“กิตติรัตน์” ค้านแนวคิด “หม่อมเต่า” ยันไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์สหรัฐเพื่อสู้กับเงินทุนไหลเข้า ถามกลับเมื่อปี 40 สู้ค่าเงินจนถังแตก ศก. เสียหายยังไม่เข็ดอีกหรือ พร้อมย้ำแนวทางที่เหมาะสม คือ ต้องลดดอกเบี้ย เพราะไม่ต้องไปสู้กับอะไรทั้งนั้น ฝากเหน็บย้ำพอไม่ทำอันนี้ก็ไปหาวิธีอื่นจะยุ่งกันไปใหญ่
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตประธานกรรมการ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอให้รัฐบาลดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ด้วยการให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพิ่มเป็นทุนสำรอง โดยระบุว่า เรื่องนี้ตนเองไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดที่ให้ไปซื้อเงินดอลลาร์มาสู้กับเงินไหลเข้าจำนวนมาก เพราะจะประคับประคองได้ยาก ที่สำคัญในอดีตก็มีบทเรียนมาแล้วกับการต่อสู้กับค่าเงินบาทจนหมดหน้าตัก ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมาแล้ว
“ยังไม่เข็ดอีกหรือกับการนำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์ เรื่องนี้มีบทเรียนในอดีตมาแล้ว เอาเงินสำรองไปสู้กับเงินที่ไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง หากเกิดปัญหาจะประคับประคองได้ยาก แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังได้เคยเสนอไป ไม่ต้องไปสู้กับอะไรทั้งนั้น แค่ปรับระดับดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสม พอไม่ทำอันนี้ก็ไปหาวิธีอื่น จะยุ่งกันไปใหญ่”
นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเลย มีการติดตามต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยแนวทางที่เหมาะสมเคยพูดไปแล้วหลายครั้ง คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลก็มีการกำหนดให้หน่วยงานทั้งราชการ และรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อลงทุนหันมากู้เงินภายในประเทศเพื่อช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทลง เช่น ในวันนี้การที่ ครม.อนุมัติให้มีการจัดซื้อหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็มีการกำหนดให้ชัดเจนถึงแหล่งเงินกู้ว่าจะต้องเป็นการกู้ภายในประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังก็ได้มีการชำระหนี้คืนเงินกู้ในต่างประเทศบางส่วนได้ก่อนกำหนด ซึ่งก็ดำเนินการไปบ้างแล้วตามความเหมาะสม ตามแผนงานการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาลประจำปี 2556
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นส่งเสริมการลงทุนด้านเครื่องจักรนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ทดแทนเครื่องจักรเก่าที่เสื่อมสภาพ และชำรุดด้วยการใช้เงินบาทไปซื้อสินค้าดังกล่าว และมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า และเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของเอกชน