ผ่าประเด็นร้อน
ประกาศเดินหน้าถึงที่สุด หลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาหลัง 1 สิงหาคมนี้ก็ว่ากันเลยกับการผลักดันร่างพระราชบัญญัติปรองดอง พ.ศ. …ของเฉลิม อยู่บำรุง และ 163 ส.ส.เพื่อไทยที่ยื่นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้เจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯไปเมื่อ 23 พ.ค. 2556 ที่ผ่านมา
แม้จะเหลือเวลาอีกร่วมสองเดือน สภาฯ ถึงจะเปิด แต่ทุกจังหวะขยับการเดินหน้าล้างผิดให้ทักษิณ ชินวัตรผ่านร่างกฎหมายปรองดอง เข้มข้นกันตั้งแต่ช่วงนี้แล้ว ไม่ต้องรอไปถึงเปิดสภาฯ 1 สิงหาคม
ขณะเดียวกัน กลุ่มต้านก็เริ่มขยับรับมือ อย่างวันจันทร์ที่ 27 พ.ค.นี้ แกนนำพันธมิตรฯ นัดหมายกันที่บ้านพระอาทิตย์เพื่อกำหนดท่าทีทางการเมืองกันตามที่ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่เลวร้ายลง แกนนำจึงให้มีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ และอาจมีการกำหนดมาตรการหรือการเคลื่อนไหวต่อไป ผลจะเป็นอย่างไรติดตามการผลประชุมได้ช่วง 12.00 น.
ขณะที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ท่าทีก็เริ่มชัดว่าจะมีการระดมสรรพกำลังกันเต็มที่เพื่อคัดค้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ อย่างไรก็ตาม การค้านด้วยเสียงในสภาฯ คงยากจะต้านไหว สุดท้ายก็เชื่อว่า ปชป.คงไปหวังในชั้นตอนปลายทางอย่างการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขวางการออกพ.ร.บ.ปรองดองเป็นหลัก
ทั้งนี้ ลำดับแรกที่ต้องติดตามก่อนในรอบอาทิตย์นี้ก็คือ การที่จะมีความเห็นในข้อกฎหมายจากฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรโดยเจริญ รองประธานสภาฯที่จะออกมาชี้ว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าข่ายกฎหมายการเงินที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามก่อนบรรจุเข้าระเบียบวาระการพิจารณาของสภาฯหรือไม่
หากเข้าข่ายก็ต้องส่งไปให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเซ็นที่จะลงนามหรือไม่ลงนามก็ได้ หากไม่ลงนาม ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองก็แท้งทันที แต่หากไม่เข้าข่าย ก็ส่งเรื่องบรรจุเข้าระเบียบวาระไปรอดูความมันส์ทางการเมืองระดับห้าดาวตอนสิงหาคมได้เลย
ผลจะออกมาแบบไหน ข่าวก็ว่าไม่เกิน 27 หรือ 28 พ.ค.นี้ก็รู้ผลเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 เดือนก่อนเปิดสภาฯ 1 ส.ค. ก็ใช่ว่าหนทางของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองจะราบรื่น หลายกระแสก็มองว่าเส้นทางของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองน่าจะมีแต่ปัญหาให้พบเจอ จนดูแล้ว ผู้คนก็สงสัยว่ามันจะสำเร็จได้จริงอย่างที่เฉลิมคุยโวจริงหรือ โดยเฉพาะแรงคัดค้านที่มีแต่มากขึ้น
แถมนับวันพวก 163 ส.ส.เพื่อไทยที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง สันดานก็เริ่มโผล่ มาให้เห็นเรื่อยๆ ว่าแท้ที่จริงแล้ว เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อประโยชน์ของใครกันแน่
เช่นกรณีที่ สุรจิตร ยนต์ตระกูล ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีล่ารายชื่อส.ส.เพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ออกมายอมรับว่าหลังเปิดสภาฯ 1 สิงหาคม ก็อาจมีการขอให้เลื่อนวาระ พ.ร.บ.ปรองดองเป็นวาระเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองถูกนำเข้ามาพิจารณาเร็วกว่าปกติ และก็ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองจะถูกนำไปพิจารณารวมกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ 42 ส.ส.เพื่อไทยที่จ่อคิวอยู่ในระเบียบวาระเป็นเรื่องแรก เหมือนกับบอกว่าเออถ้าเป็นไปได้ ก็ให้พิจารณาพ่วงไปด้วยกันเลยก็ดีจะได้เร็วๆ
ให้เดาทางไว้ล่วงหน้า พวก ส.ส.เพื่อไทยที่หนุนหลังร่าง พ.ร.บ.ปรองดองคงมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแม้จะมีรายละเอียดเนื้อหาแตกต่างกันบ้างแต่ก็มีหลักสำคัญประการหนึ่งที่เหมือนกัน
