หน.ปชป.หนักใจ สภาเลื่อนถก พ.ร.บ.นิรโทษฯขึ้นมา ส่อมีเผชิญหน้า แนะจับตามัดรวม พ.ร.บ.ปรองดอง “เหลิม” ไปด้วย เพื่อช่วยนายใหญ่ ตอกนับถอยไม่ใช่นับหนึ่งชาติ กม.ไร้ความหมาย ชี้ ส.ส.จับมือ ส.ว.ต้านศาล รธน.รับคำร้องแก้ ม.68 ไม่เหมาะ สร้างความขัดแย้งระหว่างองค์กร แนะให้โอกาส ตอก รมว.คลัง ไม่รับกติกา จ้องปลดผู้ว่าการธนาคารชาติ เหตุไม่ลดดอกเบี้ยตามนโยบาย ชี้ใช้เหตุผลถก
วันนี้ (19 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเลื่อนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาเป็นวาระแรกในการประชุมสภาสมัยหน้าว่า รู้สึกหนักใจว่าถ้ารัฐบาลเดินหน้าเอาเรื่องแบบนี้มาเป็นเรื่องสำคัญ และพยายามทำให้เกิดบรรยากาศการเผชิญหน้ามากขึ้น ไม่เป็นผลดีกับใคร เช่นเดียวกับเรื่องรัฐธรรมนูญที่มีการยกระดับเงื่อนไขความขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเสนอในสมัยประชุมหน้าว่า อยากให้จับตาดูให้ดี เพราะมีโอกาสที่จะนำร่างนี้ไปรวมกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีการเลื่อนขึ้นมาพิจารณาในวาระแรก โดยเนื้อหาในกฎหมายของ ร.ต.อ.เฉลิม กลับไปสูตรเดิม คือการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตนไม่คิดว่าจะเป็นการนับหนึ่งประเทศอย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอ้าง แต่เป็นการถอยหลังประเทศ เพราะถ้าเราปล่อยให้กฎหมายในบ้านเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์ คนมีเงิน มีอำนาจ อยู่เหนือกฎหมายได้ เราไม่ได้นับหนึ่งประเทศ แต่เราถอยหลังประเทศ
“ผมยืนยันว่าทั้งผมและนายสุเทพ พร้อมที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และพร้อมยอมรับคำตัดสินของกระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง เพราะถือว่าเรื่องของบ้านเมือง เรื่องกฎ กติกาของบ้านเมืองต้องมาก่อนเรื่องผลประโยชน์ของตัวบุคคล ถ้าจะให้เกิดการปรองดองที่แท้จริง ทุกคนต้องยอมรับกระบวนการยุติธรรม ส่วนกระบวนการให้อภัยเป็นคนละหลักกับการนิรโทษกรรม เพราะการให้อภัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการยอมรับแล้วว่าทำผิดและคนทำผิดมีความสำนึก เราจึงให้โอกาสด้วยการให้อภัย แต่การนิรโทษคือการประกาศว่าการกระทำเหล่านั้นไม่เป็นความผิด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การที่พรรคเพื่อไทย ร่วมกับ ส.ว.บางส่วนออกแถลงการณ์โต้แย้งอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการรับวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า มีการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น เป็นเรื่องไม่ดี เพราะจะทำให้เกิดการขัดแย้งระหว่างองค์กรมาขึ้น ตนอยากให้มองว่าในหลายคดีศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาในลักษณะที่เป็นโทษหรือเป็นคุณกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตลอดเวลา ควรจะเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำงานของตนเอง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ออกมาระบุว่าอยากปลด นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทุกวัน ที่ไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายตามที่ต้องการว่า ท่าทีอย่างนี้เท่ากับนายกิตติรัตน์ไม่ยอมรับกติกาในเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย และสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้คนมองว่าธนาคารกลางของประเทศ ไม่สามารถที่จะมีอิสระในการรักษาวินัยทางการเงินได้ เป็นเรื่องอันตราย ตนเห็นว่าควรหาโอกาสทำความเข้าใจกันมากกว่าว่า ตรงไหนที่ประเมินสถานการณ์ไม่ตรงกัน และถ้าอยากให้ดอกเบี้ยลดเป็นเพราะอยากแก้ปัญหาอะไรก็ต้องมาคุยกันว่าใครมีเครื่องมืออะไรบ้าง และใครควรใช้เครื่องมืออะไรด้วยเหตุด้วยผล