่องนี้ต้องไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 การจะคืนเงินต้องออกเป็น พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ
เมื่อถามว่า นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า มาตรา 4 จะก่อให้เกิดการคืนเงิน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ขอพูดถึงท่าน แต่คิดว่าตนเรียนกฎหมายมากกว่าท่าน ไม่มีเรื่องการเงิน มีอย่างเดียวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านได้ เท่านั้นจบ มั่นใจนิดๆกลับช่วงปีใหม่ เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมาอยู่ถาวรหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า “เรื่องนี้มาถามผมได้อย่างไร ไอ้ผมมันอยู่บำรุง”

** "ปู"ปัดลอยตัวเรื่องปรองดอง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการปรองดองว่า เรื่องปรองดองหรือการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ต้องให้ทุกฝ่ายมีโอกาสในการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่ขอให้อยู่บนเวทีที่ถูกต้อง ส่วนการเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่าง ๆ นั้นก็ขอให้รัฐสภาเป็นกลไกในการพิจารณา ทั้งนี้ในเรื่องความปรองดองนั้น รัฐบาลยินดีที่จะพูดคุยและรับฟังข้อคิดเห็นกับทุกกลุ่มทุกสี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยินดีรับฟัง แต่การแก้ปัญหาต้องแยกเป็น 2 ส่วน ถ้าเป็นเรื่องของความเดือดร้อน หรือปัญหาจากนโยบายต่าง ๆของรัฐบาล เรายินดีรับฟังทุกฝ่ายอยู่แล้ว ไม่มีการแยกสี เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง แต่ถ้าเป็นปัญหาเรื่องการเมือง รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งวันนี้ได้ทำเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว แต่การแก้ปัญหาการเมือง มีข้อกฎหมายและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
"เราอยากเห็นการปรองดองเกิดขึ้น แต่เนื้อหารายละเอียดเราต้องไปคุยกันในสภาฯ ไม่ได้หมายความว่าทุกร่างเมื่อเข้าไปแล้วจะเป็นสูตรสำเร็จ แต่ฝ่ายสภาฯคงต้องรับไปพิจารณาก่อนว่าจะเอาวาระไหนเข้าพิจารณาก่อนหรือหลัง และเนื้อหาจะเป็นอย่างไร ซึ่งกลไกของรัฐสภาก็เปิดกว้างให้ประชาชนได้รับฟังอยู่แล้ว"
ส่วนจะรวมเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าด้วยกันหรือไม่นั้น คงตอบไม่ได้ ต้องอยู่ที่สภาฯ เพราะมีหลายร่าง ก่อนที่จะหยิบยกร่างไหนเข้าพิจารณาต้องผ่านความเห็นชอบจากมติในสภาฯ ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะตกลงกัน ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตรงนั้น
เมื่อถามว่าเป็นการลอยตัวเหนือปัญหาหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นแกนนำรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จะลอยตัวตรงไหนล่ะคะ วันนี้ก็ยืนตอบคำถามสื่อมวลชนทุกวัน ตอบคำถามเรื่องการแก้ปัญหาทุกอย่าง เราพยายามทำอย่างเต็มที่ ขอความกรุณาให้ความเป็นธรรมบ้าง อย่ามองว่าเราลอยตัว จริง ๆแล้วต้องแยกเรื่องบทบาทงานบริหารกับงานฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเป็นคนละส่วนกัน

**เสนอหักเงินเดือนส.ส.เพื่อไทย เยียวยาเสื้อแดง

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กลุ่ม 42 ส.ส. กล่าวถึงแนวคิด ของส.ส.เพื่อไทยบางคน อยากให้นำ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของร.ต.อ.เฉลิม กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ มาพิจารณาร่วมกันในการเปิดประชุมสมัยหน้าว่า หากนำมารวมกัน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะคนละหลักการ รวมทั้งประธานสภาฯ ก็ยังไม่ได้บรรจุร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ถ้านำไปร่วมกับ 4 ร่าง ที่ค้างอยู่ ก็จะยุ่ง รู้อยู่แล้วหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อาจจะไม่ได้แก้เลย แต่การตัดสินใจเรื่องนี้ อยู่ที่วิปรัฐบาล ที่ผ่านมา นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล ก็ระบุชัดว่า จะไม่รวมกับร่างอื่นใด ก็ขอให้เป็นเช่นนั้น มิฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมของกลุ่ม 42 ส.ส. อาจจะเสียของ และวันนี้กลุ่มประชาชนที่มายื่นสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ชัดเจนแล้วว่า เขาต้องการให้เราทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
นายสมคิด ยังกล่าวถึงกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 มาร้องต่อพรรคเพื่อไทย เนื่องจากไม่ได้รับเงินเยียวยาว่า อยู่ที่ระเบียบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีที่เกิดปัญหาอาจเป็นเพราะผู้ได้รับบาดเจ็บ ไม่ได้เข้าแจ้งความ หรือไม่มีใบรับรองแพทย์ไปแสดง ซึ่งตนก็เห็นใจข้าราชการ ในการจะเบิกจ่ายเงินหลวง เจ้าหน้าที่อาจจะกลัว เลยต้องทำอย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ดี ตนเคยเสนอไปกับแกนนำพรรคบางคน ก่อนที่ประชาชนจะไม่ได้รับการเยียวยา เพื่อเป็นการช่วยเหลือ ให้ส.ส.ได้ช่วยแบ่งเบาภาระ ด้วยการหักเงินเดือนคนละ 2,000 บาทไปช่วย หากเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง
ด้านนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าว หลังรับเรื่องร้องเรียนจาก นายคำพูน พรหมคุณ ชาวบ้าน ต.หนองบัวทอง อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืนลูกซองของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่บริเวณแผ่นหลัง โดยขอให้อนุกมธ.ติดตามตรวจสอบกรณีการยื่นขอรับเงินของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการการณ์ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งนายคำพูน ได้ยื่นคำร้องต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และได้ติดตามแล้วหลายครั้ง แต่กลับไม่มีความคืบหน้า โดย พม.อ้างว่า ยังไม่มีการประชุมรวม ทั้งยังไม่มีการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกมธ.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือต่อที่ประชุมพร้อมเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ส่วนกรณีที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาระบุว่า มีการแอบอ้างชื่อ และเบิกเงินเยียวยานั้น หากผู้ได้มีข้อมูล และได้รับความเดือดร้อนสามารถร้องเรียรเข้ามายังกมธ.ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น