xs
xsm
sm
md
lg

สภาฯ ร่วม รับทราบคำวินิจฉัยยกคำร้องแก้ รธน. ปชป.เสนอตั้ง กมธ.ศึกษา พท.ดันโหวตวาระ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศประชุมร่วมรัฐสภา (แฟ้มภาพ)
ประชุมรัฐสภารับทราบคำวินิจฉัย ศาล รธน.ยกคำร้องแก้ รธน.ล้มล้างการปกครอง ปชป.เสนอตั้ง กมธ.ศึกษาคำวินิจฉัย ห่วงพรรคร่วมรัฐบาลจุดชนวนดันโหวตแก้ รธน.วาระ 3 ทำบ้านเมืองลุกเป็นไฟ ขณะที่ พท.ไม่สน จี้รัฐบาลเดินหน้าลงมติวาระ 3 ขวางตั้ง กมธ.ศึกษา แนะ ปชป.ให้เสนอเป็นญัตติ “เหวง” พูดเท็จกลางสภา อ้างทหารใช้ปืนจ่อหัวให้ประชาชนลงมติ รธน.ปี 50 เจอ “สมเจตน์” ประท้วงกล่าวหามั่ว สุดท้ายยอมถอนคำพูด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรัฐสภา วันนี้ (2 ต.ค.) เพื่อรับทราบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องข้อกล่าวหาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 โดยมีสมาชิกรัฐสภาสนใจอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก

นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาปรากฏว่ารัฐสภาในฐานะผู้ออกร่างแก้ไข มาตรา 291 กลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ในทางกลับกัน มีแต่คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลดำเนินการพิจารณาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น รัฐสภาควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นคู่ขนานกับคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น รัฐสภาควรตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อให้มีแนวทางในเรื่องนี้เป็นของตัวเอง ไม่ใช่รอแต่พรรคร่วมรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ถ้าวันดีคืนดีคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้ประธานรัฐสภาเดินหน้าบรรจุระเบียบวาระให้ลงมติในวาระ 3 ขึ้นมาจะทำอย่างไร บ้านเมืองก็จะเป็นลุกเป็นไฟอีก

ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เห็นด้วยกับรัฐสภาแต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบหรือยับยั้งกระบวนทางรัฐสภาในฐานะที่เป็นผู้ออกกฎหมาย และในอนาคตเห็นว่าควรมีการแก้ไขที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเฉพาะที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรเพิ่มสัดส่วนจากภาควิชาการให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความหลากหลาย

นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ปรากฏว่าผู้จัดทำไม่ได้สอบถามประชาชนก่อนว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ มีเพียงใช้อำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นแล้วก็มาทำประชามติ ทำให้รัฐสภามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการลงมติเดินหน้าต่อไป

ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อภิปรายตำหนิการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่มีอำนาจในการสั่งห้าม ส.ส.เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา และการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีการเอาปืนไปบังคับให้ประชาชนลงมติเห็นชอบกับร่าง

ทำให้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ใช้สิทธิ์ประท้วงว่าขอให้ นพ.เหวง ถอนคำพูดดังกล่าวเพราะเป็นการใส่ร้ายทหารทั้งที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะหากเป็นความจริงสื่อมวลชนก็ต้องมีการนำเสนอออกมาแล้ว ขณะที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ขอให้ นพ.เหวงถอนคำพูดเพื่อให้การประชุมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งที่สุดแล้ว นพ.เหวงก็ยอมถอนคำพูด

ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 อภิปรายว่า การรับข้อกล่าวหาเรื่องการล้มล้างการปกครองตาม มาตรา 68 ไว้พิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานไว้แล้วว่าประชาชนสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ซึ่งต่อไปจะเป็นภาระของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต ซึ่งเจตนาในการจัดทำรัฐธรรมนูญก็เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญ จะช่วยให้ความข้องใจเกี่ยวกับที่มาของรัฐธรรมนูญจะได้หมดไปเพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าเพื่อบ้านเมืองได้ต่อไป

จากนั้นนายนิคมได้ขอหารือกับที่ประชุมว่า จะเป็นไปได้หรือไม่หากที่ประชุมรัฐสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของนายวิทยา แก้วภราดัยเสนอ เพราะหากปล่อยให้การอภิปรายดำเนินไปลักษณะนี้จะทำให้หาข้อสรุปไม่ได้ แต่นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแย้งว่า การตั้ง กมธ.ไม่สามารถกระทำได้เพราะวาระนี้เป็นเพียงแค่การรับทราบเท่านั้น ไม่เหมือนกับกรณีการพิจารณารายงานผลการทำงานประจำปีขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เสนอให้นายวิทยาเสนอเป็นญัตติเข้ามาในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปว่าสมควรเห็นให้รัฐสภาตั้ง กมธ.เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันแสดงความเห็นว่าจะตั้ง กมธ.หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น