xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค-เจิมศักดิ์” ประสานเสียง แก้ ม.190 กระทบ ปชช. ปิดช่องสอบสัญญา ตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เจิมศักดิ์” แจงใน กมธ.ถกแก้ ม.190 ชี้มีเรื่องเศรษฐกิจ-สังคม ที่ใช้มาตรานี้นอกจากปมเขตแดน ปชช.มีส่วนได้เสีย ควรเปิดสภาฟังความเห็น ยันข่าวไม่รั่วถึงต่างชาติ ชี้ใช้ กม.ลูกคือทางออก หน.ปชป.ย้ำแก้จริงกระทบ ปชช. ตัดสิทธิออกความเห็น มีช่องโกง ไร้ตรวจสอบ ย้อนไม่เคยมีเรื่องใดสภาไม่หนุน ดักต้องมีหนังสือรับรองผลกระทบให้สภาเห็นชอบถึงแก้ได้

วันนี้ (24 เม.ย.) การประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มาตรา 190 โดยมีนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็นประธานการประชุม ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายบัณฑูร เศรษษศิโรตม์ และนายจักรชัย โฉมทองดี นักวิชาการ เข้าร่วมแสดงความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

โดยนายเจิมศักดิ์กล่าวถึงความจำเป็นที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องตรามาตรา 190 ขึ้นมา เนื่องจากในปัจจุบันข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศ ไม่ใช่มีแค่เรื่องเขตแดนอธิปไตยและความมั่นคง แต่ขยายไปถึงทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และมีทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมจำนวนมาก จึงต้องให้สมาชิกรัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณา พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดกรอบเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ที่เสียประโยชน์ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นจำเป็นต้องเปิดกว้าง อีกทั้งที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนพยามยามระบุว่าการพิจารณาของสภา จะทำให้ต่างชาติล่วงรู้ และเสียเปรียบนั้นไม่เป็นความจริง เพราะการหารือในสภาเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในส่วนของหลักการเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยในลายละเอียด นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า มาตรา 190 ที่จะดำเนินการแก้ไขนั้นไม่ได้มีปัญหาในตัวรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากผู้ใช้กฎหมายมากกว่า ซึ่งรัฐบาลควรเสนอกฎหมายลูกมาประกอบการใช้ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่เกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบ เพราะหากปล่อยให้เพียงฝ่ายบริหารดำเนินการเพียงอย่างเดียว ประชาชนก็จะขาดโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ ซึ่งจะเปิดช่องทางการทุจริต จึงไม่ควรนำฝ่ายบริหารเป็นที่ตั้ง แต่ควรนำผลประโยชน์ของประชนเป็นที่ตั้งมากกว่า และที่ผ่านมาไม่เคยมีกรอบเจรจาใดที่มาขอความเห็นชอบจากสภาแล้วไม่เคยได้รับความเห็นชอบจากสภา อีกทั้งมีการกำหนดกรอบระยะเวลาต้องไม่เกิน 60 วันไว้ชัดเจนในการขอความเห็นชอบจากสภา ซึ่งตนยืนยันว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวต้องมีการตกลงในหลักการหนังสือสัญญาที่จะได้รับผลกระทบต่อประชาชน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา

กำลังโหลดความคิดเห็น