“คำนูณ” ชี้แก้มาตรา 190 ส่งผลให้หนังสือสัญญาเกี่ยวกับเศรษฐกิจทั้งหมดไม่ต้องผ่านสภา การลงทุนขนานใหญ่ต่อจากนี้ไปจะไร้การตรวจสอบ พร้อมถามกลับถ้าอ้างว่าโจรเขียน รธน. 50 แต่การแก้ครั้งนี้กลับยึดอำนาจจากประชาชน โจรประเภทไหนร้ายกว่ากัน
วันที่ 3 เม.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช... นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายว่า การปภิปรายครั้งนี้ได้ยินบ่อยๆ คือคำว่าประชาธิปไตย คืนอำนาจให้ประชาชน คำว่าเลือกตั้ง และที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลไม้พิษ
ตนยอมรับว่าการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีปัจัยอื่นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ การตรวจสอบอำนาจรัฐ การมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี 3 ประเด็น ที่ตนเห็นว่าไม่ตอบโจทย์ความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพราะเมื่อดูโดยรวมแล้วเปรียบเสมือนเป็นการยึดอำนาจจากรัฐสภาและประชาชน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้ฝ่ายบริหาร เนื้อหามาตรา 190 ที่แก้ใหม่ จะมีผลให้ตัดหนังสือสัญญาออกไป 2 ประเภท ที่ไม่ต้องนำเข้ามาเห็นชอบจากรัฐสภา คือ 1. หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง 2.หนังสือสัญยาที่มีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ คือตัดหนังสือสัญญาเกี่ยวกับเศรษฐกิจออกไปทั้งหมด เหลือเพียงหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ
ถ้าตัด 2 ประเภทใหญ่นี้ออกไป ผลที่จะเกิดขึ้นคือจากสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลตังเป้าลงทุนขนานใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ ต่อจากนี้ คือ สัญญากู้เงินไม่ต้องผ่านรัฐสภา ซึ่งตนไม่เห็นด้วยแล้วสมาชิกที่ยื่นขอแก้ไขมาตรานี้ เมื่อปี 2552 ท่านก็ไม่เคยเห็นด้วย ในขณะนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา มาตรา 4 วรรค 2 ยกเว้นว่าสัญญากู้เงินตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะไม่อยู่ในข่ายหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตอนนั้นเพื่อนสมาชิกเพื่อไทยอภิปรายจนรัฐบาลประชาธิปัตย์ยอมถอนร่างฉบับนั้นออกไป ผ่านไป 3 ปี ทำไมเปลี่ยนใจจะแก้มาตรา 190 ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้หนังสือสัญญากู้เงินไม่ผ่านรัฐสภา แต่มีผลต่อหนังสือสัญญาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจทั้งหมด
นายคำนูณกล่าวต่อว่า หลังจากนี้ไป 7 ปี การลงทุนครั้งใหญ่ สัญญาทางเศรษฐกิจจะมีความหมายต่อประเทศไทยอย่างยิ่งยวด เมื่อพิจารณาจากร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท จะเห็นได้ว่าถ้าแก้มาตรา 190 ตามร่างที่เสนอมานี้ จะเสมือนเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ทำให้การลงทุนครั้งใหญ่ลอดหูลอดตารัฐสภาไป ที่สำคัญไม่ผ่านการรับรู้จากประชาชน เพราะได้ตัดขั้นตอนตามมาตรา 190 ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกไป
ส.ว.สรรหากล่าวอีกว่า ที่สำคัญอีกประการ การกลับไปใช้แต่เพียงคำว่า “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรืออำนาจแห่งรัฐ” คำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” เป็นคำที่มีปัญหา รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้คำว่า “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ซึ่งให้ความหมายที่ครอบคลุมมากกว่า
คำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” เคยเป็นคดีขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลขณะนั้นก็ไม่ได้ชี้ขาดชัดเจนว่าเขตอำนาจแห่งรัฐหมายความว่าอย่างไร ถ้าเรากลับไปใช้ก็จะเป็นปัญหาให้เกิดความไม่ชัดเจนตามมา
ประเด็นสำคัญที่สุดที่จะบอก เมื่อเราอ้างประชาชน อ้างประชาธิปไตย บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นของโจร จึงไม่ควรรักษาไว้ แต่น่าแปลก ถ้าโจรเขียนรัฐธรรมนูญ 50 ทำไมโจรคนนั้นจงใจให้สิทธิแก่ประชาชนในการตรวจสอบในเรื่องหนังสือสัญญา 2 ประเภท แล้วการที่จะทำลายผลไม้พิษไม่รักษาของโจรไว้ เรากลับไปยึดอำนาจที่ประชาชนเคยมีตามมาตรา 190 กลับมาไว้กับฝ่ายบริหาร
“เป็นไปได้ไหมว่าโจรที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นโจรที่ยึดอำนาจมาจากนักการเมือง จากกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมือง แต่บังเอิญยึดอำนาจมาแล้วทำไม่เป็น เลยทำให้กลุ่มทุน นักการเมือง เข้มแข็งมากกว่าเดิมร้อยเท่า พอจะกล่าวได้ไหมว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ที่เป็นการยึดอำนาจไปจากประชาชน ถ้ามีคนกล่าวว่ามันน่าเปรียบเทียบว่าเป็นโจรอีกประเภทหนึ่งได้หรือไม่ แล้วโจรทั้งสองประเภทนี้ใครร้ายแรงกว่ากัน” นายคำนูณกล่าวทิ้งท้าย