xs
xsm
sm
md
lg

“ปึ้ง” อ้างประชาธิปไตยแก้ รธน.จ้องชำเรา ม.190 แน่ แนะฝ่ายค้านเลิกกอด 309

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ และ รมว.กต.เชื่อรัฐอยู่ครบวาระ อ้างแก้ รธน.เพื่อประชาธิปไตย ย้ำ กฏหมายมีปัญหา จวกฝ่ายค้านต้านชำเรา ม.309 แผ่นเสียงตกร่อง โวย คตส.ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมนายใหญ่ ซัด ม.190 ทำให้งานล่าช้า แย้มโดนแน่ๆ ปรึกษากฤษฎีกาแล้ว ปรับเป็นแค่ พ.ร.บ.บอกอ่านฉบับ 50 แล้วไม่เข้าใจ

วันนี้ (30 ธ.ค.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการเมืองในปี 2556 ว่า รัฐบาลจะยังอยู่บริหารประเทศต่อไปได้ตลอดรอดฝั่งจนครบวาระ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า สิ่งที่จะเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นไปตามที่ ส.ส.และส.ว.เรียกร้องมาโดยตลอด และยังเป็นนโยบายหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยซึ่งตนสังกัดอยู่นั้นได้ประกาศไว้แล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาในหลายเรื่อง ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะยังคงกล่าวหาเราแบบแผ่นเสียงตกร่องต่อไปว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 309 ซึ่งที่จริง มาตรานี้เป็นสิ่งที่ส่วนช่วยหรือปกป้องคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ ใช้เป็นเครื่องมือไปตรวจสอบ หรือกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า มีความผิด ทั้งๆ ที่ คตส.ไม่ให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

“พรรคประชาธิปัตย์ต้องการปกป้องมาตรา 309 ไว้ ผมเคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์มานานจนอ่านความคิดอ่านของพวกเขาได้ว่าต้องการอย่างนั้น แต่ขอให้เขาเลิกเสียเถอะ บ้านเมืองจะได้เจริญ มีความก้าวหน้า ท่านไม่ต้องกลัวจะแก่ แล้วกลับมาเป็นรัฐบาลไม่ทัน เพราะถ้าพวกผมและรัฐบาลนี้ทำงานไม่ดี เลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนก็ไม่เลือกหรอกครับ” นายสุรพงษ์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ยังกล่าวถึงการแก้ไขมาตรา 190 รัฐธรรมนูญ 2550 ว่า โดยส่วนตัวมองว่า ทำให้การทำงานล่าช้ามาก เพราะเรื่องของการต่างประเทศแทบทุกเรื่องเข้าข่ายมาตรานี้ จึงทำให้การเจรจาตกลงความร่วมมือกับประเทศต่างๆ มีความล่าช้าและชะงักงัน อาจจะต้องมีการแก้ไขโดยให้เป็นพระราชบัญญัติอีกฉบับแทน เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา เช่น เรื่องหนังสือสัญญาต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีการแยกแยะประเภทให้ชัดเจน เพราะทุกวันนี้แม้แต่ว่าอันไหนจะเข้าข่ายมาตรา 190 ก็ยังต้องส่งตีความ จึงถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องมาก เนื่องจากอ่านแล้วไม่เข้าใจ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ในระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.การทำหนังสือสัญญา พ.ศ.....โดยจะระบุแนวทาง และขั้นตอนการจัดทำหนังสือสัญญา เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยจะเสนอเข้า ครม.ได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเเก้ไขมาตรา 190 ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น