xs
xsm
sm
md
lg

แผนล้มซักฟอกอุ้มยิ่งลักษณ์ หวังปิดปากตอกฝาโลง “มาร์ค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รายงานการเมือง

การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประกาศพร้อมจะมีการเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส.และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (6)

อันเป็นบทบัญญัติเรื่องลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่ให้ผู้ที่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ เพราะกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ ลงสมัคร ส.ส.ได้

หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อ 8 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 เรื่องให้นายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการ ซึ่งก็คืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2531

จึงเกิดปัญหาข้อกฎหมายว่า อภิสิทธิ์ต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส.หรือไม่ และสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำไว้เช่นการเซ็นชื่อทั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจ-การยื่นถอดถอนรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งรวมถึงการที่พรรคฝ่ายค้านเสนอชื่ออภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีในหนังสือแนบท้ายการอภิปรายไม่ไว้วางใจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทุกอย่างจะกลายเป็นโมฆะหรือไม่ เมื่อวันนี้อภิสิทธิ์ถูกกระทรวงกลาโหมปลดออกจากราชการฐานประพฤติมิชอบ และจะทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจดำเนินการต่อไปได้หรือไม่

แน่นอนว่า ส.ส.เพื่อไทยย่อมมีสิทธิ์จะยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงใช้ช่องทางอื่น เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งดูจะตรงที่สุดในการวินิจฉัยเรื่องสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของอภิสิทธิ์ จะได้ให้เกิดบรรทัดฐานข้อกฎหมายกันไป

โดยเฉพาะการไขข้อสงสัยว่า หากมีข้าราชการลาออกจากราชการแล้วมาเล่นการเมือง ลงสมัคร ส.ส.แล้วได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.ต่อมามีการสอบสวนทางราชการภายหลังพบว่าอดีตข้าราชการคนดังกล่าว ประพฤติมิชอบหรือทำผิดกฎหมาย แล้วถูกราชการปลดออก ไล่ออก หรือให้ออกจากราชการด้วยความผิดฐานประพฤติมิชอบ แล้วคำสั่งดังกล่าวจะมีผลต่ออดีตข้าราชการคนดังกล่าวที่ตอนนี้เป็น ส.ส.อย่างไรหรือไม่

ตรงนี้มันก็จะได้เป็นบรรทัดฐานให้เกิดความกระจ่างกันไป ยิ่งหากข้าราชการคนดังกล่าว ได้ลาออกมาเล่นการเมือง ไม่ใช่เกษียณอายุราชการแล้วมาเล่นการเมือง แล้วคำสั่งดังกล่าวจะมีผลอย่างไร

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้วินิจฉัยเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 12 พ.ย. 2555 ด้วยการอ้างว่าอภิสิทธิ์มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) และ 102 (6) แล้วเพราะคำสั่งปลดออกดังกล่าวมีผลแล้วทางกฎหมายเนื่องจากเป็นการลงนามตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมและรมว.กลาโหมก็เซ็นไปตามอำนาจหน้าที่ จึงเข้าเงื่อนไขเอกสารทางราชการแล้ว

ด้านฟากอภิสิทธิ์ก็เร่งแก้ปมปัญหาดังกล่าวด้วยการส่งทนายมือหนึ่งของประชาธิปัตย์อย่าง บัณฑิต ศิริพันธุ์ ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองแล้วเมื่อ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงกลาโหม โดยเพื่อขอให้ศาลพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อระเบียบของกระทรวงกลาโหมหรือไม่

อภิสิทธิ์ฝากหวังไว้กับการพิจารณาของศาลปกครอง

แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป กับการใช้วิธีการทางลัดมากกว่าที่เรืองไกรทำ ในการจะยื่นเรื่องให้ประธานสภาฯส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญที่จะเร็วกว่ามาก