คือมีการนิรโทษกรรมให้กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
แม้ในร่างนิรโทษกรรมฯ จะให้นิรโทษกรรมแต่เฉพาะประชาชนไม่รวมผู้สั่งการ-แกนนำ-เจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่ร่างของเฉลิมให้นิรโทษเหมาเข่ง
พวกนี้ก็คงหวังว่าหากที่ประชุมสภาฯเห็นชอบด้วยคือเห็นชอบให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนแล้วพิจารณาไปพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจนผ่านสภาฯ วาระแรกทั้งสองร่าง จากนั้นก็ค่อยไปดูในรายละเอียดเนื้อหากันอีกทีในชั้นกรรมาธิการฯ ถ้าออกมาแบบนี้ทุกอย่างก็เร็ว
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ ถ้าคิดจะเหยียบเรือสองแคมแบบนี้ เช่นพวก 163 ส.ส.เพื่อไทยด้วยกันเองก็ยังมองว่าหลักการ-เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แตกต่างกันมาก ไม่สามารถนำมาพิจารณารวมกันได้ แม้จะมีเรื่องการนิรโทษกรรมการชุมนุมทางการเมืองเหมือนกันจึงไม่เห็นด้วยที่จะนำมาพิจารณาร่วมกัน เพราะกลัวมีปัญหาภายหลังไม่จบสิ้น เลยอยากให้แยกพิจารณากันจะดีกว่า
อีกทั้งกลุ่ม 42 ส.ส.เพื่อไทยที่ร่วมกันหนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไม่เห็นด้วยหากจะเร่งเอาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมาพิจารณาตีคู่ไปกันกับร่างนิรโทษกรรมฯ ก็เพราะเกรงว่าสุดท้ายจะมีปัญหาชุลมุนวุ่นวาย มีการยกข้อกฎหมายมาขัดขวางกันจนวุ่นวายกันไปหมด แล้วไหนจะ แรงต้านทั้งในและนอกรัฐสภาที่คาดว่าจะแรงแน่นอน จะส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีปัญหาจนผลักดันออกมาไม่สำเร็จ ที่จะส่งผลต่อความรู้สึกของคนเสื้อแดงทั่วประเทศกับพรรคเพื่อไทยในทางลบทันที
แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าการพยายามจะเอาใจทักษิณทุกอย่างของเฉลิมและพวก ส.ส.เพื่อไทย ด้วยการเล่นสองหน้าคือจะเอาใจทักษิณด้วย เอาใจเสื้อแดงด้วย ชนิดไม่คิดจะยอมเสียอะไร เอาแต่ได้อย่างเดียว โดยการผลักดันร่างกฎหมายปรองดองและนิรโทษกรรมให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุด ใช้วิธีให้เดินไปคู่กัน ซึ่งกำลังจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองมากมาย
ยังไม่นับรวมกับเรื่องที่พบว่าในบรรดารายชื่อ 163 ส.ส.เพื่อไทยที่ไปร่วมลงชื่อหนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองกลับพบว่ามี ส.ส.เสื้อแดง-แกนนำ นปช.หลายคนไปลงชื่อด้วย
โดยเฉพาะ 3 ส.ส.เพื่อไทย คือ วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ-สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี-นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่เป็นสาม ส.ส.ตัวหลักที่เป็นคนผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และเคยร่วมกันแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองในเวลานี้ ก็ไปร่วมลงชื่อในร่างกฎหมายปรองดองด้วย
แบบนี้มันก็เห็นชัดว่าเล่นเหยียบเรือสองแคม ทำเป็นเล่นบททำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคนเสื้อแดง แต่อีกทางหนึ่งก็กลัวตกขบวนเอาใจนายใหญ่ทักษิณ ชินวัตร ก็เลยเอามันทั้งสองทาง เซ็นชื่อมันเลยทั้งสองร่าง กะกินสองเด้งไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อย
ทั้งที่ก็รู้อยู่ว่าหัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองนอกจากล้างผิดให้ทักษิณแล้ว ยังทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เสื้อแดงบอกต้องเอาตัวมาดำเนินคดี-ติดคุกจะรอดไปด้วยหากกฎหมายปรองดองผ่านสภาฯ แล้วไปเซ็นชื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่จะมีการยกความผิดให้มาร์ค-เทือกได้อย่างไร ไม่คิดถึงหัวอกคนเสื้อแดงกันเลยหรือ
ทั้งหลอกทั้งต้มเสื้อแดงแบบนี้ คิดเอาแต่กำไรทางการเมืองอย่างเดียวแบบนี้