xs
xsm
sm
md
lg

โจรปล้นอำนาจ 2 คน คนหนึ่งปล้นจากกลุ่มทุนเจ้าของพรรค อีกคนปล้นจากประชาชน !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ตลอดระยะเวลาการอภิปรายญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ 1 - 3 เมษายน 2556 คำที่ได้ยินมากที่สุดคือ ประชาธิปไตย, ประชาชน, การเลือกตั้ง และของโจร

“(แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็น) ประชาธิปไตย (ยิ่งขึ้น)...”

“(คืนอำนาจอธิปไตยให้) ประชาชน...”

“(ยึดโยงกับประชาชนผ่าน) การเลือกตั้ง...”

“(รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลไม้พิษเป็น) ของโจร...”

พอดีผมจับสลากอภิปรายได้ในช่วงท้าย ๆ ประมาณสามทุ่มครึ่งคืนวันที่ 3 เมษายน 2556 ก่อนการลงมติวาระแรกไม่นาน เลยตัดสินใจอภิปรายเปรียบเทียบอุปมาอุปมัยเรื่องโจร 2 คน โดยไปขมวดปมไว้ตอนท้ายของการอภิปรายที่ได้เวลามาน้อยนิด 8 นาที

ผมเริ่มต้นดัวยการยอมรับในหลักการพื้นฐานว่าการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะขาดเสียมิได้ของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ติงไว้ว่าอย่าไปหลงว่าการเลือกตั้งเป็นทั้งหมดของระบอบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยยังต้องมีปัจจัยสำคัญอื่นประกอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบประชาธิปไตยยุคใหม่ จะขอยกเฉพาะที่สำคัญคือ ระบบการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไม่ได้ตอบโจทย์ระบอบประชาธิปไตยยุคใหม่เลยแม้แต่น้อย

เพราะกำลังเป็นการปล้นอำนาจไปจากรัฐสภา และเป็นการปล้นอำนาจไปจากประชาชน

เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหาร

เพราะเป็นการไปตัดหนังสือสัญญา 2 ประเภทใหญ่ ๆ ออกไปไม่ต้องนำเข้ามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

1. หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง

2. หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ


และเปลี่ยนข้อความหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลง “เขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ” เหลือเพียงหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลง “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ซึ่งครอบคลุมน้อยกว่า ชัดเจนน้อยกว่า

กล่าวคือตัดหนังสือสัญญาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการลงทุนรวมทั้งการกู้เงินออกไปทั้งหมด

ซึ่งผมบอกแล้วในบทความชิ้นที่แล้วว่ามันจะคือจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายในการทำให้แผนการลงทุนใหญ่หลายล้านล้านบาทของรัฐบาลในช่วง 7 - 10 ปีจากนี้ไปทำได้โดยสะดวกโยธิน ไม่ต้องผ่านมติเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการรับรู้และเยียวยาภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

นี่หรือคือการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยขึ้น ?

นี่หรือคือการคืนอำนาจให้ประชาชน ?

ข้อความใหม่ของความพยายามแก้ไขมาตรา 190 ครั้งนี้คือการย้อนยุคไปสู่ข้อความเดิม ๆ ที่เคยปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกสมัยรัฐธรรมนูญ 2534

นี่หรือคือการเดินหน้าประเทศไทย ?

เหตุไฉนการเดินหน้าประเทศไทยต้องเดินถอยหลังกลับไป 22 ปี ?

จริงอยู่รัฐธรรมนูญมาตรา 190 อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ปัญหานั้นก็ได้รับการแก้ไขไปครั้งหนึ่งแล้วในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่กำหนดให้มีกฎหมายกำหนดประเภทของสนธิสัญญาได้ แต่เวลาผ่านไป 2 ปีรัฐบาลไม่เคยเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้ามาเลย