หลายคนดูความพยายามของ ส.ส.เพื่อไทยแล้ว ต่างก็มองด้วยสายตาคลางแคลงใจ โดยเฉพาะเมื่อดูจากจังหวะเงื่อนเวลาที่กระทรวงกลาโหมเลือกที่จะสรุปผลเรื่องการเกณฑ์ทหารของอภิสิทธิ์ออกมาในช่วงก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว พล.อ.อ.สุกำพล ก็ลงนามคำสั่งดังกล่าวหลังได้รับหนังสือจากคณะกรรมการฯเพียงวันเดียว

คือความเห็นของคณะกรรมการได้ข้อสรุปเมื่อ 6 พ.ย. แล้วส่งเรื่องไปให้ พล.อ.อ.สุกำพลเซ็น จนออกมาเป็นคำสั่งถอดยศอภิสิทธิ์ เมื่อ 8 พ.ย. 55 ทั้งหมดใช้เวลาจัดการที่ค่อนข้างรวดเร็วจนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าผิดวิสัยการทำงานของระบบราชการไทย

ส.ส.เพื่อไทยหลายคนก็ออกมารับลูกทันทีว่าอภิสิทธิ์มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติรัฐธรรมนูญการเป็น ส.ส.พร้อมกับชี้ว่าญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านมีปัญหา อาจส่งผลต่อการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

มันก็เลยทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ถึงกระบวนการทั้งหมดจากกระทรวงกลาโหมจนถึงพรรคเพื่อไทยในการที่จะยื่นศาล รธน.-ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเล่นงานต่อในเรื่องจริยธรรมอภิสิทธิ์รวมถึงในประเด็นสำคัญคือการพิจารณาคุณสมบัติของอภิสิทธิ์ที่อาจะจะส่งผลต่อญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน

ว่ามันดูจะมีการวางแผนกันมาเป็นอย่างแยบยลก่อนแล้ว เสมือนกับต้องการดิสเครดิตทั้งตัวอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าเป็นอดีตนายกฯที่ถูกถอดยศเพราะหนีทหาร ที่นอกจากจะเป็นประเด็นดิสเครดิตแล้ว จะต้องมี ส.ส.เพื่อไทยนำเรื่องนี้ไปตีรวนฝ่ายค้านในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน

รวมถึงเพื่อทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของอภิสิทธิ์ที่จะเป็นประเด็นข้อถกเถียงไปเรื่อยๆ ในช่วงก่อนและระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ เพราะดูแล้วทาง กกต. หรือศาล รธน.คงไม่น่าจะสรุปผลหรือมีความเห็นในข้อกฎหมายส่วนนี้ออกมาได้ก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน

แม้เพื่อไทยจะปฏิเสธว่าทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับการสกัดการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน แต่รูปการณ์ที่ออกมามันทำให้หลายคนอดคิดไปในทางนั้นไม่ได้ ว่ามันเป็นเกมรัฐบาลในการสกัดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ที่น่าเป็นห่วง คือ หากคนส่วนมากคิดไปในทางนี้ คือมองว่าเพื่อไทยมีการวางแผนทั้งหมดให้ออกมาแบบนี้ ใช้เรื่องการถอดยศและการปลดอภิสิทธิ์ออกจากราชการ ให้ออกมาในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อทำลายน้ำหนักของฝ่ายค้าน รวมถึงแม้แต่อาจจะหวังผลถึงขั้น ทำให้ญัตติอภิปรายมีปัญหาในข้อกฎหมาย จนทำให้ไม่สามารถเปิดอภิปรายได้ทันในสมัยประชุมนี้

ถ้าคนส่วนใหญ่คิดไปในทางนี้ คือมองว่าเพื่อไทยรวมถึงกระทรวงกลาโหมที่เป็นหน่วยงานรัฐ ร่วมมือกันในการปกป้องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่ให้ต้องโดนฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ มันย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน

การจะทำให้ทุกอย่างเกิดความกระจ่างทางข้อกฎหมาย แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เมื่อช่วงจังหวะเวลาที่จะทำ มันเกิดในช่วงก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบนี้

แล้วจะไม่ให้คนเชื่อได้อย่างไรว่า มันคือแผนล้มหรือทำลายการตรวจสอบของฝ่ายค้านนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น