ถกแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยมาตรา 190 ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเผยส่วนใหญ่เป็นสนธิสัญญาพหุภาคีหลายเรื่อง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้หนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องขอความเห็นจากสภาฯ
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ... พ.ศ. ... มาตรา 190 ที่มีนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็นประธาน กมธ. โดยได้มีการพิจารณากำหนดกรอบเพื่อนำมากำหนดกรอบและประเด็นปัญหาในการแก้ไขมาตรา 190 ที่ยังค้างพิจารณาอยู่ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ผู้แทนจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่า จากการศึกษาหนังสือสัญญาที่ผ่านเข้ามาที่กรมเพื่อขอความเห็น สวนใหญ่เป็นสนธิสัญญาที่เป็นพหุภาคีหลายเรื่อง อาทิ การเจรจาที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศนั้น คำถามก็คือว่าจะต้องมีกรอบในการเจรจาที่มีพันธะที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศไปชัดเจนเลยหรือไม่ตามที่ กมธ.ได้เสนอมา ซึ่งทางกรมฯ ได้กลับไปพยายามเขียนถ้อยคำลงไปในกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถเขียนให้มีถ้อยคำที่ครอบคลุมทุกเรื่องได้ ดังนั้น การมีพระราชบัญญัติเฉพาะในแต่ละเรื่อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ออกนั้น ซึ่งก่อนลงนามในสนธิสัญญาก็จะต้องนำเข้าให้รัฐสภาพิจารณาอยู่ดี
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยให้บัญญัติว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิในอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา (หรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าหรือการลงทุน) ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
จากนั้นคณะกรรมาธิการจึงได้หารือถึงกรอบเวลาการทำงานของรัฐสภาว่าต้องพิจาณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพื่อไม่ให้รัฐสภาประวิงเวลา และมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน โดยคณะกรรมาธิการฝ่ายค้านได้ เสนอเพิ่มเติมว่า ขอให้ระบุเวลาที่ชัดเจนให้ฝ่ายเสนอเรื่องต่อรัฐสภาด้วย เพราะส่วนใหญ่เรื่องที่รัฐบาลเสนอเข้ามาจะเข้าสู่สภากระชั้นชิดเกินไป บางครั้งก็น้อยกว่า 60 วัน เพราะมันเป็นการรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายด้วยกัน และจะไม่ต้องมาเร่งการทำหน้าที่ขอสภา ซึ่งถ้าเราไม่กำหนดกรอบเวลา หรือไม่มีบทลงโทษหากดำเนินการเกินเวลาที่กำหนด ก็เท่ากับว่าหากรัฐสภาปล่อยให้เป็นแบบนั้นก็เท่ากับรับหลักการในเรื่องดังกล่าวแล้ว จะกลายเป็นการลดทอนอำนาจหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของ ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอีกด้วยหรือไม่
ส่วนคณะกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลได้ชี้แจงว่า สาเหตุที่เรื่องเข้าสู่สภาล่าช้านั้นเกิดจากการทำหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการไม่ใช่เกิดจากรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี จึงไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดกรอบเวลาบังคับใช้กับรัฐบาลที่เป็นฝ่ายเสนอ อีกทั้งหนังสือสัญญาบางฉบับต้องทำโดยเร่งด่วน ภายใน 24 ชั่วโมง เช่น หนังสือสัญญาสงบศึก หนังสือสัญญาสันติภาพ และยังถือว่าเป็นการบีบการทำหน้าที่ของสภามากเกินไป และถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีผลกระทบอะไร จึงไม่เห็นด้วยที่จะต้องกำหนดกรอบเวลาการทำหน้าที่ของสภา