รมต.ประจำสำนักนายกฯ โวเวทีแจงเงินกู้ 2 ล้านล้าน “อุดรฯ-ขอนแก่น” ถิ่นเสื้อแดงได้รับการต้อนรับดี ระบุชาวบ้านไม่ได้เป็นห่วงการก่อหนี้ การคุ้มทุน และค่าโดยสาร มั่นใจนโยบายที่เสนอเป็นเรื่องเหมาะสม
นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลตอบรับสัปดาห์แรกของการจัดเวทีปราศรัยชี้แจงร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน เพื่อบริหาร จัดการน้ำที่ จ.อุดรธานี และจ.ขอนแก่น ของพรรคเพื่อไทย ว่าได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนได้รับรู้อยู่แล้วจากการชี้แจงของรัฐบาลในช่วงการพิจารณากฎหมายในสภา ที่เห็นว่าการลงทุนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพิ่มความสะดวกสบาย ขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะอุดรธานีและขอนแก่น เป็นจุดที่รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ผ่าน
ส่วนเรื่องของหนี้ การคุ้มทุนไม่คุ้มทุน หรือค่าโดยสาร ประชาชนไม่ได้เป็นห่วงเรื่องนี้เลย เพราะไม่ใช่เป็นการลงทุนรถไฟร่างเพียงอย่างเดียว ซึ่งจากการลงไปสัมผัสประชาชนทำให้วันนี้มั่นใจนโยบายที่เสนอเป็นกฎหมายอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสม เป็นไปตามความต้องการของประชาชน และอยากเห็นโครงการนี้เกิดขึ้นเร็วเป็นไปตามแผน ไม่อยากให้มีอะไรมาสดุด ไม่อยากให้มีปัญหาการตีความกฎหมายให้เป็นอุปสรรค และเมื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศแล้ว ผลทางการเมืองจะตามมานั้นก็เป็นการตัดสินของประชาชน
ด้านการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่มีนายวราเทพ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าชี้แจง แต่เนื่องด้วยนายประสารติดภาระกิจ จึงส่งตัวแทนคือ นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าชี้แจงข้อมูลแทนในวันนี้
โดยในที่ประชุม นายสมชัย จิตสุชน กรรมาธิการ ได้แสดงความเห็นว่าการกู้เงินดังกล่าวมีผลกระทบต่อประเทศ 3 ประเด็น คือ สภาพคล่องการเงินของประเทศ ผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อที่ประมาณการหรือไม่ และจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงแรงกดดันสภาวะฟองสบู่ ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาชี้แจงถึงสภาพแวดล้อมทางการเงินของประเทศ เพราะการกู้เงินดังกล่าวต้องมีผลกระทบต่อตลาดการเงินอย่างแน่นอน
ด้านนางสาวพรเพ็ญ ได้ระบุว่า การกู้เงินดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือตลาดการเงินมากน้องเพียงใด ขึ้นอยู่กับการดำเนินการ 4 ข้อ คือ 1. การกระจายการกู้เงินภายใน 7 ปี ซึ่งธปท.ได้สอบถามไปยังสำนักบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. โดยได้คำตอบว่า จะมีการกระจายการกู้เงินและหลีกเลี่ยงการกู้เงินล็อตใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่ สบน. ระบุไว้จริง ก็จะสามารถลดผลกระทบได้ 2. หากรัฐบาลดำเนินการตามงบประมาณสมดุล การกู้เงินในระบบงบประมาณและชิบบางส่วนมาเป็นการกู้นอกงบประมาณแทนวงเงินกู้รวมในแต่ละปี ก็ไม่น่าจะมากจนเกินไป และหากมีการลด การกู้เงินในงบประมาณและการกู้เงินในรัฐวิสาหกิจ ก็น่าจะลดทอนผลกระทบลงได้ 3. ต้องวางแผนแนวทางการกู้เงินอย่างเหมาะสมและเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานกู้เงินชนกัน และ 4. เมื่อกู้เงินแล้วต้องเร่งใช้เงินเพื่อเงินจะได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว หรือหมายถึงการหลีกเลี่ยงการกู้เงินมากองไว้