“พงศ์เทพ” แนะ “อภิสิทธิ์” เผยหลักฐานโต้ปมหนีทหาร อ้าง “สุกำพล” ทำตามหน้าที่ ขวางศาลปกครองเข้ามายุ่ง ยกวินัยทหารป้อง ปัดตอบคุณสมบัติ หน.ปชป. ชี้ให้จับตาก่อนซักฟอก
วันนี้ (13 พ.ย.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านไปยื่นฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งถอดยศร้อยตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครองจะบอกว่าคดีใดไปขึ้นศาลปกครองได้บ้าง และมียกเว้นไว้ในเรื่องที่เกี่ยวกับความผิดวินัยทางทหารอยู่ โดยปกติแล้วศาลปกครองจะไม่มาพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับวินัยทหาร เพราะกฎหมายเขียนชัดเจนว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการกลั่นแกล้ง รัฐบาลจะชี้แจงอย่างไร นายพงศ์เทพกล่าวว่า เรื่องนี้ทางกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดำเนินการ ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบหากคิดว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ถูกต้อง และท่านมีของจริงอยู่ก็นำมาแสดงทีเดียวเรื่องจะได้จบ โดยจะแสดงในชั้นศาลหรือที่ไหนก็ได้ ซึ่งตนคิดว่าหากนำของจริงมาแสดงแล้วจะไม่มีใครที่จะสงสัยกันอีก แต่ขณะนี้เมื่อกระทรวงกลาโหมได้พิจารณาจากหลักฐานที่มีอยู่เห็นว่าเป็นอย่างนั้นก็ต้องมีคำสั่งออกมาในลักษณะดังกล่าว
เมื่อถามว่า การแนบชื่อนายอภิสิทธิ์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มีหลายมุมมอง ซึ่งนักรัฐศาสตร์หลายคนได้ให้ความเห็นเยอะพอสมควรแล้ว ตนจึงไม่อยากให้ความเห็นอีก เมื่อถามอีกว่า เชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นโดยไม่มีปัญหา รองนายกฯ กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจกำหนดไว้แล้ว ส่วนจะมีประเด็นอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ต้องคอยดูกันต่อไป เพราะสุดท้ายเป็นเรื่องของประธานสภาและรัฐสภา
“โดยปกติการให้ออกจากราชการจะเป็น 3 ประเภท คือ ปลดออก ให้ออก และไล่ออก ซึ่งกฎหมายต่างๆ จะเขียนรองรับไว้ใน 3 กรณีนี้ ซึ่งในคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่สั่งปลดนายอภิสิทธิ์ก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน อาจจะถูกต้องตรงตามกฎหมาย เพราะกฎหมายแต่ละฉบับเขียนถ้อยคำที่ส่วนใหญ่คล้ายกันเหมือนกัน” นายพงศ์เทพกล่าว
ส่วนที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเตรียมที่จะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์นั้น นายพงศ์เทพกล่าวว่า ในส่วนของ ส.ส.คนใดจะขาดคุณสมบัติหรือไม่ ก็มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญอยู่ว่าจะเข้าชื่อกันอย่างไร แต่ที่เห็นว่า ส.ส.หรือคนที่ รมต.ถ้าขาดคุณสมบัติหรือมีเรื่องต้องห้ามก็สามารถไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ แต่ในส่วนของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่จะไปยื่นเรื่องนั้น ตนยังไม่เห็นว่าทางพรรคเพื่อไทยจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การที่มีคดีไปยังศาลปกครองนั้นไม่ได้หมายความว่าถ้ามีคนนำเรื่องไปร้องต่อรัฐสภาก็จะต้องรอการพิจารณาของศาลปกครอง เพราะถ้ามีการร้องต่อสภา หรือ กกต. เรื่องก็จะไปสิ้นสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีการยื่นเรื่องต่อสภาฯ หรือ กกต.เรื่องก็จะไม่ติดขัดคดีที่ศาลปกครองแต่อย่างใด