รัฐบาลชุดนี้ไฉนเปลี่ยนใจง่ายเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 3 ปี ช่วงนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเสนอร่างกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการทำหนังสือสัญญาตารมมาตรา 190 เดิม แต่ลักไก่แอบเขียนไว้ว่าหนังสือสัญญากู้เงินไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 190 นี้ รัฐบาลชุดนี้ที่เมื่อวันนั้นเป็นฝ่ายค้านอภิปรายคัดค้านอย่างหนัก อ้างประชาชนสารพัด จนรัฐบาลวันนั้นที่วันนี้เป็นฝ่ายค้านไปไม่เป็น ต้องถอนร่างกฎหมายออกไป วันนี้คนที่ค้านวันนั้นกลับมาเสนอแก้ไขตัดหนังสิอสัญญาเกี่ยวกับเศรษฐกิจทุกประเภทออกไป ไม่เพียงหนังสือสัญญากู้เงินเท่านั้น

เวลาผ่านไปเกือบครบ 8 นาที ผมตัดสินใจงัดมุขอุปมาอุปมัยว่าด้วยโจร 2 คนที่ตั้งใจพูดออกมา

ผมบอกว่า...

ถ้าคมช.จะเป็นโจร ก็เป็นโจรปล้นอำนาจจากนายทุนใหญ่เจ้าของพรรคการเมือง แล้วขาดวิสัยทัศน์ ใช้อำนาจที่ได้มาไม่เป็น ไม่สร้างสรรค์ ไม่ปฏิรูปประเทศ ทำให้นายทุนใหญ่เจ้าของพรรคการเมืองฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แข็งกล้ากว่าเดิม และกลับมายึดอำนาจคืนได้ในที่สุด

แต่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเฉพาะมาตรา 190 ภายใต้นำตาลเคลือบยี่ห้อประชาธิปไตย ประชาชน ยาพิษที่อยู่ภายในคือการปล้นอำนาจจากรัฐสภาและประชาชนในการรับรู้และตรวจสอบการทำหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจทั้งหมด ทำให้นายทุนใหญ่เจ้าของพรรคการเมืองใช้อำนาจได้อย่างสะดวกโยธินในช่วงของการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศนับจากนี้ไป 10 ปี

ผมจึงถามว่า...

การปล้นอำนาจประชาชนเยี่ยงนี้จะเรียกว่าโจรได้หรือไม่ ?

และถามต่อไปเรียบ ๆ ว่า...

และระหว่างโจรฉวยโอกาสปล้นอำนาจจากนายทุนใหญ่เจ้าของพรรคการเมือง ที่ไร้วิสัยทัศน์ กับโจรปล้นอำนาจจากรัฐสภาและประชาชน ที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ โจรคนไหนร้ายกาจกว่ากัน ??

แพ้ขาดลอยครับการลงมติวาระแรกคืนนั้น

แพ้ไปอีกศึกหนึ่ง และจะแพ้ศึกต่อไปอีกเรื่อย ๆ

แต่จะแพ้สงครามหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งประเทศครับพี่น้อง

ผมและพรรคพวกร่วมอุดมการณ์ส่วนน้อยในสภาก็เสมอแค่นักรบ "ถ่วงเวลาการปล้นชาติให้เนิ่นนานออกไป" ไม่ใช่ทัพหลวง ไม่ใช่แม้แต่ทัพหน้า คืนนั้นภารกิจของผมคือตรึงแนวรบไว้ 8 นาที ผมยื้อได้อีก 2 นาที แลกมาได้ด้วยการตื่นรู้ของประชาชนทั้งเทศขึ้นบ้างหรือไม่ เท่าไร ผมตอบไม่ได้จริง ๆ ก่อนหน้านั้นพวกผมแต่ละคนก็แยกกันปฏิบัติภารกิจของตัวเองตามถนัด ต่อจากนี้ไปก็เช่นกัน

สถานีรบศึกต่อไป ยื่นแปรญัตติในวาระ 2 ภายใน 15 วัน และอภิปราย/ลงมติวาระ 2 ที่คาดว่าพวกเขาจะเร่งขึ้นมาในช่วงเปิดวิสามัญต้นเดือนมิถุนา หรือไม่ก็เดือนสิงหาช่วงเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไป

ไม่ชนะหรอกครับพี่น้อง

แต่ก็ขอกราบขอบพระคุณในทุกกำลังใจและความปรารถนาดีที่มีต่อนักรบถ่วงเวลาการปล้นชาติให้เนิ่นนานออกไปอย่างพวกผม !
กำลังโหลดความคิดเห็น