กมธ.ถกแก้ ม.190 เชิญ อ.นิติฯ ศรีปทุม แสดงความเห็นแนะคงเรื่องเกี่ยวอาณาเขตกระทบวงกว้าง และสัญญาค้า ตปท.ต้องเข้าสภาฯ ตัดเรื่องสังคม เหตุตีความกว้างเกิน หนุนแก้กรอบเจรจาเศรษฐกิจ ตปท.ไม่ผ่านสภาฯ เหตุคู่แข่งรู้ทัน แจง รธน.ชี้ฝ่ายบริหารมีสิทธิทำสนธิสัญญา กมธ.ฝ่ายค้านต้าน แนะแก้ที่จำเป็น
วันนี้ (25 เม.ย.) คณะกรรมมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... พ.ศ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ที่มีนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็นประธาน ได้เชิญนายวิสูตร ตุวยานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ร่วมแสดงความเห็นต่อการแก้ไขมาตรา 190 เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ โดยนายวิสูตรเสนอว่า หากฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการแก้ไขมาตรา 190 ควรคงไว้ ซึ่งวรรค 1 และวรรค 2 ที่ระบุว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่ควรตัดเรื่องของสังคม เพราะถือเป็นบริบทที่กว้างเกินไปและการจำกัดระยะเวลา ที่ไม่สามารถนำมากำหนดตายตัวได้
ขณะเดียวกัน เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขเกี่ยวกับกรอบเจรจาด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศ ที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน เนื่องจากจะทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งในด้านการต่อรอง หากมีการเปิดเผยข้อมูลก่อน แต่ควรนำกรอบที่ได้ไปเจรจามาชี้แจงต่อสภาเพื่อเสนอขอความเห็นชอบในการตกลงทำสัญญา เพื่อลดข้อกังวลเรื่องการตรวจสอบและการรับรู้ของประชาชน
นายวิสูตรยังเห็นว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตีความการแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชาในประเด็นปราสาทพระวิหาร ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อฝ่ายบริหารและหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ จนต้องส่งสัญญาทุกฉบับให้รัฐสภาพิจารณา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การทำสนธิสัญญาต่างๆ ถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร
นอกจากนี้ กรรมาธิการในส่วนของฝ่ายค้าน อาทิ นายศิริโชค โสภา และนายสรรเสริญ สมะลาภา ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยให้มีการแก้ไขในมาตรานี้ เนื่องจากเห็นว่าการทำสนธิสัญญาใดๆ กับต่างประเทศควรให้รัฐสภาได้รับรู้ หรือลงความเห็นร่วมกัน แต่หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขก็ควรแก้ไขเฉพาะในส่วนที่เห็นว่าไม่ชัดเจน หรือมีความจำเป็นเท่านั้น โดยจะต้องไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