xs
xsm
sm
md
lg

“อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา” ยันศาลคดีการเมืองยุติธรรม ตัวปัญหาหนึ่งเดียวคือแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา (แฟ้มภาพ)
“ชูชาติ ศรีแสง” ชี้คดีศาลชั้นต้นถึงศาลฎีกา รวมผู้พิพากษาได้ 8 คน ท้ายสุดศาลฎีกาชี้ขาดเพียง 3 คน ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีแต่ผู้พิพากษาศาลฎีกาถึง 9 คน มั่นใจยุติธรรมไม่ต่างจากพิจารณาในศาลปกติ ระบุศาลสำแดงฤทธิ์ฟันนักการเมืองโกงมาแล้วหลายราย แต่ไม่เคยมีใครไปด่าศาลในต่างประเทศ เว้นหนึ่งเดียวคือ “นช.แม้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 พ.ค. เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng “ถึงข้อเท็จจริงกรณีมักมีคนกล่าวอ้าง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ขัดต่อหลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพราะมีศาลเดียว ไม่อาจอุทธรณ์ ฎีกาได้ ดังนี้..

คนในพรรคเพื่อไทยตั้งแต่เจ้าของพรรคจนถึงลูกจ้างทุกคน มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคืออะไรก็ตามที่เห็นว่า เป็นประโยชน์แก่เจ้าของพรรคและลูกจ้างทั้งหลายสิ่งนั้นก็จะได้รับยกย่องเทิดทูนว่า เป็นสิ่งที่ดีเลิศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทั้งเจ้าของพรรคและลูกจ้างสอดประสานรับกันตลอดว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนที่แท้จริง ถึงกับเคยจะให้ประชาชนลงประชามติเลือกระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2540 กับรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เมืิ่อเห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้บางประการก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่เจ้าของพรรค บุคคลเหล่านี้ก็จะพากลืนน้ำลายตัวเอง

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองที่เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญปี 2540 กำลังถูกทักษิณและรัฐบาลชุดนี้จะนำไปประจานต่อนานาชาติว่า ขัดต่อหลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพราะมีศาลเดียว ไม่อาจอุทธรณ์ ฎีกา ได้และจะเสนอให้สหประชาชาติพิจารณา สหประชาชาติที่ทักษิณเคยประกาศสมัยมีอำนาจอยู่ว่าไม่ใช่พ่อไม่ต้องไปสนฟังนั่นแหละ

เจตนารมณ์ที่ ส.ส.ร.ปี 2540 ตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขึ้นมาก็เพืิ่อพิจารณาพิพากษาคดีที่นักการเมืองขี้โกงทั้งหลายถูกดำเนินคดีให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เนื่องจากการพิจารณาคดีในศาลปกติต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาแล้ว คู่ความยังมีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา ได้อีก

แม้จะมีศาลเดียว แต่ถ้าพิจารณาถึงองค์คณะที่พิจารณาและพิพากษาแล้ว คู่ความก็น่าจะได้รับความยุติธรรมไม่ต่างกับการพิจารณาพิพากษาในศาลปกติ กล่าวคือในศาลปกตินั้น

....การพิจารณาพิพากษาคดีศาลชั้นต้นมีองค์คณะผู้พิพากษา 2 คน
....การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์มีองค์คณะผู้พิพากษา 3 คน
....การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลฎีกามีองค์คณะผู้พิพากษา 3 คน

รวมจำนวนผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีทั้ง 3 ศาลมีจำนวน 8 คน แต่ตามความเป็นจริงองค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวน 3 เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะพิพากษาชี้ขาดว่า ยกฟ้องหรือลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นศาลสูงสุด

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีองค์คณะผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาคดี จำนวน 9 คน ทั้งหมดต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาในแต่ละคดี ซึ่งกว่าจะได้เลื่ยนตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็ต้องปฏิบัติหน้าในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 25-30 ปี ย่อมมีประสพการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดี มากว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แน่นอน

จึงจะเห็นได้ว่า องค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา มีจำนวนถึง 9 คน ในขณะที่คดีที่พิจารณาในศาลปกติมีผู้พิพากษศาลฎีกาเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาเพียง 3 คน ผู้พิพากษา 9 คน ย่อมต้องพิจารณาละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบไม่น้อยกว่าผู้พิพากษา 3 คนแน่นอน

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ปฏิบัติหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีมาเป็นเวลา 10 ปีเศษ แล้ว มีนักการเมืองที่ถูกศาลนี้พิพากลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ คือ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในข้อหาการทุจริตการซื้อยา นายจิรายุ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายรักเกียรติ ในข้อหาเดียวกับนายรักเกียรติ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในข้อหาทุจริตเกี่ยวกับที่ดินโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

นายรักเกียรติกับนายจิรายุได้รับการจำคุกตามคำพิพากษาและพ้นโทษแล้ว ไม่เคยกล่าวหรือด่าหรือว่าศาลไม่ยุติธรรม แต่นายรักเกียรติกลับกล่าวตำหนิตัวเองว่าเมื่ออำนาจก็หลงลืมตัวไป เท่ากับยอมรับว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกถูกต้องแล้ว นายวัฒนาแม้จะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศยังไม่ได้รับโทษตามคำพิพากษา แต่ไม่เคยไปด่าศาลในต่างประเทศว่า ยุติ ความเป็นธรรม

มีเพียงทักษิณคนเดียวที่ไปด่าศาลในต่างประเทศว่า พิพากษาคดีโดยยุติ ความเป็นธรรม แต่ไม่เคยอธิบายว่า ไม่เป็นธรรมอย่างไร ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างไร

เพียงเพื่อจะช่วยทักษิณพ้นจากโทษจำคุก 2 ปี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือ ดอกเตอร์ทางกฎหมายเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จึงถึงให้มีการทำรายงานเรื่องของศาลนี้ให้สหประชาชาติพิจารณา

การมีศาลชั้นเดียวหรือศาลเดียว ไม่ได้มีเฉพาะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แต่ศาลที่สังกัดอยู่ในการดูแลของสหประชาชาติ คือศาลอาญาระหว่างประเทศ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกที่กำลังพิจารณาคดีประสาทพระวิหารอยู่ในขณะนี้ ก็มีชั้นเดียวหรือศาลเดียว

เจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีศาลนี้เพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษนักการเมืองโกงบ้านกินเมืองโดยรวดเร็วไม่เกิน 1 ปีก็เสร็จ ก็อาจต้องเป็นหมันเพราะอาจมีการพิจารณายกเลิกไป ในขณะที่ศาลปกติมีปัญหาเรื่องจำนวนผู้พิพากษาที่มีน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณคดีที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ต้องใช้เวลาในการพิจารณาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ไม่น้อยกว่า 5 ปี

เหตุที่เกิดขึ้นมาจากทักษิณคนเดียว เห็นกันได้ตลอดมาว่าอะไรก็ตามที่เป็นเหตุให้คนคนนี้ได้รับความเสียหายรัฐบาลชุดนี้ต้องหาวิธียกเลิกให้หมด แม้ว่าสิ่งนั้นๆ จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองจะช่วยให้การลงโทษผู้การโกงบ้านกินเมืองได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องคิดถึงประโยชน์ระยะยาวของประเทศชาติบ้านเมือง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งผิดปกติในเมื่อรัฐบาลชุดนี้ผู้มีอำนาจที่แท้จริงคือทักษิณ ชินวัตร ครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น