อดีต สนช.ส่อชวดรับเงินกองทุนอดีตสมาชิกรัฐสภา เหตุวุฒิสภามีเสียงข้างมาก 69 ต่อ 42 ให้เฉพาะ ส.ส.-ส.ว.เท่านั้นที่ได้รับสิทธิ “สมชาย” ชี้ไม่เป็นธรรม ไม่สมเหตุสมผล เพราะ สนช.มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวรับรอง ติงถ้าเช่นนั้นระบุไปเลยต้องมาจากการเลือกตั้ง
วันนี้ (18 ก.พ.) ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ... ในวาระที่ 2 และ 3 หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญของวุฒิสภาได้พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ปรากฏว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อการคณะ กมธ.วิสามัญฯ ไปแก้ไขในคำนิยามคำว่า “ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ให้ครอบคลุมเฉพาะผู้เคยเป็น ส.ส.หรือผู้เคยเป็น ส.ว.เท่านั้นถึงจะมีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินช่วยเหลือจากกองทุน ทำให้ผู้เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะไม่สามารถเข้าถึงเงินกองทุนดังกล่าวตามกฎหมายได้
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า คณะ กมธ.วิสามัญฯควรกำหนดคำนิยามให้ครอบคลุมไปถึงอดีต สนช.ด้วย ซึ่งการดำเนินการแบบนี้ถือว่าเป็นตัดสิทธิที่ควรจะได้รับอย่างไม่มีความเป็นธรรม เพราะการทำหน้าที่ของ สนช.ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 หลังจากมีการรัฐประหาร ที่สำคัญยังทำหน้าที่เป็นทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อออกกฎหมายด้วย ดังนั้นด้วยภารกิจที่ผ่านมาก็สมควรที่จะได้รับสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว
“ที่เรียกร้องให้ครอบคลุมถึงอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ในฐานะที่ผมเคยเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาก่อน แต่การเขียนกฎหมายแบบนี้มันไม่สมเหตุสมผล โดยถ้าจะเขียนแบบนี้ต่อไปก็ควรเขียนกฎหมายกำหนดลงไปเป็นการเฉพาะเลยว่าให้เฉพาะ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วน ส.ว.ที่มาจากการสรรหาไม่ได้รับสิทธิ” นายสมชายกล่าว
นพ.เจตน์ ศิรธณานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า สนช.มีสิทธิจะได้รับเงินจากกองทุนตามกฎหมายเพราะที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนว่าได้ทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเทียบเท่ากับสมาชิกรัฐสภาในปัจจุบัน แม้ว่าจะมาจากการแต่งตั้งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ตาม ซึ่งไม่ควรแบ่งแยกเรื่องที่มาว่าใครมาอย่างไร แต่ควรจะคำนึงถึงผลงานที่ผ่านมามากกว่า
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การกำหนดคำนิยามตามมาตรา 3 มีลักษณะกว้างมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาการตีความตามมาอีกมาก ทางที่ดีควรกำหนดลงไปให้ชัดอดีต ส.ส.และ ส.ว.ที่สมควรได้รับสิทธิตามกองทุนจะต้องผ่านการดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปีติดต่อกัน เพื่อให้เป็นตัวสะท้อนว่าได้ทำงานและมีคุณงามความดีเพียงพอต่อการได้รับสิทธิ ไม่ใช่ให้ใครที่ดำรงตำแหน่งเพียงไม่กี่วันก็ได้รับเงินกองทุน
นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า สาเหตุที่คณะ กมธ.วิสามัญฯ ไม่กำหนดให้อดีต สนช.ได้รับสิทธิตามกฎหมายเนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้สมาชิกรัฐสภาหมายถึงเฉพาะบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น หากไปเขียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อาจจะเกิดปัญหาทางกฎหมายตามมาอีก
ภายหลังจากได้ใช้เวลาอภิปรายเฉพาะมาตรา 3 นานกว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมวุฒิสภาจึงได้มีมติเสียงข้างมาก 69 ต่อ 42 เสียงเห็นด้วยต่อการกำหนดนิยามคำว่า ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ตามที่คณะ กมธ.วิสามัญฯ เสนอ จากนั้นวุฒิสภาเดินหน้าพิจารณาในมาตราที่เหลือต่อไป
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขวุฒิสภายังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดเพราะวุฒิสภาจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ที่พิจารณาเสร็จแล้วให้สภาฯ เห็นชอบอีกครั้งหนึ่งก่อน หากสภาฯ ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่วุฒิสภาแก้ไข จะต้องมีการตั้งคณะ กมธ.วิสามัญร่วมกันของทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ร่วมกันต่อไป