xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในรอบ 80 ปี เมื่อประชาชนได้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประเมินจากบรรยากาศบ้านเมืองหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา น่าจะบอกได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับในคำวินิจฉัย คงมีแต่พวกนักเรียน กฎหมาย ที่เรียนกฎหมายสอนกฎหมายแต่ไม่เคยใช้กฎหมายไม่กี่คน ที่เป็นเดือดเป็นแค้น พยายามอ้างทฤษฎีหลักวิชาการต่างๆ นานามาทำลายความน่าเชื่อถือของคำวินิจฉัย แล้วก็เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมเสีย

แต่ไม่มีใครฟังหรอก เพราะฟังแล้วไม่รู้เรื่อง และสิ่งที่พูดออกมานั้นมันขัดกับสามัญสำนึกและอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ที่เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นดีแล้ว ชอบแล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์และสันติสุขของบ้านเมือง

ในขณะที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังอยู่ในความนิ่งสงบ เพราะนายยังไม่สั่ง เช่นเดียวกับแกนนำ นปช.

สวนดุสิตโพลได้เผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชน 14 จังหวัด จำนวน 1,262 คน พบว่า ร้อยละ 62.5 รู้สึกโล่งใจที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ขณะที่ร้อยละ 81.67 เห็นว่าการตัดสินของศาลเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย

ร้อยละ 45.91 เห็นว่า ควรชะลอแก้รัฐธรรมนูญออกไป เพราะไม่อยากจะเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย พร้อมทั้งอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

ส่วนผลสำรวจเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ยอมรับในคำตัดสิน โดยร้อยละ 57.2 มีความสุขมากถึงมากที่สุดหลังฟังผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย

ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 52.3 สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะเป็นรายมาตรา ในขณะที่ร้อยละ 14.9 สนับสนุนให้แก้ไขทั้งฉบับ แต่เกือบ 1 ใน 3 ไม่สนับสนุนเลย

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในคำวินิจฉัยนี้คือ ศาลรับรองอำนาจของประชาชนว่าเป็นเจ้าของอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ 2550 รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นของประชาชน เพราะประชาชนได้ลงประชามติ เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่ของรัฐสภา หรือของพรรคเพื่อไทยที่ชอบอ้างว่ามีประชาชน 15 ล้านคนเลือกเข้ามา รัฐสภา หรือพรรคเพื่อไทยจึงไม่มีสิทธิที่จะฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ทิ้งโดยพลการ ต้องถามเจ้าของรัฐธรรมนูญ คือประชาชน ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ด้วยการลงประชามติ

บรรดานักวิชาการเสื้อแดงทั้งหลายที่ยกย่องเทิดทูนพลังประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ถ้ามีความจริงใจกับความคิดของตนแล้ว น่าจะดีใจด้วยซ้ำไป เพราะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ.2475 ที่ประชาชนได้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ

ต่อไปนี้ ถ้าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ จะแก้รัฐธรรมนูญ จะเป็นทั้งฉบับ หรือ รายมาตราก็ตาม หากประชาชนคนใดเห็นว่า เข้าข่าย “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ก็สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 68 ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูณวินิจฉัยได้ทันที ไม่จำเป็นต้องผ่านอัยการสูงสุด เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นที่ 1เรื่องศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องหรือไม่ว่า เมื่อมีการกระทำใดโดยขัดมาตรา 68 ประชาชนสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมญได้โดยตรง ไม่ต้องรออัยการสูงสุดส่งขึ้นมา

มาตรา 68 ที่ระบุว่า“ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” คำว่า “ตามรัฐธรรมนูญนี้”คือ หมายถึงล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรูปแบบที่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่แค่ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่จะต้องไม่กระทบต่อหลักการ 8 ประการของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ปรากฏในคำปรารภ คือ

1. ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ 2. ทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร 3. เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ 4. ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ 5. คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 6. ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม 7. กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา และ 8. ให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม

สรุปคือ ใครแก้ไขในหมวดสิทธิเสรีภาพ หมวดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตัดทอนอำนาจศาล องค์กรอิสระ จะเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองทั้งนั้นไม่ใช่แค่เปลี่ยนรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เท่านั้น

มีการแก้ไขในเรื่องเหล่านี้เมื่อไร เช่น ยกเลิก หรือจำกัดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ตามมาตรา 67 ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ตลอดเวลา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของประชาชน

กำลังโหลดความคิดเห็น