xs
xsm
sm
md
lg

“ปึ้ง” แถลงสรุปไทยโต้เขมร คำพิพากษาฯ ชัดเจน และไทยได้ปฏิบัติตามแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุรพงษ์” แถลงสรุปประเด็นไทยแถลงหักล้างคำให้การกัมพูชา ชี้เขมรขอตีความเกินเลยจากคดีเดิม ร้องขอพื้นที่กว้างกว่าที่เคยอ้างสิทธิไว้ แถมไม่เคยทักท้วงให้ถอนกำลังหลังไทยยึดเส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรีปี ๒๕๐๕ อีกทั้งเขมรยังยื่นแผนที่แตกต่างจากที่ยื่นไว้ในคดีเดิม พร้อมยันไทยได้ปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกสั่งแล้ว

กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า วันนี้ (17เม.ย.) ที่กรุงเฮก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้ารับฟังการให้การโดยวาจารอบแรกของฝ่ายไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ โดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนประเทศไทย และคณะที่ปรึกษากฏหมายชาวต่างชาติของฝ่ายไทยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อศาลฯ ย้ำท่าทีของฝ่ายไทย และหักล้างคำแถลงทางวาจาของฝ่ายกัมพูชาเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๗

หลังเสร็จสิ้นการแถลงทางวาจาของไทยในช่วงเช้า รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว สรุปประเด็นสำคัญในคำแถลงของฝ่ายไทย ดังนี้

๑) การขอตีความของกัมพูชาบิดเบือนกระบวนการของศาลฯ ไม่ใช่การขอตีความ แต่มีลักษณะเป็นการอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลฯ ตัดสินในเรื่องที่เคยปฏิเสธที่จะตัดสินเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว

๒) พื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรที่กัมพูชาเรียกร้องเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏในคดีเดิม กัมพูชา กล่าวอ้างเพราะต้องการนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

๓) พื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรที่กัมพูชาเรียกร้องในครั้งนี้ มีขนาดกว้างกว่าพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาท ในคำพิพากษาฯ ปี ๒๕๐๕ ที่กัมพูชาเคยอ้างสิทธิไว้ในคดีเดิม ซึ่งมีขนาดแค่ ๐.๓๕ ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

๔) เส้นมติคณะรัฐมนตรีปี ๒๕๐๕ ที่ไทยใช้ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาฯ สอดคล้องกับพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาทในคำพิพากษาฯ และกัมพูชาไม่เคยทักท้วงว่าไทยไม่ได้ถอนกำลังจากบริเวณดังกล่าว ซึ่งแสดงว่าทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน จึงไม่จำเป็นต้องตีความ

๕) ไทยแสดงให้ศาลฯ เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของเอกสารหลักฐานที่กัมพูชาใช้ในศาลฯ ครั้งนี้ โดย “แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง” ที่กัมพูชาใช้อ้างมีด้วยกันหลายชุด แผนที่ชุดที่กัมพูชายื่นต่อศาลฯ ในคดีเดิม แตกต่างจากแผนที่ชุดที่นำมาใช้ครั้งนี้ และเส้นบนแผนที่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดลงบนภูมิประเทศจริงได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น กัมพูชายังนำแผนที่ที่ไทยเคยนำไปยื่นต่อศาลฯ ในคดีเดิมมาแต่งเติม

๖) ไทยได้ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลฯ สั่งเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ แล้ว ซึ่งก็บรรลุผลที่ศาลฯ ต้องการ คือ ไม่มีเหตุปะทะทางอาวุธในบริเวณชายแดน ไม่มีการสูญเสียชีวิต และไทยกับกัมพูชาได้ประชุมหารือกันและเห็นพ้องเรื่องขั้นตอนการดำเนินการ นอกจากนั้น ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาดำเนินไปด้วยดี มีช่องทางหารือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างกัน รวมถึงในเรื่องเขตแดนที่กัมพูชาพยายามขอให้ศาลฯ ตีความก็มีกลไกการเจรจาภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบก พ.ศ. ๒๕๔๓

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ฝ่ายไทยแถลงต่อศาลฯ เป็นไปตามแนวทางการต่อสู้คดีที่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างรอบคอบ โดยขอให้ศาลฯ ไม่รับคดีไว้พิจารณา หรือหากศาลฯ เห็นว่า ศาลฯ มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณา ก็ขอให้ตัดสินว่าไม่มีประเด็นที่จะต้องตีความ เพราะคำพิพากษาฯ ชัดเจน และไทยได้ปฏิบัติตามแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น