xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการศรีปทุมแนะตัดเหี้ยน ม.190 อ้างกลัวเสียเปรียบมหาอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชุมกรรมาธิการชำเรารัฐธรรมนูญ ม.190 เชิญอาจารย์นิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม เข้าร่วม เสนอตัดเหี้ยนหลายส่วน อ้าง ส.ส.ร.50 ไม่มองกฎหมายระหว่างประเทศ หวั่นเสียเปรียบมหาอำนาจ

วันนี้ (25 เม.ย.) ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 190 ที่มีนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็นประธานการประชุม ได้เชิญนายวิสูตร ตุวยานนท์ อาจารย์ประจำอาวุโส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 190 โดยนายวิสูตรกล่าวว่า คำว่า “หนังสือสัญญา” เป็นสิ่งทำให้มีปัญหาเรื่องการตีความ บางคนหมายความหนังสือสัญญาทั่วไป แต่ทางกฎหมายหมายถึงสนธิสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น โดยในตัวบทบัญญัตินั้นตนเห็นด้วยในวรรคสองที่ระบุว่า ในหนังสือสัญญาใดที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ขอให้คงเอาไว้ แต่ในส่วนที่ระบุว่า “ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง” ควรตัดออกไป หรือแก้ให้เหลือเพียง มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น เพื่อไม่ให้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ต้องเข้าสภาทั้งหมด เพราะคำว่า สังคม กินความหมายมากเกินไป ไม่ได้บอกว่าผลกระทบนั้นต้องดีขึ้น หรือแย่ลง เนื่องจากสัญญาต่างๆ นั้นย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว

นายวิสูตรกล่าวอีกว่า ตอนท้ายวรรคสองระบุว่า รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก็ควรตัดออก เพราะมันผิด และเป็นเรื่องยากมากที่จะทำได้ สนธิสัญญาบางฉบับยาวมากอาจต้องใช้เวลาแปลเป็น 10 ปี ให้ตัดข้อความในวรรคสาม ที่ระบุว่าก่อนดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูล และจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน และให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ ออก เพราะกรอบการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศบางครั้งเป็นเรื่องเร่งด่วน เราไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ทำให้สูญเสียความลับของฝั่งเราหมด เขาจะรู้เราแต่เราไม่รู้เขา เป็นการออกกฎหมายมาให้ปฏิบัติไม่ได้ ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในวรรคถัดไปที่ระบุว่า “ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ต้องให้มีการให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และขอเห็นชอบจากสภา” นั้นตนเห็นด้วย โดยให้สภาทำหน้าที่ซักถามอย่างเต็มที่เลย และถ้าสภาไม่เห็นชอบก็ให้ตกไป

“ต้องขออภัย ส.ส.ร.50 ด้วย แต่กฎหมายมันผิด การออกกฎหมายต้องคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ทำให้ประเทศเล็กเสียเปรียบมหาอำนาจไป ถ้าเราต้องไปแถลงที่สหประชาชาติ หรือองค์กรการค้าระหว่างประเทศ เราจะหมดสิทธิตามมาตรานี้ทันที แทนที่เราจะมีโอกาสร่วมร่างกฎหมาย หรือโต้แย้งการออกกฎหมายโดยประเทศมหาอำนาจที่เอาเปรียบประเทศเล็ก เพื่อให้เราได้รักษาผลประโยชน์ของตนเอง ประเทศอื่นก็มีกฎหมายในลักษณะดังกล่าวคล้ายกัน แต่ไม่ใช่อย่างเรา เขาจะขอเห็นชอบหลังที่จะแสดงให้มีเจตนาว่าจะมีผลผูกพัน ถ้าแก้ดังที่ผมเสนอไปจะสอดคล้องกับของนานาชาติ คือไปเจรจามาแล้วเห็นว่าเสียเปรียบรัฐบาลไม่ให้ทำก็ตกไป หรือหากเห็นว่ามีดี ก็อนุมัติก็จบ” นายวิสูตรกล่าว

นายวิสูตรกล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ในการทำสนธิสัญญา ระหว่างสิ่งที่ตนเสนอเท่านี้มันชัดแล้ว ไม่ต้องออกฎหมายลูกอีก เพราะยิ่งออกฎหมายละเอียดเท่าใด ยิ่งมัดขาตนเอง ประเทศจะทำอะไรไม่ได้ เอาแค่ให้รู้ว่าสนธิสัญญานั้นเจรจาอะไรกับใคร มีส่วนได้เสียอย่างไรเท่านั้น จะเปิดเผยให้สื่อซักถามคงไม่จะเป็นการเผยไต๋ไป แต่กฎหมายลูกก็อาจสามารถทำได้ โดยเขียนให้ชัดเจนว่าอาจจะให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่มาจากประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด หรือผู้มีชื่อเสียงทางกฎหมาย เป็นต้น เพื่อให้พิจารณาดูว่าสนธิสัญญาต่างๆ นั้นเข้าข่ายตามมาตรา 190 วรรคสอง ทำให้ต้องเข้าสภาหรือไม่ เป็นกรรมการระดับชาติ แทนในวรรคสุดท้ายของมาตรา 190 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทางกฎหมายที่คาดการณ์การปฏิบัติไม่ได้เลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยเพียงประเด็นที่เกี่ยวกับการตีความกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่หลายครั้งกลับไปวินิจฉัยที่นอกเหนือไปจากการตีความทางกฎหมายด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น